เอเจนซีส์ - ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ตกลงใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน (QE) อย่างชนิดสุดขั้วต่อไปอีก พร้อมระบุว่าถึงแม้จีดีพีของไตรมาสส่งท้ายปีที่แล้ว ติดลบเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ภาวะถดถอยในปี 2009 แต่เป็นเพียง “การชะงักงัน” ชั่วคราว โดยสาเหตุประการหนึ่งมาจากสภาพอากาศอันรุนแรงผิดปกติ
ในคำแถลงที่ออกมาเมื่อวันพุธ (30 ม.ค.) ภายหลังการประชุมเป็นเวลา 2 วัน คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (เอฟโอเอ็มซี) ยังประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ระดับต่ำเตี้ยติดดินที่ 0.00-0.25% ต่อไปตามความคาดหมาย ด้วยจุดประสงค์ที่จะกดอัตราดอกเบี้ยระยะยาวให้ต่ำลง เพื่อส่งผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
เกี่ยวกับภาวการณ์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ คำแถลงของเฟดระบุว่า การเติบโตของกิจกรรมเศรษฐกิจในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมากำลังอยู่ในภาวะชะงักงัน ส่วนใหญ่เป็นผลพวงจากสภาพอากาศและปัจจัยชั่วคราวอื่นๆ ขณะที่ยังคงปรากฏสัญญาณการฟื้นตัว เช่น การใช้จ่ายของผู้บริโภคและการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของภาคธุรกิจต่างก็เพิ่มขึ้น และตลาดที่อยู่อาศัยก็ฟื้นตัวดีขึ้น
อย่างไรก็ดี แม้สถานการณ์ในตลาดการเงินโลกเริ่มคลี่คลาย ทว่ายังคงมีความเสี่ยงขาลงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจแดนอินทรี โดยเอฟโอเอ็มซีตั้งข้อสังเกตว่า แม้การจ้างงานเติบโตขึ้นในระดับพอประมาณ แต่อัตราว่างงานยังสูงถึง 7.8%
ในภาวการณ์เช่นนี้ คำแถลงระบุว่า เฟดจะยังคงดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินอย่างสุดขั้ว ด้วยการรับซื้อพันธบัตรและหลักทรัพย์ที่ค้ำประกันด้วยสินเชื่อบ้าน เพิ่มจากเดือนละ 40,000 ล้านดอลลาร์เป็น 85,000 ล้านดอลลาร์นับจากเดือนธันวาคมที่ผ่านมาต่อไป ทั้งนี้จนกว่าตลาดแรงงานและเศรษฐกิจจะสามารถฟื้นตัวอย่างยั่งยืน
เฟดคาดว่า ด้วยนโยบายที่เหมาะสม เศรษฐกิจของประเทศจะเติบโตในระดับพอประมาณ และอัตราว่างงานก็จะลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป พร้อมย้ำเป้าหมายที่ระบุไว้ในเดือนธันวาคมว่า จะหันไปใช้นโยบายการเงินคุมเข้ม ถ้าหากอัตราเงินเฟ้อที่ขณะนี้อยู่ต่ำกว่า 2% เกิดพุ่งขึ้นแตะระดับ 2.5% และอัตราว่างงานลดลงต่ำกว่า 6.5%
การคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจล่าสุดเช่นนี้บ่งชี้ความเชื่อมั่นที่มีมากขึ้นกว่าในเดือนธันวาคม ซึ่งเฟดย้ำว่า ยังกังวลว่าเศรษฐกิจจะไม่เติบโตพอกระตุ้นการจ้างงานอย่างเข้มแข็งอหากปราศจากนโยบายสนับสนุน
ในวันพุธเช่นกัน กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยข้อมูลว่า เศรษฐกิจของแดนอินทรีในไตรมาส 4 ปีที่แล้ว เติบโตติดลบ 0.1% ซึ่งถือเป็นการหดตัวเป็นครั้งแรกนับจากที่เกิดภาวะถดถอยในปี 2009 โดยมีสาเหตุมาจากการปรับลดงบประมาณการทหารก้อนใหญ่ ขณะที่ภาคธุรกิจลดปริมาณสินค้าคงคลังเนื่องจากกังวลกับวิกฤตหน้าผาการคลัง รวมทั้งสภาพอากาศ โดยเฉพาะพายุเฮอร์ริเคน “แซนดี้” ที่ถล่มชายฝั่งด้านตะวันออกเฉียงเหนือช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
กระนั้น กระทรวงพาณิชย์สำทับว่า ตลอดปี 2012 เศรษฐกิจยังคงขยายตัวได้ 2.2% เพิ่มขึ้นจาก 1.8% ในปี 2011
ทางด้านพวกนักวิเคราะห์มองแง่ดีว่า แม้เศรษฐกิจไตรมาสส่งท้ายปีที่ผ่านมาติดลบ แต่การใช้จ่ายของผู้บริโภคกลับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า เช่นเดียวกับการลงทุนในอุปกรณ์และซอฟต์แวร์ของภาคธุรกิจ รวมทั้งการลงทุนในภาคที่อยู่อาศัย
จิม โอซัลลิแวน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไฮ ฟรีเควนซี อิโคโนมิกส์ ชี้ว่า แม้เป็นการชะลอตัวลงครั้งแรกตั้งแต่ภาวะถดถอยในปี 2009 แต่ดูจะเป็นการสะท้อนให้เห็นความอ่อนแอมากจนเกินจริง เมื่อพิจารณาการเติบโตอย่างเข้มแข็งมากในไตรมาส 3 ที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวถึง 3.1%
ไนเจล กอลต์ นักเศรษฐศาสตร์จากไอเอชเอส โกลบัล อินไซต์ขานรับว่า คงเป็นการผิดพลาดร้ายแรงหากจะมองว่า จีดีพีที่ลดลงในไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับฐานชั่วคราวจากการลดการใช้จ่ายทางการทหารและสินค้าคงคลัง ว่าเป็นสัญญาณของภาวะถดถอย ในทางกลับกัน ข้อมูลที่กำลังจะตามออกมาน่าจะบ่งชี้การเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเขาคาดว่าจีดีพีไตรมาสแรกปีนี้จะเติบโตกระเตื้องขึ้นอยู่ที่ 2%