ผู้เชี่ยวชาญแบงก์คาด “บาทแข็ง” เป็นผลในช่วงสั้น เตือนนักลงทุนระมัดระวังต่างชาติขายทำกำไร 2 เด้ง ทั้ง “หุ้น-ค่าเงิน” เผยช่วง 3 ปีที่ผ่านมา หุ้นไทยพุ่ง 250% ขณะที่เม็ดเงินไหลเข้าจะไม่มากอย่างที่คาดไว้แล้ว
นางอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารแสตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (ไทย)กล่าวว่า การแข็งค่าของเงินบาทไทยในช่วงนี้ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจาก นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ออกมาแสดงความเห็นว่า จะยังไม่ยุติการใช้มาตรการคิวอี ซึ่งก็เป็นผลทางจิตวิทยาทำให้นักลงทุนกล้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม เงินทุนที่ไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งไทยนั้น น่าจะส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น โดยเงินบาทไทยมีแนวรับสำคัญอยู่ที่ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และเชื่อว่าระดับการแข็งค่าไม่น่าจะเกิน 29.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
นางอุสรา กล่าวว่า สาเหตุที่มองเช่นนั้น เพราะช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา มีเงินทุนต่างชาติไหลเข้าลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ค่อนข้างมาก และทำให้สินทรัพย์ต่างๆ โดยเฉพาะดัชนีตลาดหุ้นใน 3 ประเทศหลัก คือ ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ปรับตัวขึ้นแรง ประกอบกับค่าเงินบาทช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาก็ค่อนข้างนิ่ง ดังนั้น การที่เงินบาทกลับมาแข็งค่าเร็วในช่วงนี้ นักลงทุนต่างชาติจึงอาจอาศัยโอกาสนี้ขายทำกำไรในสินทรัพย์ต่างๆ ออกมาก่อนได้
โดยก่อนหน้านี้ เงินบาทค่อนข้างนิ่งมานาน 4-5 เดือน และการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาเร็วอาจกระตุ้นให้นักลงทุนต่างประเทศขายทำกำไรสินทรัพย์ในประเทศออกมาก่อน เพื่อล็อกกำไร เชื่อว่านักลงทุนบางกลุ่มที่ลงทุนไว้ก่อนหน้านี้ ก็คงรอดูจังหวะการขายออกเช่นกันเพราะเขาได้กำไร 2 ต่อ จากทั้งราคาหุ้นที่ปรับขึ้น และค่าเงินบาทที่แข็งค่า
สำหรับดัชนีหุ้นไทยตั้งแต่ปี 2552 ปรับตัวขึ้นมากว่า 250% โดยปรับขึ้นจากระดับ 400 จุด มาอยู่ที่ระดับ 1,400 จุด ขณะที่ตลาดหุ้นอินโดนีเซียในช่วงเวลาเดียวกัน ปรับตัวขึ้นราว 207% หรือปรับขึ้นจากระดับ 1,300 จุด มาอยู่ที่ระดับ 4,000 จุด ส่วนตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ปรับตัวขึ้นประมาณ 233% หรือปรับขึ้นจากระดับ 1,800 จุด มาอยู่ที่ระดับ 6,000 จุดในปัจจุบัน
“การปรับขึ้นอย่างร้อนแรงของดัชนีตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น หากเทียบกับตลาดหุ้นของประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในกลุ่มเอเชียเหนือ อย่าง เกาหลีใต้ ไต้หวัน และจีน จะเห็นว่า ดัชนีหุ้นของกลุ่มประเทศเหล่านี้ยังปรับขึ้นไปไม่สูงมากนัก จึงมีโอกาสที่เงินทุนต่างชาติจะไหลเข้าไปยังกลุ่มประเทศเหล่านี้มากกว่า”
นางอุสรา ยังเชื่อว่า ค่าเงินบาท และตลาดหุ้นไทยในระยะต่อไปมีโอกาสที่จะผันผวนอย่างมาก จึงอยากแนะนำให้นักลงทุนใช้ความระมัดระวังในการลงทุน ขณะเดียวกัน ก็อยากฝากว่า สำหรับผู้ที่ต้องใช้เงินสกุลต่างประเทศนั้น ช่วงนี้ถือเป็นจังหวะเหมาะที่จะซื้อเก็บเอาไว้ ทั้งเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ และเงินเยนของญี่ปุ่น
สำหรับในส่วนของเงินเยนนั้น จะเห็นว่าหลังจากรัฐบาลใหม่ของญี่ปุ่นประกาศนโยบายเงินเยนอ่อนค่า ทำให้เงินเยนเทียบเงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่องจาก 40 บาทต่อ 100 เยนในอดีต มาอยู่ที่ 34 บาทต่อ 100 เยนในปัจจุบัน หรืออ่อนค่าลงไปราว 16% ซึ่งโอกาสที่เงินเยนจะอ่อนค่าไปมากกว่านี้นั้น มองว่าน่าจะมีน้อย และมีโอกาสที่เงินเยนจะกลับมาแข็งได้แม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะประกาศนโยบายที่ชัดเจนออกมา ซึ่งเป็นผลจากนักลงทุนขายทำกำไรจากข่าวดังกล่าว (Sell on fact) เรียบร้อยแล้ว