xs
xsm
sm
md
lg

‘ญี่ปุ่น’สร้างพันธมิตรชาติริมมหาสมุทรอินเดีย-แปซิฟิก‘เล็ง’ต้านจีน (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: ริชาร์ด จาวัด เฮย์ดาเรียน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Japan pivots south, with eye on China
By Richard Javad Heydarian
25/01/2013

นายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะ ผู้เพิ่งก้าวขึ้นรับตำแหน่งอีกสมัยหนึ่งหลังชนะการเลือกตั้งในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา กำลังเร่งทวีการรุกเกี้ยวพาประเทศต่างๆ เพื่อก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ของเหล่าประเทศริมมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งมีความกังวลวิตกเช่นเดียวกับตัวเขา เกี่ยวกับแสนยานุภาพทางนาวีที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วของจีน ทั้งนี้เป้าหมายสำคัญที่สุดของอาเบะนั้น อยู่ที่การจัดวาง “พื้นที่รูปเพชรแห่งความมั่นคงของเหล่าประเทศประชาธิปไตย” เชื่อมโยงอาณาเขตระหว่างออสเตรเลีย-อินเดีย-ญี่ปุ่น-มลรัฐฮาวาย ของสหรัฐอเมริกา ขึ้นมา การมุ่งมั่นที่จะ “ปักหมุด” ทางยุทธศาสตร์ทางด้านใต้ของแดนอาทิตย์อุทัยเช่นนี้ จะต้องส่งผลสะเทือนอย่างลึกซึ้งต่อความมั่นคงของภูมิภาคแถบนี้อย่างไม่ต้องสงสัย

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก*

มะนิลา– – ภายหลังจากประกาศตนและยึดมั่นอยู่ในแนวความคิดนิยมสันติภาพไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการทหาร มานานหลายสิบปี เวลานี้ญี่ปุ่นกำลังเริ่มต้นแสดงบทบาทใหม่ๆ ในกิจการทางทะเลของภูมิภาคแถบนี้ นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ผู้เพิ่งก้าวขึ้นรับตำแหน่งอีกสมัยหนึ่งหลังชนะการเลือกตั้งในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ได้เปิดฉากการรุกเกี้ยวพาประเทศต่างๆ ไปทั่วทั้งมหาสมุทรแปซิฟิก โดยที่ออสเตรเลีย, อินเดีย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, และเวียดนาม คือประเทศซึ่งโตเกียวกำลังมีความมุ่งมั่นเป็นพิเศษที่จะหาทางจับมือร่วมเป็นพันธมิตร เพื่อต่อต้านคัดค้านจีนซึ่งแสดงท่าทียืนกรานแข็งกร้าวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

อาเบะประกาศเอาไว้แล้วว่าจะทบทวนแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันซึ่งยังมีเนื้อหามุ่งเชิดชูแนวความคิดนิยมสันติภาพของญี่ปุ่น, ปรับปรุงเพิ่มพูนขีดความสามารถในการจับมือเป็นพันธมิตรทางด้านความมั่นคงกับสหรัฐฯ, และบุกเบิกนำร่องในการจัดตั้งสิ่งที่เรียกขานว่า “พื้นที่รูปเพชรแห่งความมั่นคงของเหล่าประเทศประชาธิปไตย” (democratic security diamond) ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญที่สุดในการสถาปนากลุ่มพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ของพวกประเทศริมมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกผู้มีความคิดทำนองเดียวกัน ในเรื่องความวิตกกังวลเกี่ยวกับแสนยานุภาพทางนาวีที่กำลังแผ่ขยายเพิ่มขึ้นทุกทีของแดนมังกร

ถ้าหากสามารถดำเนินการให้บังเกิดผลในทางปฏิบัติได้จริงๆ นโยบายของอาเบะก็จะอัดฉีดญี่ปุ่นให้เข้าสู่ใจกลางของการต่อสู้กันอย่างเข้มข้นยิ่งขึ้นทุกขณะในย่านแปซิฟิกระหว่างปักกิ่งกับวอชิงตัน เพื่อช่วงชิงฐานะเป็นผู้มีอำนาจอิทธิพลครอบงำทางทะเลในภูมิภาคแถบนี้ อีกทั้งยังจะก่อให้เกิดความห่วงใยใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจีน เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ญี่ปุ่นจะหวนกลับไปยึดมั่นลัทธิทหารมุ่งแผ่ขยายอำนาจด้วยกำลังเฉกเช่นในอดีตยุคก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

แท้ที่จริง เวลานี้ญี่ปุ่นก็ได้ยุติการปฏิบัติตามธรรมเนียมที่ทำๆ กันมาไปหลายๆ ประการแล้ว ทั้งด้วยการประกาศเพิ่มงบรายจ่ายทางด้านกลาโหมในปีงบประมาณหน้า (เมษายน 2013 – มีนาคม 2014) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี, [1] การจัดหาความช่วยเหลือทางทหารให้แก่กัมพูชาและติมอร์ตะวันออก, ตลอดจนการพิจารณาที่จะขายอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหาร เป็นต้นว่า เครื่องบินทะเล และเรือดำน้ำเทคโนโลยีก้าวหน้าชั้น โซริว (Soryu) ให้แก่พวกหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างเช่น เวียดนาม และออสเตรเลีย

**ภาวะทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไป**

ในอดีตหลายสิบปีที่ผ่านมา การเดินทางไปเยือนต่างแดนเที่ยวแรกภายหลังเข้าดำรงตำแหน่งของพวกผู้นำที่ได้รับการเลือกตั้งของญี่ปุ่น ย่อมมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่กรุงวอชิงตัน ปรากฏว่าคณะรัฐบาลอาเบะชุดใหม่นี้ เลือกที่จะให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกๆ แก่พวกหุ้นส่วนที่อยู่ทางตอนใต้ลงมาในมหาสมุทรแปซิฟิกในการออกเยี่ยมเยียนต่างประเทศครั้งปฐมฤกษ์ของพวกเขา (หมายเหตุผู้แปล – ตามรายงานข่าวทั้งสำนักข่าวต่างๆ นั้น อาเบะตอนแรกทีเดียวตั้งใจจะไปเยือนสหรัฐฯเป็นชาติแรก แต่เนื่องจากเดือนมกราคมปีนี้เป็นช่วงเวลาที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา มีกำหนดการแน่นขนัด โดยเฉพาะการเตรียมตัวเข้ารับตำแหน่งเป็นสมัยที่สองและจัดตั้งคณะรัฐบาลชุดใหม่ จึงไม่พร้อมที่จะต้อนรับ อาเบะจึงเบนเข็มการเดินทางออกนอกประเทศเที่ยวแรกของเขา มายัง 3 ชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กระนั้นก็ยังคงกล่าวได้ว่า เขาให้ความสำคัญเป็นอย่างมากแก่ภูมิภาคแถบนี้)

ในเดือนมกราคมนี้ อาเบะเดินทางเยือนอินโดนีเซีย, ไทย, และเวียดนาม ขณะที่ส่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลัง ทาโระ อาโสะ (Taro Aso) ไปพม่า และให้รัฐมนตรีต่างประเทศ ฟูมิโอะ คิชิดะ (Fumio Kishida) เยี่ยมเยียนออสเตรเลีย, บรูไน, ฟิลิปปินส์, และสิงคโปร์

เวลาเดียวกับที่การค้าระหว่างญี่ปุ่นกับจีนมีปริมาณลดฮวบลง จากที่มีปริมาณเท่ากับ 18.4% ของยอดส่งออกทั้งหมดของแดนอาทิตย์อุทัยในปี 2000 เหลือเพียง 11.2% ในปี 2011 นั้นเอง การส่งออกไปยังพวกชาติสมาชิกรายใหญ่ๆ ของสมาคมอาเซียน อันได้แก่ อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, ไทย, สิงคโปร์, และเวียดนาม กลับขยับสูงขึ้นจาก 9.7% เป็น 10.9% ทั้งนี้ตามตัวเลขในรายงานของสถาบันวิจัยญี่ปุ่น (Japan Research Institute) [2]

“ปัจจุบัน สภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก กำลังเกิดการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างคึกคัก” อาเบะกล่าวในระหว่างแถลงอธิบายเหตุผลที่เขาเลือกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นจุดหมายปลายทางในการเยือนต่างแดนครั้งแรกของเขา “ในช่วงเวลาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ การมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับบรรดาประเทศอาเซียน ย่อมจะมีคุณูปการต่อสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค และมีคุณูปการต่อผลประโยชน์แห่งชาติของญี่ปุ่นด้วย”

แดนอาทิตย์อุทัยนั้นกำลังเตรียมที่จะเพิ่มบทบาทอย่างสำคัญมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในพม่า ญี่ปุ่นกำลังกลายเป็นชาติแถวหน้าในการเข้าไปลงทุนทางด้านอุตสาหกรรมขนาดใหญ่โตในประเทศนั้น ซึ่งกำลังเปิดเสรีมากขึ้นและกำลังค่อยๆ ก้าวออกมาจากการอยู่ในความอุปถัมภ์อุ้มชูของจีนที่ดำเนินมายาวนานหลายทศวรรษ โดยหันมาเกี่ยวข้องมีปฏิสัมพันธ์กับฝ่ายตะวันตกเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ บริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นอย่าง สุมิโตโม คอร์เปอเรชั่น (Sumitomo Corporation), มิตซูบิชิ คอร์เปอเรชั่น (Mitsuibishi Corporation), และ มารูเบนิ คอร์เปอเรชั่น (Marubeni Corporation) กำลังจะเข้าไปถือหุ้นรวม 49% ในเขตเศรษฐกิจพิเศษมูลค่า 12,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งตั้งอยู่ตรงท่าเรือน้ำลึกติลาวา (Thilawa Port) ชานนครย่างกุ้ง นอกจากนั้น บริษัทของญี่ปุ่นยังเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างจริงจังในโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อื่นๆ ในพม่าอีกด้วย

สำหรับในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางทางอุตสาหกรรมการผลิตในภูมิภาคแถบนี้ของญี่ปุ่น โดยที่มีบริษัทต่างๆ มากกว่า 8,000 แห่งตั้งสำนักงานอยู่ในแดนสยาม ก็จะได้รับผลประโยชน์จากกระแสการลงทุนระลอกใหม่ ทั้งนี้พวกกิจการอุตสาหกรรมการผลิตขนาดกลางและขนาดเล็กจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ กำลังมองหาทางโยกย้ายการปักหลักตั้งฐานนอกประเทศญี่ปุ่นของพวกเขากันใหม่ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้บังเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ประเทศจีนกำลังมีกระแสชาตินิยมมุ่งต่อต้านแดนอาทิตย์อุทัย รวมทั้งอัตราค่าจ้างในแดนมังกรยังขยับสูงขึ้นไม่หยุดหย่อนจนคุกคามและลิดรอนสร้างความเสียหายให้แก่ผลประโยชน์ของญี่ปุ่นในจีนแล้ว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กำลังมีแรงขับดันอันแรงกล้าให้ญี่ปุ่นลงมา “ปักหมุด” ทางยุทธศาสตร์ทางด้านใต้ของตนนั้น ยังมีข้อพิจารณาไตร่ตรองอย่างล้ำลึกในด้านภูมิยุทธศาสตร์อีกด้วย ดังจะเห็นได้ว่าแดนอาทิตย์อุทัยมีจุดมุ่งหมายที่จะพลิกฟื้นความสัมพันธ์ด้านการป้องกันกับพวกหุ้นส่วนเก่าๆ ในภูมิภาคแถบนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อการล้อมกรอบยับยั้งความแข็งกร้าวของแดนมังกร

เวียดนามเป็นประเทศหนึ่งที่อยู่ในข่ายนี้ ฮานอยนั้นมีกรณีพิพาทอันขมขื่นอยู่กับปักกิ่งในเรื่องการแย่งชิงกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนต่างๆ ในทะเลจีนใต้ ดังนั้นจึงมีท่าทีให้ความสนใจมากกับการส่งเสริมเพิ่มพูนสายสัมพันธ์ด้านความมั่นคงที่ตนมีอยู่กับพวกมหาอำนาจแปซิฟิกไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, หรือ ออสเตรเลีย นอกจากนั้น การที่ เลเลืองมีง (Le Luong Minh) อดีตรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศเวียดนาม ก้าวขึ้นรับตำแหน่งเลขาธิการคนใหม่ของสมาคมอาเซียนตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นไป ก็ดูจะเป็นลางบอกเหตุล่วงหน้าว่า จะมีการผลักดันอย่างแข็งขันกระตือรือร้นยิ่งขึ้นเพื่อให้ใช้แนวทางที่ชาติสมาชิกอาเซียนรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนเข้าไปแก้ไขกรณีพิพาทต่างๆ ในทะเลจีนใต้

เป็นที่จับตามองกันมานานว่า จีนนั้นมีจุดอ่อนฉกรรจ์ในเรื่องการทำสงครามต่อต้านเรือดำน้ำ (anti-submarine warfare หรือ ASW) ในช่วงหลังๆ มานี้มีรายงานว่ากองทัพเรือเวียดนามกำลังพิจารณาที่จะซื้อเรือดำนำชั้นโซริว ของญี่ปุ่น อันเป็นเรือดำน้ำใช้เครื่องยนต์ดีเซลซึ่งมีเทคโนโลยีหลบหลีกเรดาร์ ถ้าหากจัดซื้อได้สำเร็จ ก็จะเป็นการเพิ่มพูนสมรรถนะทางด้าน ASW ของฮานอยขึ้นมาอย่างน่าตื่นใจทีเดียว

ไม่ใช่มีแต่เวียดนาม ทางด้านอินโดนีซีย ซึ่งมีเศรษฐกิจขนาดมหึมาและจัดเป็นผู้นำอย่างไม่เป็นทางการของสมาคมอาเซียน ก็กำลังยกระดับและขยายความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงแบบทวิภาคีกับพวกมหาอำนาจแปซิฟิกรายใหญ่ๆ ทุกรายเช่นกัน พร้อมๆ กับที่พยายามสำรวจหาลู่ทางการทูตต่างๆ เพื่อแก้ไขคลี่คลายกรณีพิพาทต่างๆ ในทะเลจีนใต้ ในระยะปีหลังๆ มานี้ จาการ์ตามีบทบาทอันแข็งขันในการผลักดันการจัดทำแนวปฏิบัติ (guidelines) ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น สำหรับระเบียบปฏิบัติ (code of conduct) ว่าด้วยทะเลจีนใต้ของสมาคมอาเซียน

เมื่อปีที่แล้ว ตอนที่สมาคมอาเซียนตกลงไปในความสับสนอลหม่าน สืบเนื่องจากกัมพูชาผู้เป็นพันธมิตรของจีน ใช้ฐานะความเป็นประธานสมาคมอาเซียนในตอนนั้นของตน สกัดกั้นความพยายามในการจัดตั้งกลไกแก้ไขข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ระดับภูมิภาคขึ้นมา ปรากฏว่าอินโดนีเซียก็ได้ผลักดันข้อเสนอริเริ่ม “หลักการพื้นฐาน ๖ ข้อของอาเซียนว่าด้วยทะเลจีนใต้” (ASEAN’s Six-Point Principles on the South China Sea) จนเป็นที่ยอมรับของทุกชาติสมาชิกสมาคมอาเซียน (และทำให้ยังรักษาสืบต่อแนวทางอาศัยภูมิภาคอาเซียนอย่างเป็นกลุ่มก้อนมาแก้ไขคลี่คลายข้อพิพาทต่างๆ ในทะเลจีนใต้เอาไว้ได้ -ผู้แปล) ดังนั้น อาเบะย่อมมองเห็นว่าอินโดนีเซียคือพันธมิตรโดยธรรมชาติและมีอิทธิพลสูงของตน ยิ่งกว่านั้นแดนอิเหนายังกำลังค่อยๆ กลายเป็นจุดหมายปลายทางในการลงทุนแห่งสำคัญแห่งหนึ่งสำหรับพวกกิจการอุตสาหกรรมการผลิตของญี่ปุ่นอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม สำหรับญี่ปุ่นแล้ว บางทีฟิลิปปินส์นั่นแหละที่น่าจะเป็นหุ้นส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีความคิดคล้ายคลึงกับตนเองมากที่สุด แดนตากาล็อกก็เฉกเช่นเดียวกับแดนอาทิตย์อุทัย ตรงที่ต่างเป็นประเทศประชาธิปไตยเสรีและเป็นพันธมิตรชนิดที่ตีตราผูกมัดกันด้วยสนธิสัญญาอยู่กับสหรัฐฯ นอกจากนั้น มะนิลายังยืนอยู่แถวหน้าในการผลักดันให้ภูมิภาคแถบนี้รับรองสนับสนุนความพยายามของสหรัฐฯที่จะแสดงความมุ่งมั่นผูกพันทางทหารอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นในเอเชีย-แปซิฟิกเพื่อยืนยันรักษาเสรีภาพทางการเดินเรือในอาณาบริเวณแปซิฟิกตะวันตก ตลอดจนยืนอยู่แถวหน้าในการผลักดันให้จัดทำแนวทางแก้ไขปัญหาระดับภูมิภาคภายใต้การอุปถัมภ์ของอาเซียน เพื่อเป็นกลไกรูปแบบพหุภาคีที่จะนำมาใช้จัดการกับกรณีพิพาทด้านอาณาเขตต่างๆ ที่ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง

ระหว่างที่รัฐมนตรีต่างประเทศคิชิดะของญี่ปุ่นเยือนฟิลิปปินส์เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา รัฐมนตรีต่างประเทศ อัลเบิร์ต เดล โรซาริโอ (Albert Del Rosario) ของฟิลิปปินส์ แถลงว่า “พวกเรามีความจำเป็นด้วยเช่นกันที่จะต้องหาทางให้สามารถรับมือได้ ในเมื่อเสรีภาพในการเดินเรือได้รับความกระทบกระเทือนในทางลบ” โดยที่เห็นได้ชัดเจนว่าเขากำลังหมายถึงความเคลื่อนไหวอย่างก้าวร้าวของจีนในอาณาบริเวณที่กำลังเกิดการพิพาทกันอยู่ ทางด้านอาคันตะกะชาวญี่ปุ่นของเขาก็แสดงความเห็นพ้องไปในทางเดียวกัน โดยบอกว่า “ในเมื่อสภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลง มันก็มีความจำเป็นสำหรับพวกเราในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศที่จะต้องแลกเปลี่ยนแสดงความรับรู้ถึงสถานการณ์” ซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลงไปเหล่านี้

อันที่จริงแล้ว ฟิลิปปินส์ก็มีประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์เฉกเช่นเดียวกับจีน ในการแบกรับความเลวร้ายของลัทธิทหารมุ่งแผ่ขยายอำนาจด้วยกำลังของญี่ปุ่นในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยที่มีชาวฟิลิปปินส์นับไม่ถ้วนต้องตกเป็นเหยื่อความทารุณโหดเหี้ยมของญี่ปุ่น และนครหลวงมะนิลาก็ตกอยู่ในสภาพวิบัติยับเยินเป็นอันมากสืบเนื่องจากสงครามดังกล่าว แต่ปรากฏว่า เดล โรซาริโอ กลับออกมากล่าวในปีที่แล้วว่า เขาสนับสนุนให้ญี่ปุ่นผละออกมาจากรัฐธรรมนูญฉบับเชิดชูแนวคิดนิยมสันติภาพในปัจจุบัน และหันมาติดอาวุธเสริมเขียวเล็บแสนยานุภาพของตนขึ้นใหม่อีกคำรบหนึ่ง เรื่องนี้จึงเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าเวลานี้ฟิลิปปินส์กำลังเกิดความกังวลใจเกี่ยวกับจีนเพิ่มมากขึ้นถึงขนาดไหนแล้ว

“พวกเรากำลังมองหาสิ่งที่จะเป็นปัจจัยในการถ่วงดุลในภูมิภาคนี้ และญี่ปุ่นก็สามารถที่จะเป็นปัจจัยในการถ่วงดุลที่ทรงความสำคัญมากปัจจัยหนึ่งได้” รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์กล่าวเช่นนี้ในปีที่แล้วระหว่างการให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์[3]

นอกเหนือจากเรือตรวจการณ์จำนวน 12 ลำที่รัฐบาลญี่ปุ่นชุดที่แล้วสัญญาที่จะมอบให้แก่ฟิลิปปินส์แล้ว[4] โตเกียวยังกำลังอยู่ระหว่างการสรุปแพกเกจความช่วยเหลือก้อนใหม่แก่ทางการมะนิลาในขั้นสุดท้าย ซึ่งน่าจะเป็นข้อตกลงความช่วยเหลืออันเกี่ยวข้องกับความมั่นคงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้เคยให้แก่ประเทศใดๆ โดยที่จะมีการบริจาคเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง (cutter) จำนวน 10 ลำมูลค่าประมาณ 12 ล้านดอลลาร์ ให้แก่กองกำลังรักษาชายฝั่งของฟิลิปปินส์ (Philippine Coast Guard) ด้วย[5]

ริชาร์ด จาวัด เฮย์ดาเรียน เป็นนักวิเคราะห์ด้านกิจการต่างประเทศซึ่งพำนักอยู่ในมะนิลา เขาเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Economics of the Arab Spring: How Globalization Failed the Arab World, Zed Books, 2013 ซึ่งมีกำหนดออกวางจำหน่ายในเร็วๆ นี้ ทั้งนี้สามารถติดต่อกับเขาทางอีเมลได้ที่ jrheydarian@gmail.com
(อ่านต่อตอน2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
‘ญี่ปุ่น’สร้างพันธมิตรชาติริมมหาสมุทรอินเดีย-แปซิฟิก‘เล็ง’ต้านจีน (ตอนจบ)
นายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะ ผู้เพิ่งก้าวขึ้นรับตำแหน่งอีกสมัยหนึ่งหลังชนะการเลือกตั้งในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา กำลังเร่งทวีการรุกเกี้ยวพาประเทศต่างๆ เพื่อก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ของเหล่าประเทศริมมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งมีความกังวลวิตกเช่นเดียวกับตัวเขา เกี่ยวกับแสนยานุภาพทางนาวีที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วของจีน ทั้งนี้เป้าหมายสำคัญที่สุดของอาเบะนั้น อยู่ที่การจัดวาง “พื้นที่รูปเพชรแห่งความมั่นคงของเหล่าประเทศประชาธิปไตย” เชื่อมโยงอาณาเขตระหว่างออสเตรเลีย-อินเดีย-ญี่ปุ่น-มลรัฐฮาวาย ของสหรัฐอเมริกา ขึ้นมา การมุ่งมั่นที่จะ “ปักหมุด” ทางยุทธศาสตร์ทางด้านใต้ของแดนอาทิตย์อุทัยเช่นนี้ จะต้องส่งผลสะเทือนอย่างลึกซึ้งต่อความมั่นคงของภูมิภาคแถบนี้อย่างไม่ต้องสงสัย
กำลังโหลดความคิดเห็น