xs
xsm
sm
md
lg

ดร.โนเบิร์ต โรเปอร์ส : safety net จำเป็นต่อกระบวนการสันติภาพปาตานี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.โนเบิร์ต โรเปอร์ส
 
โดย...สะรอนี ดือเระ   โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)
 

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้สัมภาษณ์ ดร.โนเบิร์ต โรเปอร์ส  อดีตผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อส้นติภาพเบอร์คอพ แห่งเยอรมนี และปัจจุบัน เป็นนักวิจัยอาวุโส สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผู้มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการสร้าง “พื้นที่กลาง” ในการพูดคุยระหว่าง “คนใน” และการสร้าง “Insider Mediator” (ตัวกลางที่เป็นคนใน) เพื่อแสวงหาข้อเสนอร่วมของคนทุกศาสนา และชาติพันธุ์ในพื้นที่เพื่อสร้างแผนที่ในการเดินทางไปสู่สันติภาพ  
 
ทั้งนี้ ในช่วงปีครึ่งที่ผ่านมา ดร.โนเบิร์ต โรเปอร์ส ได้ร่วมมือกับนักวิชาการจาก 5 สถาบันทั่วประเทศ รวมทั้งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทั้งจากวิทยาเขตปัตตานี และหาดใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคมจัดเวทีสันติภาพของคนใน (IPP - Insider peacebuilding platform) ในการวิเคราะห์ร่วมกันว่า ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้คืออะไร โดยได้ทำบทวิเคราะห์ร่วมซึ่งจะเผยแพร่ต่อสาธารณะต่อไปเพื่อที่จะสร้างแผนที่ไปสู่สันติภาพ
 
DSJ ได้พูดคุยกับนักวิชาการอาวุโสชาวเยอรมันผู้ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานเรื่องการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในหลายประเทศ ซึ่งจะอธิบายแนวคิดของเขาเกี่ยวกับบทบาทของ “คนใน” ในการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมโยงกับบริบทในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในประเด็นเรื่องตาข่ายนิรภัย (safety net) ที่เขานำเสนอต่อภาคประชาสังคมในเวที IPP
 
DSJ : อะไรคือความหมายของตาข่ายนิรภัย (safety net) ที่คุณนำเสนอต่อภาคประชาสังคมชายแดนใต้ และมีความสำคัญอย่างไรในกระบวนการสันติภาพ
 
ดร.โนเบิร์ต โรเปอร์ส : กระบวนการสันติภาพเป็นเรื่องที่เปราะบาง แตกหักง่าย และยากที่จะแก้ไข หรือประกอบขึ้นใหม่ได้ ดังนั้น จึงต้องมีตาข่ายนิรภัยรองรับที่มาจากประชาชน จากนักวิชาการที่มีศักยภาพ กระบวนการสันติภาพจึงเน้นว่าจะเป็นการดีที่จะมีตาข่ายนิรภัย (safety net) ที่เป็นการรวมตัวกันของประชาชนจากหลายๆ ฝ่ายที่สามารถพูดคุยเรื่องการสร้างสันติภาพทั้งในระดับที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ
 
ตาข่ายนิรภัย (safety net) จะมีสองระดับคือ ชั้นที่เป็นทางการก็คือ ตัวแทนของทั้งสองฝ่ายพูดคุยกัน ทั้งในระดับการพูดคุย (Dialogue) หรือการเจรจา (negotiate) และมีตาข่ายนิรภัยระดับล่างลงมาคือ ประชาชนที่ไม่ใช่ตัวแทนของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่เป็นทางการ แต่เป็นผู้แสดงตนว่า ต้องการกระบวนการสันติภาพ และพูดคุยเรื่องในเดียวกันกับกลุ่มที่เป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการ ซึ่งกลุ่มนี้ต้องคิด และเตรียมการว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากกลุ่มที่พูดคุยเป็นทางการล้มเหลว ซึ่งคนเหล่านี้จะช่วยก่อร่างความคิด วิธีการ หรือวางเป้าหมายเพื่อที่กระบวนการสันติภาพที่เป็นทางการล้มเหลวสามารถกลับคืนมา นี่คือเนื้อหาของตาข่ายนิรภัย (safety net)
 
มีหลายหนทางที่ตาข่ายนิรภัย (safety net) จะเกิดขึ้น หรือก่อร่างขึ้นได้ อย่างง่ายๆ  ก็คือ เกิดจากกลุ่มประชาชนที่รู้จักคุ้นเคยกัน และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งสองฝ่าย (รัฐและขบวนการ) ที่มีการพูดคุยกัน และร่วมกันคิดว่าจะสื่อความคิด หรือข้อเสนออะไรบ้างไปสู่กลุ่มตัวแทนที่เป็นทางการ หรืออาจจะเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ เช่น เมื่อตัวแทนที่เป็นทางการของแต่ละฝ่ายประสงค์ให้ประชาชนจัดตั้งกลุ่มถาวรเป็นคณะในการให้คำปรึกษาเมื่อเกิดปัญหาวิกฤตที่จะเกิดขึ้น เพราะไม่เคยมีกระบวนการสันติภาพที่ไม่มีวิกฤต
 
คือมีทั้งที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการที่ตัวแทนการเจรจาต้องการให้ประชาชนพัฒนาศักยภาพที่จะช่วยเหลือในสถานการณ์ที่แตกหัก หรือเกิดความขัดแย้งรุนแรง
 
DSJ : ในสถานการณ์ของความขัดแย้งในชายแดนใต้คุณพอจะมองเห็นปรากฏการณ์ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการก่อรูปของตาข่ายนิรภัย (safety net) อย่างไรบ้าง
 
ดร.โนเบิร์ต โรเปอร์ส : ผมเชื่อว่ามีประชาชนส่วนหนึ่งที่มีการพูดคุยกับทั้งสองฝ่าย ทั้งที่เป็นฝ่ายพลเรือน และที่มาจากกองทัพ แต่เราไม่รู้ว่าเป็นใคร คนเหล่านี้ส่วนหนึ่งต่อไปอาจจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของตัวแทนการเจรจาที่เป็นทางการ ซึ่งพวกเขารู้จักฝ่ายตรงข้ามเป็นอย่างดี พวกเขาสามารถแสดงบทบาทตาข่ายนิรภัย (safety net) ได้ในภายหลัง ซึ่งนี่เป็นตัวเลือกแรก
 
ตัวเลือกที่สอง คือ ประชาชนอย่างเช่นคุณ (ชี้มายังผู้สัมภาษณ์) และคนอื่นๆ ที่อยู่ในภาคประชาสังคม สื่อมวลชน และอื่นๆ หรือกลุ่มคนที่มีส่วนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ และพวกเขากำลังคิดว่าจะสนับสนุนกระบวนการสันติภาพในอนาคตได้อย่างไร โดยทำความเข้าใจกับผู้คนที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่าย BRN PULO หรือ ญูแว และอีกด้านหนึ่งคือ ผู้คนที่มีสัมพันธ์กับฝ่ายราชการพลเรือน หรือฝ่ายทหารไทย ซึ่งพวกเขาสามารถผลิตความคิดดีๆ ที่จะให้กระบวนการสันติภาพเดินหน้าต่อไปได้ ผมคิดว่ามีตัวอย่างเช่น ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) ที่สามารถเล่นบทบาทนี้ สื่อที่ติดต่ออยู่กับศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ก็สามารถเล่นบทบาทนี้
 
ผมโดยส่วนตัวกำลังคิดทำโครงการสร้างศูนย์ข้อมูลสันติภาพ (peace resources center) ที่มีแห่งหนึ่งที่ชายแดนใต้ กับอีกที่หนึ่งคือที่กรุงเทพฯ ซึ่งจะเป็นที่ที่จะให้คนทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ได้พบปะ และสามารถผลิตไอเดียความคิดว่าจะทำอย่างไรให้กระบวนการสันติภาพสามารถเดินหน้าได้ด้วยก้าวเล็กๆ และคนที่เฝ้าดูเหตุการณ์ความขัดแย้งที่อื่นๆ ที่คล้ายกัน และกำลังศึกษาเรื่องเหล่านั้น ซึ่งจะเป็นกลุ่มคนที่เห็นอกเห็นใจทั้งฝ่ายขบวนการของคนมลายู และเห็นใจฝ่ายรัฐไทยที่พวกเขาจะสามารถช่วยกันสร้างแนวคิดใหม่ๆ
 
ในส่วนของผมคิดว่า ในการสร้างศูนย์ข้อมูลสันติภาพอาจจะประสานกับมหาวิทยาลัยหนึ่ง หรือสองแห่ง หรือกับองค์กรประชาสังคมที่สามารถดำเนินการอย่างอิสระ ซึ่งต้องเตรียมการตั้งแต่ตอนนี้ เป็นจังหวะก้าวที่ดี และเดินถูกทางเพราะบรรยากาศทางการเมืองเป็นช่วงที่ทั้งสองฝ่ายไม่มีทีท่าว่าจะมีการเจรจาอย่างเป็นทางการ ผมยังไม่เห็นว่าจะมีกระบวนการการเจรจาทั้งจากฝ่ายรัฐไทย และฝ่ายขบวนการ ซึ่งแน่นอนว่าทั้งสองฝ่ายยังมีความเห็นไม่ตรงกันที่จะมีการเจรจา แต่ละฝ่ายไม่มีความพร้อมในการเจรจา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีความเห็นที่แตกต่างกันว่าจะทำอะไรต่อไปในอนาคต
 
DSJ : ศูนย์ข้อมูลสันติภาพจะมีภารกิจอย่างไรบ้าง
 
ดร.โนเบิร์ต โรเปอร์ส : ศูนย์ข้อมูลสันติภาพ (peace resources center) คือความคิดริเริ่มที่จะนำผู้คนมาร่วมทำงานอย่างต่อเนื่องใน 3 เรื่อง คือ เรื่องแรกต้องคิดว่าอะไรคือก้าวย่างที่ดีในการสร้างความเชื่อมั่น สร้างความเชื่อใจ และแนวคิดที่ดีให้แก่ประชาชนทั่วไปในพื้นที่สาธารณะ (common space) ที่ผู้คนสามารถพบปะกับคนอื่นๆ ที่มีภูมิหลังต่างกัน
 
เรื่องที่สองคือ ผมคิดว่าจะเป็นการดีที่จะมีสถานที่ที่เป็นฐานความรู้ อาจจะเป็นห้องสมุด เว็บไซต์ หรือข้อมูลดิจิตอลที่เป็นการสรุปบทเรียนจากอาเจะห์ จากมินดาเนา แอฟริกาใต้ ไอร์แลนด์เหนือ เพื่อให้ทุกคนที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้สามารถเข้าถึงข้อมูลเนื้อหาอย่างง่ายๆ
 
เรื่องที่สาม สำหรับผมในการริเริ่มของศูนย์ข้อมูลสันติภาพ (peace resources center) จะสามารถผลิตข้อเสนอเชิงนโยบายย่อยๆ ที่เป็นแนวคิด หรือข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมว่าจะทำอย่างไรให้กระบวนการสันติภาพสามารถเดินหน้าได้ ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับทั้งความเห็นสาธารณะ และระบอบการเมืองของประเทศไทย โดยเห็นร่วมกันว่ามีความเป็นไปได้ ทำได้จริง เป็นกระบวนการสันติภาพที่เป็นก้าวเล็กๆ ที่เป็นจริงได้
 
เมื่อดำเนินการแล้วจะต้องได้รับความสนใจจากสาธารณะ มีการนำเสนอโดยสื่อมวลชน เพราะว่ากระทำโดยกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่มีการรวมตัวกันอย่างดี เป็นที่รู้จัก และมาจากแอคติวิสต์หลายๆ ฝ่าย ทั้งจากคนมาเลย์มุสลิม คนไทยพุทธ คนไทยเชื้อสายจีนที่ร่วมกันคิดและร่วมกันร่างข้อเสนอนี้ จะเป็นเหมือนสายน้ำของการเคลื่อนไหวด้านบวก (the stream of positive activities)
 
ตัวอย่างในเรื่องเรื่องนี้ เราจะเห็นพัฒนาการของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) ที่ก่อนหน้านี้จะมีชื่อเสียงเพราะการทำหน้าที่รายงานสถานการณ์ความรุนแรง แต่วันนี้ เราต้องการรายงานเกี่ยวกับสันติภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิด หรือไอเดียเรื่องสันติภาพ ซึ่งสำหรับผมนี้คือองค์ประกอบที่เป็นธรรมชาติที่ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้จะต้องทำต่อไปเรื่อยๆ ในอนาคต จากการวัดค่าความรุนแรงมาสู่การวัดค่าสันติภาพและสร้างแนวคิดเรื่องสันติภาพ
 
DSJ : มีตัวอย่างของการจัดตั้งหน่วยงาน หรือองค์กรในลักษณะศูนย์ข้อมูลสันติภาพในประเทศอื่นๆ
 
ดร.โนเบิร์ต โรเปอร์ส : ปัจจุบัน รัฐบาลพม่าได้ตั้งศูนย์สันติภาพ (peace center) โดยรัฐบาล และโดยกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าร่วมกันคิดในการตั้งสถาบันของพวกเขาเอง ในมินดาเนา มี OPAC หรือสำนักงานคณะที่ปรึกษาประธานาธิบดีเพื่อกระบวนการสันติภาพที่เป็นคณะทำงานในส่วนของรัฐบาล และมีคณะทำงานสันติภาพในส่วนของ MILF และในอีกหลายๆ ประเทศที่มีความขัดแย้งทั่วโลก ในขณะนี้มีการเคลื่อนไหวที่เรียกว่า การสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับสันติภาพ (establishing infrastructure for peace) เช่น ในกานา ในเคนยา ได้มีการก่อตั้งกลุ่มที่จะทำหน้าที่สร้างระบบเตือนภัยตั้งแต่เนิ่นๆ ที่อาจจะเกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่างๆ ขึ้นจากผลการเลือกตั้งซึ่งประชาชนจะช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้น ซึ่งการริเริ่มเล็กๆ เหล่าผมคิดว่าสำคัญ และช่วยได้มาก
 
DSJ : พูดถึงตาข่ายนิรภัย (safety net) ดูเหมือนว่าจะเป็นกลุ่มคนที่สนับสนุนกระบวนการสันติภาพ แล้วชุมชน หรือประชาชนทั่วไป หรือชาวบ้านคนธรรมดาจะสามารถเป็นตาข่ายนิรภัยในความหมายนี้หรือไม่
 
ดร.โนเบิร์ต โรเปอร์ส : ในที่นี้เราสามารถพูดได้ว่า กระบวนการสันติภาพทั้งหมดเป็นตาข่ายนิรภัย (safety net) แต่เมื่อเกิดความรุนแรงขึ้นที่ใดที่หนึ่ง และเมื่อประชาชนขับเคลื่อนตัวเองออกมาเพื่อป้องกันความรุนแรง ไม่ว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะมาจากฝ่ายไหนก็ตาม อย่างเช่นในไนโรบี และในเคนยาที่เกิดความรุนแรงหลังการเลือกตั้ง มีประชาชนลุกขึ้นเคลื่อนไหว มีนักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพเป็นพันคนลุกขึ้นมาประท้วงการก่อเหตุร้าย นั่นคือตาข่ายนิรภัยเช่นกัน
 
DSJ : เมื่อดูความเป็นจริงในกรณีปัตตานีซึ่งมีองค์กรภาคประชาสังคมอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอาชีพต่างๆ องค์กรประชาชนต่างๆ แต่ดูเหมือนว่ากิจกรรมต่างๆ ที่กลุ่มคนเหล่านี้กระทำอยู่ไม่ได้เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพ (peace movement)
 
ดร.โนเบิร์ต โรเปอร์ส : ผมเข้าใจสถานการณ์การริเริ่มกระบวนการสันติภาพในปาตานี ซึ่งขณะนี้กระบวนการ IPP กำลังเดินหน้าไปสู่แนวคิดนี้ แต่ผมเห็นด้วยกับคุณที่ว่ากระบวนการนี้ยังไม่แข็งแรงพอ เราต้องการมากกว่านี้ ต้องการบางอย่างที่มีลักษณะเป็นสถาบัน ผมหวังว่าการมีศูนย์ข้อมูลสันติภาพจะสามารถช่วยให้กระบวนการสันติภาพเข้มแข็งขึ้นได้ แต่ตอนนี้ยังอ่อนแอมาก ยังเป็นก้าวเล็กมากๆ ยังเร็วไปที่จะบอกว่านี่เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพเพราะสังคมยังมีการแบ่งแยกอยู่มาก และไม่มีการเสริมพลังให้กันและกัน
 
ผมคิดว่าเมื่อประชาชนได้รับผลกระทบจากความรุนแรงมากขึ้น และหากเขาได้เข้าไปเป็นตัวแสดงในกระบวนการสันติภาพ เขาจะเป็นตาข่ายนิรภัยที่ดีมากๆ ที่คุณจะได้เห็น อย่างเช่นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง ในไคโร เมื่อประชาชนกลับไปยังจัตุรัสทาห์รีร์เพื่อก่อการประท้วง นั่นคือ ตาข่ายนิรภัย (safety net) ชนิดหนึ่งที่ผู้คนไปแสดงเจตจำนงว่าไม่ต้องการระบบเผด็จการอีกต่อไป พวกเขาต้องการประชาธิปไตย
 
สำหรับกระบวนการสันติภาพที่แท้จริงสำหรับที่นี่ในอีก 2-5 ปีข้างหน้า ในความเข้าใจของผมจะมีตาข่ายนิรภัย (safety net) เกิดขึ้นจริงได้ก็ต่อเมื่อ อย่างเช่นเมื่อเกิดความรุนแรงไม่ว่าจะมาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คุณแสดงการต่อต้านความรุนแรงจากทั้งสองฝ่าย คุณมีการประท้วงใหญ่ (big rally) ที่มัสยิดกลางที่ปัตตานี มันจะเป็นการส่งสัญญาณที่แข็งแกร่ง ลองจินตนาการว่าทุกๆ เย็นวันจันทร์ประชาชนมารวมตัวกันที่มัสยิดกลางปัตตานี และบอกว่าเราต้องการหยุดความรุนแรงจากทั้งสองฝ่าย ประชาชนมารวมตัวทุกๆ เย็นวันจันทร์เป็นเวลา 3 เดือน เป็นกลุ่มใหญ่ที่เริ่มต้นจาก 20 คน กลายเป็น 200 คน กลายเป็น 2,000 คน หรือกลายเป็น 20,000 คน
 
ผมเชื่อมั่นว่าเมื่อมีคน 20,000 คนมารวมตัวกันหลายๆ ครั้งในเย็นวันจันทร์ มันจะขึ้นหน้าหนึ่งของนิวยอร์กไทม์ และเมื่อนั้นส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งสองฝ่ายจะต้องทำอะไรสักอย่างแน่นอน นี่คือสถานการณ์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเยอรมันตะวันออก และเยอรมันตะวันตก เพราะประชาชนในเยอรมันตะวันออกมารวมตัวทุกวันจันทร์เวลาหกโมงเย็น รวมตัวกันประท้วงและบอกว่า เราคือประชาชนหนึ่งเดียว (we are one people) เริ่มจาก 20  คน เป็น 30 40 50 คนต่อมาเป็น 20,000 คน และกลายเป็น 200,000 คน หลังจากระบบเดิมทั้งระบบล้มลง นี่คือเรื่องจริงๆ แต่คุณต้องมีความหนักแน่น และให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นใจอำนาจที่จะมีการเปลี่ยนแปลง
 
DSJ : ในกรณีของปัตตานี คุณคิดว่าใครควรจะเป็นผู้ริเริ่มกิจกรรมลักษณะนี้
 
ดร.โนเบิร์ต โรเปอร์ส : คุณน่าจะรู้ดีกว่าผม (หัวเราะ) ผมคิดว่าควรจะเป็นขบวนการของเยาวชนที่จะสามารถทำได้ เป็นผู้ที่จะบอกว่าพวกเราพอแล้วกับความรุนแรง และเราไม่เชื่อในรัฐไทย และก็ไม่เชื่อในขบวนการด้วย และเป็นขบวนการเยาวชนที่ยึดถือสาสน์ชัดเจนว่าเราต้องการจัดการตนเอง (self determination) และจัดการตัวเองอย่างมีสันติภาพ ซึ่งอันนี้จะเป็นพลังที่แข็งแกร่งมาก เพราะขณะนี้ กระบวนการการจัดการตนเองถูกดิสเครดิตด้วยความรุนแรงที่เป็นอยู่ หากคุณมีการเคลื่อนไหวการจัดการตัวเองที่ไร้ความรุนแรงก็จะเป็นสิ่งที่ต่างออกไป

กำลังโหลดความคิดเห็น