xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการชี้รัฐเปิดช่องแล้ว ถึงเวลาชุมชนร่วมกระบวนการสร้างสันติภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อ.ซากีย์ พิทักษ์คุมพล
 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เสวนาชุมชนศรัทธาปัตตานีคึกคัก นักวิชาการสันติศึกษาชี้แม้ความรุนแรงจะยืดเยื้อเรื้อรัง แต่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เมื่อรัฐเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายมุ่งสร้างบรรยากาศการพูดคุยเจรจาเพื่อสันติภาพ
 
เครือข่ายชุมชนศรัทธา “กัมปงตักวา” จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับ มูลนิธิชุมชนไท กทม. องค์การแอคชั่นเอด (ประเทศไทย) จัดการเสวนาผู้นำชุมชนศรัทธากับกระบวนการสร้างสันติภาพชายแดนใต้ ณ หอประชุมสำนักอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยมีผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนาจากทั้ง 3 จังหวัดมาร่วมงานกว่า 300 คน เมื่อวันที่ 27 ธันวาคมที่ผ่านมา
 
การเสวนาครั้งนี้ มุ่งที่องค์ประกอบสำคัญของชุมชนคือ ผู้นำ 4 เสาหลักของชุมชน (ผู้ใหญ่บ้าน, ผู้นำศาสนา อบต. และแกนนำธรรมชาติ) เพื่อเสริมสร้างมุมมองและโลกทัศน์ที่กว้างไกล และในอีกด้านหนึ่งด้วยความปรารถนาที่จะให้ทุกภาคส่วนมาช่วยกันสนับสนุนพื้นที่ชุมชนได้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาแก้ปัญหาของชุมชนโดยชุมชนให้สามารถยืนได้ด้วยลำแข้งของตนเองสู่การแก้ปัญหา และร่วมสร้างกระบวนการสันติภาพจากพื้นที่ฐานของชุมชนสู่สันติภาพชายแดนใต้
 
ในการเสวนาครั้งนี้ มีการบรรยายพิเศษในหัวข้อ กระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ โดย อ.ซากีย์ พิทักษ์คุมพล อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา ม.อ.หาดใหญ่ และเวทีเสวนาเรื่อง ผู้นำชุมชนศรัทธากับกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ ในช่วงเช้า และการเสวนาเรื่องปัญหาที่ดินกับการสร้างสันติภาพชายแดนใต้ ในช่วงบ่าย โดยมีวิทยากรทั้งนักวิชาการ ผู้นำชุมชน และนักกิจกรรมทางสังคมร่วมนำเสนอปัญหาต่อที่ประชุม
 
อ.ซากีย์ พิทักษ์คุมพล กล่าวในการบรรยายพิเศษว่า จากการติดตามสถานการณ์ความขัดแย้ง และความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จนถึงวันนี้กล่าวได้ว่าสถานการณ์ที่เข้าสู่วงจรที่เรียกว่าเป็นความขัดแย้งที่ยืดเยื้อเรื้อรัง โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากสถิติที่เกิดความรุนแรงเป็นจำนวนกว่า 12,377 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตกว่า 5,377 คน และบาดเจ็บกว่า 9,513 คน ในสถานการณ์ที่จะครบรอบ 10 ปีในปีหน้า
 
“สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า การแก้ปัญหาที่ผ่านมาไม่สามารถตอบโจทย์ได้อย่างที่ควรจะเป็น ในตอนแรก คนที่เกี่ยวข้องบอกว่าสามารถควบคุมความรุนแรง และความขัดแย้งได้ แต่ปัจจุบัน กลับกลายเป็นว่าความขัดแย้งเป็นตัวควบคุมเรา” อ.ซากีย์กล่าว
 
ทั้งนี้ อ.ซากีย์ยังกล่าวอีกว่า ในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง และความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ขณะนี้พบว่า ทางรัฐบาลได้มีกองกำลังทั้งทหาร ตำรวจ และกองกำลังที่หนุนเสริมเช่น อส.ในพื้นที่ 3 จังหวัด และ 4 อำเภอของสงขลา จำนวนกว่า 60,000 คน และยังมีกองกำลังกึ่งอาชีพเช่น ชรบ. อรบ. อีกจำนวนกว่า 80,000 คน
 
นักวิชาการจากสถาบันสันติศึกษาได้วิเคราะห์สถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ในโมเดลการวิเคราะห์ความขัดแย้งชนิดที่ยืดยื้อเรื้อรังพบว่าเงื่อนไขหนึ่งทำนำไปสู่สถานการณ์ดังกล่าวเกิดจากลักษณะของชุมชนที่มีความหลากหลาย มีความแตกต่างทางชาติพันธุ์ มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และมีชาติพันธุ์หนึ่งมีอิทธิพลเหนือชาติพันธุ์หนึ่ง ทำให้ความขัดแย้งไม่สามารถแก้ได้ด้วยการใช้กฎหมาย หรือด้วยแนวทางความมั่นคง
 
อีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นเงื่อนไขของความขัดแย้ง คือ ความต้องการพื้นฐานของชุมชนไม่ได้รับการตอบสนอง โดยเฉพาะความต้องการที่จะมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ความต้องการด้านอัตลักษณ์อันเป็นความต้องการขั้นพื้นฐานที่ถูกพรากโดยคนอื่น หรือโดยรัฐจะเป็นชนวนไปสู่ความขัดแย้งชนิดเรื้อรังได้ ซึ่งต้องเอาเงื่อนไขนี้ไปทาบกับชุมชนชายแดนใต้ว่าวันนี้ ความต้องการพื้นฐานของชุมชนได้รับการตอบสนองแล้วหรือยัง
 
อย่างไรก็ตาม อาจารย์จาก ม.อ.หาดใหญ่ กล่าวในการบรรยายว่า ในขณะนี้ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายที่มาจากรัฐที่เรียกได้เป็นแนวทางการแก้ปัญหาที่เป็นการเปลี่ยนแปลงจากรากฐานที่จะสามารถแก้ปัญหาได้นั่นคือ นโยบายการบริหาร และการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2555-2557 โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง และครอบคลุมทั้งหน่วยงานรัฐ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งใน และนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้
 
“โดยเฉพาะนโยบายในข้อ 8 ที่บอกว่า รัฐต้องการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม และเอื้อต่อการพูดคุยในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง และการให้หลักประกันในการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้เสียในกระบวนการเสริมสร้างสันติภาพ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า รัฐกำลังสร้างบรรยากาศการพูดคุย การเจรจาเพื่อสันติภาพ ที่นี้จะทำอย่างไรให้เขาได้ยิน อันนี้แหละที่ต้องใช้ฐานของชุมชนศรัทธา ทำอย่างไรให้ชุมชนสามารถถักทอเครือข่ายกันมากขึ้นกับเครือข่ายอื่นๆ สร้างพื้นที่ใหม่โดยไม่สูญเสียพื้นที่ของตนเอง และเป็นการเกี่ยวข้องอย่างสร้างสรรค์ และยืดหยุ่น” อ.ซากีย์ กล่าว
 
โซเรดา หะยีมะสาและ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)
 

กำลังโหลดความคิดเห็น