เอเอฟพี - เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหภาพยุโรป (อียู) เรียกร้องให้สมาชิกทั้ง 27 ชาติสุ่มตรวจดีเอ็นเอในอาหารประเภทเนื้อวัว เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคที่กำลังวิตกกับปัญหาการลักลอบนำเนื้อม้ามาหลอกขายเป็นเนื้อวัวในหลายประเทศ
ฝรั่งเศส และสวิตเซอร์แลนด์ เป็นอีก 2 ชาติที่สั่งตรวจสอบลาซานญาเนื้อแช่แข็งว่ามีการปนเปื้อนเนื้อม้าเช่นที่พบในอังกฤษหรือไม่ ขณะที่เครือซูเปอร์มาร์เกตในสวีเดน, เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี ก็สั่งนำผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็งลงจากชั้นวางไปแล้วหลายล้านชุด
จากการตรวจสอบที่มาของเนื้อเจ้าปัญหา ทำให้ทราบถึงเครือข่ายซัปพลายเออร์ที่ซับซ้อนในอุตสาหกรรมอาหารยุโรป ซึ่งทำให้สาธารณชนยิ่งกังวลเรื่องความปลอดภัยของอาหาร และเกรงจะมีการสมคบคิดเพื่อหลอกลวงผู้บริโภค
วันอังคารที่ผ่านมา (12) ตำรวจอังกฤษบุกค้นโรงงานแปรรูปเนื้อวัว 2 แห่ง เพื่อหาต้นตอเนื้อม้าที่พบในเบอร์เกอร์และเคบับ ขณะที่ โอเวน พาเทอร์สัน รัฐมนตรีกระทรวงอาหารและสิ่งแวดล้อมอังกฤษ แถลงเตือนที่กรุงบรัสเซลส์ว่า “นี่คือแผนก่ออาชญากรรมเพื่อหลอกลวงผู้บริโภค”
โทนิโอ บอร์ก กรรมาธิการสาธารณสุขของอียู ซึ่งเข้าประชุมร่วมกับผู้แทนอียู 8 ชาติ เมื่อวานนี้ (13) เผยว่า บรัสเซลส์ได้เรียกร้องไปยังสมาชิกทั้ง 27 ประเทศให้สุ่มตรวจดีเอ็นเอในผลิตภัณฑ์เนื้อวัว เพื่อดูว่ามีการปนเปื้อนเนื้อม้าหรือไม่ นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปยังเตรียมออกคำสั่งให้ผู้ผลิตอาหารจากเนื้อม้าดิบทุกรายตรวจหาสารฟีนิลบิวตาโซน (Phenylbutazone) ซึ่งเป็นยาระงับปวดที่ใช้กับสัตว์ และอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์
“ไม่มีใครมีสิทธิ์นำอาหารที่ผลิตจากเนื้อสัตว์ชนิดอื่นมาติดฉลากว่าเป็นเนื้อวัว” บอร์กแถลง
บรรดารัฐมนตรีอียูเสนอให้ระบุประเทศต้นทางลงบนผลิตภัณฑ์เนื้อวัวแปรรูปทุกชนิด ซึ่งในปัจจุบันระเบียบดังกล่าวยังใช้เฉพาะกับเนื้อวัวสดเท่านั้น
บริษัท Comigel ในฝรั่งเศสซึ่งผลิตลาซานญาเนื้อแช่แข็งภายใต้ยี่ห้อ Findus ยืนยันว่า บริษัทไม่ได้กระทำผิดกฎหมาย และได้รับซื้อเนื้อวัวมาจากบริษัท Spanghero ของฝรั่งเศสอีกต่อหนึ่ง ขณะที่ Spanghero ก็อ้างว่าเนื้อวัวถูกส่งมาจากโรงฆ่าสัตว์ในโรมาเนีย 2 แห่ง ซึ่งก็ออกมาปฏิเสธความผิดแล้วเช่นกัน
สื่อในยุโรปหลายประเทศกำลังมุ่งความสนใจไปที่พ่อค้าชาวดัตช์ แจน ฟาเซ็น ผู้อำนวยการบริษัท Draap Trading จำกัด ซึ่งยอมรับกับหนังสือพิมพ์การ์เดียนของอังกฤษว่าได้รับซื้อเนื้อม้ามาจากโรงฆ่าสัตว์ 2 แห่งในโรมาเนีย และจำหน่ายให้กับผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปในฝรั่งเศส โดยติดฉลากชัดเจนว่าเป็น “เนื้อม้า”
“เราขายเนื้อม้าเหล่านั้นให้ Spanghero ในฝรั่งเศส รวมถึงลูกค้ารายอื่นๆในเบลเยียมและฮอลแลนด์ แต่เนื้อทั้งหมดติดฉลากชัดเจนว่าเป็นเนื้อม้า เพราะฉะนั้นนี่ไม่ใช่ประเด็นปัญหา” ฟาเซ็นกล่าว
“คงมีผู้ผลิตบางรายทำผิดพลาดเอง แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ความผิดของเรา” เขายืนยัน
ด้านรัฐบาลโรมาเนียก็ออกมาปฏิเสธคำตำหนิทั้งปวง โดยรัฐมนตรีเกษตร แดเนียล คอนสแตนติน แถลงวานนี้ (13) ว่า “เนื้อม้าที่ผลิตในโรมาเนียและส่งไปจำหน่ายในยุโรปติดฉลากถูกต้อง”