xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำฟิลิปปินส์เยือน “ค่ายมุสลิมโมโร” สร้างประวัติศาสตร์เร่งรัดแผนสันติภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดีเบนิโญ อากีโน แห่งฟิลิปปินส์ สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้แก่ความพยายามสร้างสันติภาพและการปรองดองภายในชาติเมื่อวันจันทร์ (11ก.พ.) ด้วยการเดินทางเยือนดินแดนของกลุ่มกบฏโมโร
เอเอฟพี - ประธานาธิบดีเบนิโญ อากีโน แห่งฟิลิปปินส์ สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้แก่ความพยายามสร้างสันติภาพและการปรองดองภายในชาติเมื่อวันจันทร์ (11 ก.พ.) ด้วยการเดินทางเยือนดินแดนของกลุ่มกบฏโมโร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเร่งรัดความพยายามในการยุติ 1 ในความขัดแย้งซึ่งนองเลือดและยาวนานที่สุดของเอเชีย

สี่เดือนหลังจากทางการมะนิลาร่วมลงนามในข้อตกลงโรดแมปสันติภาพ กับแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร (เอ็มไอแอลเอฟ) อากีโนได้เดินทางไปยังที่มั่นของกลุ่มกบฏกลุ่มนี้ที่อยู่ทางใต้สุดของประเทศ เพื่อส่งเสริมเพิ่มพูนความเชื่อมั่นระหว่างกัน

“เรามีเวลาเหลือเพียง 3 ปีกับ 4 เดือน เราจึงต้องเร่งรัดทุกอย่างเพื่อให้สันติภาพครั้งนี้ยืนยงถาวร” อากีโนกล่าวบนเวทีคู่กับ มูรัด เอบรอฮิม ผู้นำเอ็มไอแอลเอฟ ที่บริเวณหน้าค่ายดาราพานัน ซึ่งเป็นฐานบัญชาการหลักที่มีการรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนาของเอ็มไอแอลเอฟ

ตามข้อตกลงแม่บท ทั้งสองฝ่ายจะต้องตกลงกันให้ได้เกี่ยวกับรายละเอียดต่างๆ เพื่อให้เกิดสันติภาพอันถาวรภายในปี 2016 ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่อากีโนสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี ทั้งนี้รัฐธรรมนูญของฟิลิปปินส์ฉบับปัจจุบันจำกัดการเป็นประธานาธิบดีไว้เพียงสมัยเดียว ทำให้มีความกังวลกันว่า ผู้นำแดนตากาล็อกคนต่อไปอาจไม่สามารถหรือไม่ต้องการผลักดันกระบวนการสันติภาพนี้ต่อไป

เอ็มไอแอลเอฟที่มีนักรบ 12,000 คน ได้ทำการต่อสู้มาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เพื่อแยกมินดาเนาเป็นรัฐเอกราช โดยที่บริเวณพื้นที่ประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศนี้ ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมบอกว่าเป็นถิ่นฐานบ้านเกิดของพวกตนตั้งแต่ยุคบรรพบุรุษ ขณะที่ผู้คนส่วนข้างมากของฟิลิปปินส์เป็นชาวคริสต์นิกายคาทอลิก คาดกันว่าการสู้รบที่ดำเนินมาหลายสิบปีระหว่างรัฐบาลกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยนี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปถึง 150,000 คน ถึงแม้ได้เคยมีการทำข้อตกลงหยุดยิงกันเมื่อปี 2003 และยังคงมีการเคารพปฏิบัติตามข้อตกลงสงบศึกนี้เป็นส่วนใหญ่ก็ตามที

ในข้อตกลงแม่บทที่ลงนามกันเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว เอ็มไอแอลเอฟบอกว่าจะยอมยกเลิกข้อเรียกร้องแยกตัวเป็นเอกราช โดยแลกเปลี่ยนกับการที่รัฐบาลจะประกาศเขตปกครองตนเองแห่งใหม่ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว้างใหญ่จำนวนมากของมินดาเนา เขตปกครองตนเองนี้จะได้รับแบ่งปันจัดสรรอำนาจบริหารและทรัพยากรความมั่งคั่งต่างๆ

แต่การเจรจาต่อรองภายหลังจากนั้น ทั้งสองฝ่ายยังคงไม่สามารถทำความตกลงกันเกี่ยวกับรายละเอียดต่างๆ จำนวนมากที่ถือเป็นประเด็นซึ่งยากลำบากที่สุด อีกทั้งยังไม่มีการทะลุทลวงก้าวข้ามอุปสรรคสำคัญใดๆ อีกเลย

แม้กระนั้น อากีโนก็แสดงความเชื่อมั่นในวันจันทร์ว่า การเจรจาจะคืบหน้าอย่างชัดเจนภายในไม่กี่สัปดาห์นี้ และจะสามารถบรรลุข้อตกลงสันติภาพขั้นสุดท้ายภายในปี 2016

ระหว่างการเยือนครั้งนี้ อากีโนยังร่วมทำพิธีเปิดโครงการร่วมพัฒนาต่างๆ ในพื้นที่อิทธิพลของเอ็มไอแอลเอฟ ซึ่งถือเป็นก้าวย่างสำคัญของกระบวนการสันติภาพ โครงการเหล่านี้มีทั้งการแจกทุนการศึกษา การขยายเครือข่ายสุขอนามัย และโครงการสร้างงาน

ต่อจากนั้น อากีโนได้เดินทางไปยังค่ายทหารเพื่อชมการแข่งขันฟุตบอลระหว่างเอ็มไอแอลเอฟกับกองทหารฟิลิปปินส์

ทางด้านมูรัดนั้นกล่าวยกย่องว่า การเยือนของอากีโนมีความสำคัญอย่างมากในการส่งเสริมกระบวนการสันติภาพ พร้อมย้ำถึงความจำเป็นในการนำความมั่งคั่งมาสู่มินดาเนา ดินแดนที่อุดมด้วยทรัพยากรแต่กลับยังคงเป็นหนึ่งในพื้นที่ยากไร้ที่สุดของประเทศ เนื่องจากความขัดแย้งและการคอร์รัปชั่น

“การพัฒนามีความสำคัญมาก ดังนั้น เป้าหมายนี้จึงต้องเป็นภารกิจสำคัญที่สุดในการร่วมเป็นพันธมิตรของเรา”

การเดินทางเยือนของอากีโนครั้งนี้ยังนับเป็นภารกิจการเยือนเพื่อสันติภาพครั้งแรกของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เพราะแม้ในปี 2000 โจเซฟ เอสตราดา ผู้นำแดนตากาล็อกขณะนั้น เคยเดินทางไปยังพื้นที่ดังกล่าว แต่ก็เป็นการไปเยือนภายหลังจากที่กองทัพฝ่ายรัฐบาลทำการสู้รบอย่างหนักหน่วงกับพวกนักรบมุสลิม จนสามารถยึดที่มั่นสำคัญที่เป็นค่ายหลักของฝ่ายกบฏในตอนนั้น

ทั้งนี้ เอสตราดายังสร้างอื้อฉาวด้วยการนำเนื้อหมูและเบียร์เข้าไปในพื้นที่ของชาวมุสลิม เพื่อให้กองทหารรัฐบาลเฉลิมฉลองชัยชนะ
กำลังโหลดความคิดเห็น