xs
xsm
sm
md
lg

ไม่เหมือน‘ยุโรป’ใน‘เอเชีย’นั้นบาดแผลสงครามยังยากลบเลือน (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: ฟรานเชสโก ซิสซี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Faded war wounds still raw in Asia
By Francesco Sisci
17/01/2013

ในยุโรปนั้น มรดกตกทอดของสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเย็น ได้จางหายไปแล้วภายหลังเยอรมันตะวันออกและเยอรมันตะวันตกรวมเป็นประเทศเดียวกัน แต่ในเอเชีย ความแตกต่างทางอุดมการณ์ที่เคยเป็นตัวการทำให้เกิดการสู้รบและความขัดแย้งเหล่านี้ขึ้นมา ถึงแม้พร่าเลือนลงเรื่อยๆ ทว่าก็กลับแปรสภาพไปสู่ความเป็นปรปักษ์กันในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ เนื่องจากการเติบโตของเอเชียในปัจจุบันถูกสร้างขึ้นมาบนประเด็นปัญหาระดับภูมิภาคเดิมๆ ตลอดจนรอยแผลเป็นต่างๆ ที่ยังไม่เคยมีการแก้ไขคลี่คลาย ด้วยเหตุนี้ จีนจึงต้องตัดสินใจว่า จะยอมปล่อยใจเดินตามความเกลียดชังที่ดำเนินมาในประวัติศาสตร์ หรือว่าจะตัดขาดผละออกจากเส้นทางเดินแห่งสงคราม

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

ในการศึกษาวิเคราะห์ดูว่า มรดกตกทอดของสงครามโลกครั้งที่ 2 และของสงครามเย็น มีผลกระทบอย่างไรต่อพวกประเทศทางยุโรปและชาติแถบเอเชียในทุกวันนี้ หนทางเดียวที่จะให้เกิดความเป็นธรรมก็คือผู้เขียน (ฟรานเชสโก ซิสซี) ซึ่งเป็นชาวอิตาเลียน จะต้องเริ่มต้นการวิเคราะห์ด้วยประเทศอิตาลี ประเทศนี้เป็นสมาชิกรายที่ 3 และรายที่อ่อนแอที่สุดในบรรดาชาติอักษะ (Axis nations) ซึ่งเป็นฝ่ายปราชัยในสงครามโลกครั้งที่ 2 กระนั้นก็ตาม อิตาลีก็โผล่พ้นออกจากมหายุทธนาการคราวนั้นโดยที่ยังคงอวดอ้างว่า ตนเองเป็นผู้ชนะ อย่างน้อยๆ ก็สักครึ่งหนึ่งแหละ

ในปี 1943 ตอนที่การสู้รบในสมรภูมิยุโรปของสงครามโลกครั้งที่สองยังไม่ทันจบสิ้นลง ครึ่งหนึ่งของประเทศอิตาลีได้เปลี่ยนข้าง หันไปเป็นพันธมิตรกับฝ่ายอเมริกันและจัดตั้งพลพรรคทำการสู้รบแบบกองโจรขึ้นมา มายาภาพที่เชื่อถือกันแพร่หลายในดินแดนรูปรองเท้าบู๊ตแห่งนี้ก็คือ กองกำลังจรยุทธ์เหล่านี้มีส่วนร่วมในการทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรประสบชัยชนะอย่างเด็ดขาดต่อฮิตเลอร์ แต่ความเป็นจริงมีอยู่ว่า อิตาลีในตอนนั้นรู้สึก (และปัจจุบันก็ยังคงรู้สึก) ว่าตนเองอ่อนแอปวกเปียกในทั้งสองข้างของประวัติศาสตร์ เราอยู่ในสภาพอ่อนแอเมื่อตอนจับมือเป็นพันธมิตรกับพวกเยอรมัน (เรามีส่วนทำให้พวกเขาประสบความปราชัย) และเราก็ยังคงอยู่ในสภาพอ่อนแออีกนั่นแหละเมื่ออยู่ในฐานะเป็นพันธมิตรกับพวกอเมริกัน (เราไม่เคยมีส่วนร่วมอย่างสำคัญอะไรจริงจังในชัยชนะของพวกเขาหรอก)

อิตาลีเหมือนกับไม่มีกระดูกสันหลัง และยังคงรู้สึกราวกับเป็นองคาพยพที่เหลวเละซึ่งพร้อมที่จะขายตัวเองให้แก่ฝ่ายที่เป็นภัยคุกคามมากที่สุด ด้วยเหตุนี้เอง อิตาลีจึงเลิกคิดที่จะดำเนินนโยบายการต่างประเทศของตนเอง และยอมคล้อยตามคนอื่น ในตอนแรกก็คล้อยตามอเมริกัน จากนั้นก็คล้อยตามพวกยุโรป และลงท้ายก็คล้อยตามทั้งคู่

ทว่าสำหรับเยอรมนีแล้วกลับแตกต่างออกไป ประเทศนี้โผล่พ้นออกจากสงครามโลกครั้งที่ 2 พร้อมกับแนวความคิดที่ว่าตนเองกระทำผิดต่อโลกและต่อตัวเอง ในเวลาต่อมา เยอรมนีแม้ยืนหยัดแน่วแน่อยู่กับเหล่าพันธมิตรแห่งสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization หรือ NATO) แต่ก็ยืนกรานปฏิเสธไม่ขอเข้าไปดำเนินการเสี่ยงภัยทางทหารอะไรอีกภายหลังจากที่สงครามเย็นสิ้นสุดลงแล้ว แดนดอยช์มีท่าทีระมัดระวังตัวเหลือเกินในกรณีสงครามอิรักเมื่อปี 2003 และปฏิเสธไม่ยอมเข้าไปร่วมวงในลิเบียในปี 2011 เยอรมนีต้องถูกบีบคั้นบังคับอย่างหนักหน่วงกว่าที่จะยินยอมเข้าแทรกแซงในยุโรปกรณีวิกฤตสกุลเงินยูโร บางทีอาจจะด้วยความหวาดผวาที่ว่า ความทะเยอทะยานในอดีตของตนจะหวนกลับมานำพาให้ตนเองมีความคิดขย้ำกลืนกินทวีปยุโรปทั้งทวีปอีกคำรบหนึ่ง

กรณีของญี่ปุ่นก็ดูจะเป็นเรื่องที่ผิดแผกออกไปอีก ทว่าที่สำคัญแล้วเนื่องมาจากบริบททางภูมิภาคที่แตกต่างออกไป

ในยุโรปนั้น สงครามเย็นสิ้นสุดลงแล้วเมื่อปี 1989 ด้วยการพังครืนของกำแพงเบอร์ลิน และติดตามมาอย่างใกล้ชิดด้วยการล่มสลายของสหภาพโซเวียต แต่ในเอเชีย ลัทธิคอมมิวนิสต์มีเส้นทางเดินที่ผิดแผกไปจากในยุโรป

ในช่วงทศวรรษ 1970 จีนจับมือเป็นพันธมิตรกับอเมริกาทำการต่อต้านโซเวียต และอีก 1 ทศวรรษต่อมา แดนมังกรได้ทำการปฏิรูปทางการตลาด ซึ่งก็คือการเปิดประตูระบายน้ำออกมาต้อนรับการทะลักทลายไหลเข้าของลัทธิทุนนิยมที่เคยเป็นสิ่งต้องห้าม เส้นทางสายนี้ยังมีเวียดนามอีกรายที่เดินตามอย่าง โดยที่เวียดนามได้ถูกพวกโซเวียตทอดทิ้งในช่วงทศวรรษ 1990 สำหรับเสาหลักเสาที่ 3 ของลัทธิคอมมิวนิสต์ในเอเชีย และก็เป็นเสาต้นที่จุดไฟแห่งสงครามเย็นขึ้นในปี 1950 ด้วย นั่นคือ เกาหลีเหนือ ได้เลือกที่จะเดินไปในอีกปลายหนึ่งอย่างสุดโต่ง โดยที่ยังคงยึดมั่นอย่างเหนียวแน่นอยู่กับแนวทางสังคมนิยมอย่างเก่าๆ ของตน และกำลังทำตัวโดดเดี่ยวตนเองออกจากทุกผู้ทุกคน ทั้งเจ้านายเก่าและพันธมิตรเก่าของตน (จีนและรัสเซีย) และทั้งศัตรูเก่าของตน (ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ)

ด้วยการที่เยอรมันตะวันออกและเยอรมันตะวันตกรวมเป็นประเทศเดียวกันในปี 1990 มรดกตกทอดต่างๆ ของยุคสงครามเย็นก็ถูกลบเลือนไปในยุโรป ทว่าในเอเชียนั้น มรดกเหล่านี้ยังคงดำรงอยู่ เกาหลียังคงถูกแบ่งแยกเป็น 2 ประเทศ และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นอีกก็คือ ไต้หวันที่เป็นทุนนิยม ยังคงไม่สามารถที่จะเข้ากลืนกินจีน “แดง” แถมยังดูท่าจะทำเช่นนั้นไม่สำเร็จแน่ๆ ถึงแม้ความคิดจิตใจแบบนายทุนได้ลงหลักปักฐานอย่างมั่นคงแล้วในปักกิ่ง

เมื่อกาลเวลาผันผ่านไปไม่หยุดยั้ง ในเอเชีย ความวิตกกังวลในทางภูมิรัฐศาสตร์และในทางประวัติศาสตร์ ค่อยๆ ทวีความสำคัญเหนือการแบ่งแยกผิดแผกทางอุดมการณ์ (หรือกระทั่งการมีสายสัมพันธ์ผูกพันกันทางอุดมการณ์) เวียดนามซึ่งทำการสู้รบกับอเมริกาอยู่เป็นเวลานานนับสิบปี เมื่อเร็วๆ นี้ได้ตัดสินใจที่จะอ้าแขนต้อนรับสหรัฐฯ ผู้เป็นอดีตศัตรูของตน สืบเนื่องจากความหวาดกลัวผู้ที่เป็นศัตรูเก่าแก่ยิ่งกว่านั้นของตน อันได้แก่จีน ซึ่งยังคงมีฐานะเป็นพี่น้องร่วมอุดมการณ์กับตนเองอยู่แท้ๆ ในเวลาเดียวกัน เกาหลีใต้ที่เป็นทุนนิยม และเป็นปราการแห่งการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากวอชิงตันให้รอดชีวิตพ้นจากการถูกเกาหลีเหนือครอบครองในช่วงทศวรรษ 1950 กำลังคัดค้านต้านทานแนวความคิดที่ให้พวกเขาจับมือกับญี่ปุ่นที่เป็นทุนนิยมเหมือนกัน ทว่าก็เป็นอดีตเจ้านายยุคอาณานิยมที่ตนเองแสนจะชิงชัง ทั้งนี้เพื่อร่วมกันต่อต้านจีน “คอมมิวนิสต์”

ในเอเชีย มรดกของสงครามเย็นกำลังเลื่อนไถลเข้าไปอยู่ในท่ามกลางประวัติศาสตร์ยุคโบร่ำโบราณและยังไม่ได้รับการแก้ไขคลี่คลายของภูมิภาคนี้ ขณะที่ในยุโรปนั้น ความเป็นศัตรูกันระหว่างเยอรมนี, ฝรั่งเศส, และสหราชอาณาจักร ซึ่งได้ก่อให้เกิดสงครามครั้งแล้วครั้งเล่ามาเป็นเวลา 300 ปี ได้ลบเลือนลับหายไปแล้ว แต่ในเอเชีย แม้กระทั่งมรดกตกทอดจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ยังสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนบนแผนที่แสดงอาณาเขตของชาติต่างๆ

ญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้ปราชัยในสงครามโลกครั้งที่ 2 เวลานี้ยังคงเป็นผู้ครอบครองพื้นที่ต่างๆ อย่างเช่น หมู่เกาะทาเกชิมะ (Takeshima) ซึ่งเป็นที่รู้จักเรียกขานกันในเกาหลีว่า หมู่เกาะดอคโด (Dokdo), และหมู่เกาะเซงกากุ (Senkaku) ที่เรียกกันในจีนว่าหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ (Diaoyu) โดยที่ประเทศผู้ชนะในสงครามอย่าง เกาหลี และจีน ก็อ้างกรรมสิทธิ์ในดินแดนเหล่านี้เช่นกัน โดยเฉพาะกรณีพิพาทหมู่เกาะเซงกากุ/เตี้ยวอี๋ว์ จัดเป็นมรดกของสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างแท้จริง เนื่องจากสหรัฐฯที่เป็นผู้ยึดครองญี่ปุ่นในช่วงหลังสงครามนั่นเอง เป็นผู้มอบหมายหมู่เกาะนี้ให้อยู่ในการควบคุมของแดนอาทิตย์อุทัย

แน่นอนทีเดียว่าประเทศทั้งสองยังเผชิญกับประเด็นปัญหาต่างๆ ที่ค้างคามิได้รับแก้ไขจากยุคสงครามเย็นอีกด้วย และดังนั้นการประกาศอ้างกรรมสิทธิ์ของพวกเขาในกรณีนี้สามารถถือได้ว่าเป็นเรื่องไม่สู้สำคัญอะไรนัก กระนั้น ญี่ปุ่นก็ยังคงมีกรณีพิพาทที่ไม่ได้รับการคลี่คลายอยู่กับรัสเซีย ซึ่งได้ประกาศสงครามกับญี่ปุ่นในช่วงจวนเจียนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 อยู่แล้ว และได้เข้ายึดครองดินแดนบางส่วนของพวกหมู่เกาะทางตอนเหนือของญี่ปุ่น ซึ่งเวลานี้โตเกียวยังคงประกาศอ้างกรรมสิทธิ์อยู่ เป็นต้นว่า หมู่เกาะคูริล (Kuril) โตเกียวนั้นรู้สึกว่ามอสโกเป็นฝ่ายผิด ที่ยังบุกเข้ามาโจมตีและยึดครองดินแดนทางตอนเหนือของตน ในเวลาที่แดนอาทิตย์อุทัยกำลังยืนไม่ไหวต้องทรุดลงมาคุกเข่าอยู่แล้ว และวอชิงตันก็ทราบดีว่าในแง่หนึ่งญี่ปุ่นน่าที่จะมีส่วนทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรมีชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่ 2

ถ้าหากว่าในปี 1941 โตเกียวเข้าโจมตีสหภาพโซเวียตจากทางด้านตะวันออก ในเวลาเดียวกับที่เบอร์ลินเข้าโจมตีจากทางด้านตะวันตก มอสโกก็อาจจะล้มครืน และสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็อาจจะพัฒนาไปในเส้นทางที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง

ฟรานเชสโก ซิสซี เป็นคอลัมนิสต์ให้กับ อิล โซเล 24 โอเร (Il Sole 24 Ore) หนังสือพิมพ์รายวันในอิตาลี สามารถที่จะติดต่อเขาทางอีเมล์ได้ที่ fsisci@gmail
(อ่านต่อตอน2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น