xs
xsm
sm
md
lg

สื่อนอกระบุผู้เชี่ยวชาญไม่คิดว่า “ชายแดนใต้” จะสงบแม้มีการเจรจากัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรีไทย และนายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย แถลงข่าวที่กัวลาลัมเปอร์ เรื่องการลงนามเพื่อเปิดการเจรจากันระหว่าง “บีอาร์เอ็น” กับทางการไทย โดยที่มีรัฐบาลมาเลเซียเป็นคนกลาง
เอเจนซีส์/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - “สื่อนอก” พากันสอบถามความเห็นผู้เชี่ยวชาญทั้งไทยและเทศ เรื่องการลงนามเพื่อเปิดการเจรจากันระหว่าง “บีอาร์เอ็น” กับทางการไทย โดยที่มีรัฐบาลมาเลเซียเป็นคนกลาง ปรากฏว่าขณะที่หลายคนมองแง่บวกถือเป็นความคืบหน้าก้าวใหญ่ แต่ก็เตือนว่ายังไม่ได้หมายความว่าปัญหาการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะสงบลงแล้ว นอกจากนั้นผู้สันทัดกรณีหลายรายยังกังขาว่า ผู้ที่ไทยจะเจรจาด้วยเป็นตัวแทนที่สามารถควบคุมนักรบถืออาวุธในภาคสนามได้จริงหรือเปล่า ตลอดจนกลุ่มกบฎอื่นๆ นอกจากบีอาร์เอ็นจะเข้าร่วมหรือไม่

หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ รายงานความเห็นของ สุนัย ผาสุก ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการก่อความไม่สงบในภาคใต้ขององค์การฮิวแมนไรต์วอตช์ ในประเทศไทย ซึ่งกล่าวย้ำว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในคราวนี้ “เป็นเพียงการพูดจากันเพื่อที่จะได้ดำเนินการเจรจากันเท่านั้น” แต่กระนั้น “มันก็เป็นการให้คำมั่นสัญญาต่อสาธารณชนครั้งสำคัญมากครั้งหนึ่ง มันเป็นการตัดสินใจที่กล้าหาญ”

ขณะที่ รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช อดีตนักวิเคราะห์ของ อินเตอร์เนชั่นแนล ไครซิส กรุ๊ป บอกกับนิวยอร์กไทมส์ว่า การลงนามกันครั้งนี้ถือว่า “หลักหมายที่สำคัญ” แต่ก็เตือนว่า กระทั่งว่าการเจรจาจะประสบความสำเร็จในท้ายที่สุด กระบวนการในการเจรจากก็ยังจะต้องใช้เวลาเป็นปีๆ อยู่นั่นเอง โดยเธอยกตัวอย่างของกระบวนการสันติภาพระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับแนวร่วมปลดแอกโมโร ในภาคใต้ของฟิลิปปินส์ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในปี 1996 และกว่าที่ฝ่ายต่างๆ จะบรรลุข้อตกลงกันได้ก็เพียงเมื่อปีที่แล้วนี้เอง

ทางด้าน โจนาธาน เฮด ซึ่งกลับมาทำหน้าที่ผู้สื่อข่าวประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของวิทยุและโทรทัศน์บีบีซี ระบุว่า ในอดีตได้เคยมีความพยายามกันอยู่หลายครั้งเพื่อเริ่มการเจรจากันระหว่างรัฐบาลไทยกับพวกผู้ก่อความไม่สงบมุสลิมที่สู้รบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ก็ประสบความล้มเหลวไปทุกครั้ง

ทว่าสิ่งที่คราวนี้แตกต่างไปจากคราวก่อนๆ ก็คือ ทั้งสองฝ่ายได้มีการลงนามกันในข้อตกลงที่จะเริ่มการเจรจากัน โดยที่นายกรัฐมนตรีของไทยและของมาเลเซียได้ร่วมในการประโคมข่าวเรื่องนี้ด้วย สิ่งนี้จึงเป็นการผูกมัดทั้งสองฝ่ายให้ยึดมั่นอยู่กับกระบวนการเจรจา

เฮดชี้ด้วยว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่รัฐไทยยอมรับพวกผู้ก่อความไม่สงบ ตลอดจนพร้อมที่จะรับฟังและหารือข้อเสนอต่างๆ ของพวกเขา เรื่องนี้ถือเป็นการผ่าทางตันหลังจากที่พวกผู้ก่อความไม่สงบกลุ่มใหญ่ประสบความล้มเหลวในการเข้าตีฐานของทหารไทยแห่งหนึ่งเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งทำให้พวกเขาถูกสังหารไป 16 คน ทั้งนี้เหตุการณ์ดังกล่าวดูเหมือนจะสั่นสะเทือนทำให้รัฐบาลไทยหันมาทำความตกลงกับพวกผู้ก่อความไม่สงบ แทนที่จะตอบโต้แก้เผ็ดการเข้าโจมตีด้วยกำลัง

อย่างไรก็ดี ผู้สื่อข่าวบีบีซีผู้นี้บอกว่า ตอนนี้กระบวนการเจรจาเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้น กระบวนการนี้ยังไม่ได้ผ่านการทดสอบและยังอาจจะสะดุดติดขัดได้จากประเด็นปัญหาต่างๆ จำนวนมาก

สำหรับ สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ได้รายงานความเห็นของ แอนโธนี เดวิส นักวิเคราะห์ที่ตั้งฐานอยู่ในไทยและทำงานให้ ไอเอชเอส-เจนส์ บริษัทที่ปรึกษาและจัดทำสิ่งพิมพ์ด้านความมั่นคงที่มีชื่อเสียงโด่งดัง โดยที่ เดวิส บอกว่า “นี่ยังไม่ใช่เวลาที่จะเปิดแชมเปญ และประกาศว่าความขัดแย้งนี้สิ้นสุดลงแล้ว แต่มันก็ยังคงเป็นหลักหมายแสดงถึงการคืบหน้าไปก้าวใหญ่มาก”

เดวิส ชี้ว่า การลงนามกันในคราวนี้ “เป็นการเปิดเส้นทางไปสู่กระบวนการแห่งการเจรจาซึ่งเป็นที่รับรู้รับทราบกัน ซึ่ง(โดยที่การเจรจาดังกล่าวนี้) อาจจะนำไปสู่การที่ความขัดแย้งนี้สามารถคลี่คลายกระเตื้องดีขึ้น ไปสู่ความรุนแรงที่ลดน้อยลง”

นักวิเคราะห์ผู้นี้บอกว่า ในอดีตได้เคยมีการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการอยู่หลายครั้งระหว่างพวกสมาชิกอาวุโสของรัฐบาลและกองทัพไทย กับตัวแทนของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนกลุ่มต่างๆ เขาบอกด้วยว่า “พวกสมาชิกติดอาวุธในภาคใต้ส่วนใหญ่ที่สุดแล้วเกือบจะแน่ใจได้ว่าเป็นพวกที่อยู่ในเครือข่ายของบีอาร์เอ็น”

ไม่เพียงบลูกเบิร์ก ทางด้านสำนักข่าวรอยเตอร์ก็ได้สัมภาษณ์ แอนโธนี เดวิส ซึ่งเขาก็พูดคล้ายๆ กันว่า ครั้งนี้ถือเป็น “หลักหมายที่สำคัญมาก” ครั้งหนึ่ง โดยที่ “ครั้งนี้ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องเคยๆ ที่ทำๆ กันมาแค่นั้น นี่เป็นการพบปะพูดคุยในระดับที่ยอมรับความชอบธรรมของฝ่ายค้านที่ใช้กำลังอาวุธในภาคใต้ของไทย เมื่อพิจารณาจากจุดนี้ในทางเป็นจริงแล้ว มันก็คือจะไม่มีการหวนกลับไปเป็นอย่างเดิมอีกแล้ว”

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี อาจารย์รัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ก็แสดงความคิดเห็นในทำนองเดียวกัน โดยกล่าวกับเว็บไซต์ข่าว คริสเตียน ไซแอนซ์ มอนิเตอร์ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นพัฒนาการที่ควรแก่การต้อนรับ เขาแจกแจงว่า “ครั้งนี้ไม่เพียงเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลไทยยอมรับสถานะของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่กระบวนการที่นำมาใช้ก็รวมเอามาเลเซียเข้ามาเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้แก่การเจรจาอีกด้วย ซึ่งน่าที่จะดึงดูดผู้เข้าร่วมในกระบวนการสันติภาพนี้ได้มากขึ้น”

แต่คริสเตียน ไซแอนซ์ มอนิเตอร์ ก็รายงานทัศนะของปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เคยเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยปณิธานชี้ว่า การนำเอากลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเข้ามาสู่โต๊ะเจรจาเพิ่มมากขึ้นนั้นจะไม่ใช่เรื่องทำได้ง่ายๆ

“มีหลายๆ กลุ่มที่อยากจะเจรจากับทางการผู้รับผิดชอบของไทย แต่พวกเขาไม่ยอมออกมา เพราะรัฐบาลไทยไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยของพวกเขา สิ่งที่พวกเขาต้องการคือการนิรโทษกรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยไม่สามารถสัญญาได้” อาจารย์ผู้นี้บอก และชี้ด้วยว่า “พวกผู้ก่อความไม่สงบเองก็จะต้องมีการเจรจากันในหมู่พวกเขากันเองก่อนที่จะตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใด ดังนั้น จึงยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าเราจะเห็นเหตุการณ์ต่างๆ ลดน้อยลงไปในอนาคตอันใกล้นี้หรือไม่”

ในการให้สัมภาษณ์นิวยอร์กไทมส์ ปณิธานยังเพิ่มเติมเรื่องความยากลำบากในการเจรจากับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบอีกประเด็นหนึ่ง นั่นคือทางการไม่ทราบว่าควรจะต้องเจรจากับใคร “ปัญหายุ่งยากสำคัญก็คือ การชี้ตัวพวกที่เป็นคนควบคุมบงการตัวจริง”

ทางด้านสำนักข่าวเอเอฟพีก็ชี้ไปในทำนองเดียวกันว่า พวกนักวิเคราะห์ต่างแสดงความกังขาต่อคำกล่าวที่ว่า ข่าวการลงนามเพื่อเปิดการเจรจาสันติภาพระหว่างกลุ่มบีอาร์เอ็นกับทางการไทย เป็นเครื่องหมายแสดงถึงการผ่าทางตัน โดยพวกเขาต่างชี้ให้เห็นว่าพวกกบฏในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยมีลักษณะที่แตกเป็นกลุ่มๆ ไร้เอกภาพ ไร้ซึ่งข้อเรียกร้องที่เป็นรูปธรรม ทำให้ทางการไทยประสบความลำบากในการเสาะหาผู้ซึ่งเป็นตัวแทนที่สามารถพูดจาเข้าถึงพวกนักรบในภาคสนามได้จริงๆ

เอเอฟพีบอกว่า ขบวนการบีอาร์เอ็นซึ่งเป็นคำย่อของชื่อในภาษามาเลย์ว่า “บาริซาน เรโวลูซิ นาชันนัล” หรือ “แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ” นั้น เป็นหนึ่งในกลุ่มกบฏขนาดใหญ่ๆ หลายกลุ่มที่ถูกไทยกล่าวโทษว่าเป็นผู้ก่อความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทว่ายังจะต้องติดตามกันต่อไปว่า มีกลุ่มกบฏอื่นใดอีกหรือไม่ที่ยินยอมกระทำตามบีอาร์เอ็น

ในการแถลงข่าวที่กัวลาลัมเปอร์คราวนี้ ทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรีไทย และนายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ต่างไม่ได้ระบุวันที่ที่จะเปิดการเจรจากันอย่างชัดเจน ขณะที่เจ้าหน้าที่มาเลเซียผู้หนึ่งบอกว่า การพบปะกันของบีอาร์เอ็นกับทางการไทยนั้น ในเบื้องต้นจะเป็นการหารือเพื่อตกลงกันเกี่ยวกับ “ข้อกำหนดต่างๆ เพื่อการอ้างอิง” (terms of reference) สำหรับการดำเนินการในขั้นต่อๆ ไป ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ผู้นี้บอกด้วยว่า หวังกันว่ากลุ่มกบฎอื่นๆ จะเข้าร่วมในการเจรจานี้ในเวลาต่อไปข้างหน้า

“ขอให้พวกเราทั้งหมดตั้งความหวังและสวดอ้อนวอนว่า การสนทนากันอย่างต่อเนื่องเป็นชุดเช่นนี้ ซึ่งจะเริ่มต้นขึ้นในเวลา 2 สัปดาห์ในกัวลาลัมเปอร์ จะสามารถนำมาซึ่งผลลัพธ์อันเป็นที่พึงปรารถนาได้” นาจิบ ผู้นำมาเลเซียกล่าว

ขณะที่ มาร์ค แอสคิว ผู้เชี่ยวชาญเรื่องภาคใต้ของไทยแห่งมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย แสดงความเห็นว่า ยังแทบไม่มีหลักฐานใดๆ เลยว่า ผู้ที่ “แต่งตั้งตัวเอง” เป็นตัวแทนของกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ มีอำนาจควบคุมเหนือพวกนักรบที่กำลังก่อการกบฎอยู่ในเวลานี้

“ความท้าทายยังคงเป็นอย่างเดียวกันกับที่เคยเป็นมา นั่นคือ เรื่องการติดต่อกับพวกผู้ก่อความไม่สงบที่กำลังดำเนินการต่อสู้อยู่จริงๆ ให้ได้ ไม่ใช่เป็นการติดต่อเพียงแค่กับพวกนักเจรจาเท่านั้น” เขากล่าวกับเอเอฟพี

ทางด้าน ดันแคน แมคคาร์โก นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยลีดส์ ประเทศอังกฤษ สำทับว่า ในอดีตที่ผ่านมาการเจรจาในช่องทางลับๆ ระหว่างพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของฝ่ายไทยกับพวกตัวแทนกบฎกลุ่มต่างๆ นั้น แทบไม่บังเกิดความก้าวหน้าอย่างจริงจังอะไรเลย

“ภายใต้สถานการณ์ดังที่กล่าวมานี้ ข่าวคราวล่าสุดนี้จึงยังจำเป็นที่จะต้องมองกันด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างมาก” เขาเตือน

เอเอฟพีระบุว่า พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ก็กล่าวยอมรับในวันพุธ (27 ก.พ.) ว่า ประเทศไทยยังคงอยู่ระหว่างดำเนินการระบุชี้ตัวว่าควรจะเจรจากับพวกผู้นำผู้ก่อความไม่สงบคนไหน
กำลังโหลดความคิดเห็น