xs
xsm
sm
md
lg

‘อัฟกานิสถาน’หาทางดึงดูด‘การลงทุน’

เผยแพร่:   โดย: ฟารังกิส นาจิบุลเลาะห์ และ ซาริฟ นาซาร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Afghanistan tries to lure investments
By Farangis Najibullah and Zarif Nazar
04/01/2013

เงินทุนกำลังไหลทะลักหนีหายออกจากอัฟกานิสถาน ในขณะที่กองทหารต่างชาติตระเตรียมถอนตัวออกจากประเทศนี้ ทางการอัฟกานิสถานพยายามเสนอมาตรการจูงใจจำนวนหนึ่งเพื่อดึงดูดให้มีเม็ดเงินเคลื่อนย้ายกลับเข้ามา ทว่านอกเหนือจากความหวาดกลัวเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยแล้ว ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นที่มีอยู่อย่างกว้างขวางก็ถือเป็นข้อกังวลที่สำคัญอีกประการหนึ่ง และด้วยเหตุนี้ จึงแทบไม่มีเหตุผลเอาเสียเลยที่จะเชื่อว่าข้อเสนอเหล่านี้จะสามารถโน้มน้าวยั่วยวนพวกนักลงทุนภายนอกได้

กองทหารต่างชาติกำลังตระเตรียมเพื่อถอนตัวออกไปจากประเทศนี้ เงินทุนก็กำลังหนีหายกันอย่างทะลักทลาย และมันเป็นหน้าที่ของรัฐบาลอัฟกานิสถานที่จะต้องหยุดยั้งเรื่องหลัง

เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว กระทรวงการคลังอัฟกานิสถานได้จัดทำร่างแพกเกจมาตรการจูงใจที่มุ่งสร้างความมั่นใจให้แก่บรรดาบริษัทและบุคคลต่างๆ ว่า การลงทุนของพวกเขาในอัฟกานิถานจะมีความปลอดภัย หลังจากกองทหารของพวกชาติตะวันตกถอนตัวออกไปหมดซึ่งคาดหมายไว้ว่าจะเกิดขึ้นในปี 2014
หลักการต่างๆ ของร่างกฎหมายฉบับนี้ จะเสนอให้รัฐสภาลงมติกันในเดือนกุมภาพันธ์ ทั้งนี้มาตรการจูงใจสำคัญๆ ที่จัดเตรียมกันขึ้นมา มีดังเช่น พวกที่มาลงทุนในอัฟกานิสถานจะได้รับการลดหย่อนภาษีเป็นจำนวนมากในช่วง 2 ปีข้างหน้า ตลอดจนได้รับสิทธิซื้อที่ดินในเงื่อนไขราคาที่เหมือนเป็นการยกให้เปล่าๆ

นาจิบุลเลาะห์ มานาไล (Najibullah Manalai) ที่ปรึกษาคนหนึ่งของรัฐมนตรีคลัง โอมาร์ ซาคิลวัล (Omar Zakhilwal) บอกว่า การลงทุนที่อัฟกานิสถานต้องการมากที่สุด ได้แก่ การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมการผลิต, เหมืองแร่, และการเกษตร

ตามตัวเลขข้อมูลของธนาคารอัฟกัน เนชั่นแนล แบงก์ (Afghan National Bank) ในปีที่ผ่านมา มีเงินทุนถูกเคลื่อนย้ายออกไปจากอัฟกานิสถานอย่างน้อยที่สุด 4,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แนวโน้มเช่นนี้เห็นกันว่ามีสาเหตุสำคัญมาจากความหวาดกลัวในเรื่องที่จะมีความไม่ปลอดภัยและการทุจริตคอร์รัปชั่นเพิ่มมากขึ้น ภายหลังการถอนทหารต่างชาติเสร็จสิ้นลงในปี 2014

มานาไล พยายามลดทอนน้ำหนักของผลกระทบจากการถอนตัวออกไปขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization หรือ NATO) ซึ่งจะมีต่อเศรษฐกิจของอัฟกานิสถาน แต่เขายอมรับว่าแพกเกจมาตรการจูงใจที่กำลังเตรียมการกันอยู่นี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะ “ลดผลกระทบกระเทือนทางเศรษฐกิจดังกล่าวให้เหลือน้อยที่สุด”

“เราไม่คิดว่ามันจะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่โตอะไรหรอก แต่สิ่งที่เรากำลังกังวลกันอยู่ก็คือการคาดเดากะเก็งเรื่องอย่างนี้ในสื่อมวลชนมากกว่า” เขากล่าว “การคาดเดากะเก็งกันดังกล่าวอาจนำไปภาวะเศรษฐกิจทรุดตัวได้อย่างง่ายดาย ด้วยเหตุนี้จุดมุ่งหมายของเราจึงอยู่ที่การต้านทานการคาดเดากะเก็งกันดังกล่าว พร้อมกันนั้นก็ดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามายังอัฟกานิสถานในช่วงระยะเวลา 2 ปีข้างหน้า ซึ่งถือเป็นช่วงระยะเวลาที่มีความอ่อนไหว”

**มาตรการกระตุ้นจูงใจนักลงทุน**

ตามการเปิดเผยของโฆษกกระทรวงการคลัง วาฮิด ตอฮิดี (Wahid Tawhidi) เป้าหมายอยู่ที่การโน้วน้าวชักชวนให้บริษัทหน่วยงานหรือบุคคลต่างๆ ยินดีที่จะเข้ามาลงทุนในเศรษฐกิจที่กำลังอ่อนแอปวกเปียกของประเทศ อย่างต่ำที่สุดรายละ 1 ล้านดอลลาร์

“นักลงทุนจะได้รับการยกเว้นและลดหย่อนภาษีตลอดจนอากรศุลกากรเป็นเวลา 10 ปีจากนี้ไป” ตอฮิดี แจกแจง โฆษกผู้นี้กล่าวด้วยว่า บริษัทที่เข้ามาลงทุนยังจะได้รับที่ดินซึ่งในทางเป็นจริงแล้วก็คือเท่ากับไม่ต้องจ่ายเงินอะไรเลย นอกจากนั้นยังจะได้กระแสไฟฟ้าใช้ในราคาเพียงส่วนหนึ่งของระดับราคาปัจจุบัน

“ยิ่งกว่านั้น ในกรณีที่บางบริษัทต้องการที่จะเข้ามาลงทุนแต่ยังมีเงินทุนไม่เพียงพอ เราก็จะช่วยเหลือพวกเขาให้สามารถกู้ยืมเงินจากธนาคารของรัฐทั้ง 2 แห่ง นั่นคือ อัฟกัน เนชั่นแนล แบงก์ และ ปัชตานี ตูจาราตี แบงก์ (Pashtani Tujarati Bank)” โฆษกกระทรวงการคลังอธิบาย “จะมีการจัดสรรเงินจำนวน 500 ล้านดอลลาร์มาใช้เพื่อวัตถุประสงค์นี้ เราจะสามารถให้บริษัทเหล่านี้มากู้ยืมเงินโดยคิดภาษีในอัตราต่ำและอัตราดอกเบี้ยก็ต่ำ แล้วนำเงินเหล่านี้ไปลงทุนในเศรษฐกิจของอัฟกานิสถาน”

ในขณะที่เจ้าหน้าที่ทางการมองว่า มาตรการจูงใจนักลงทุนเหล่านี้ในระยะยาวแล้วจะสามารถเพิ่มพูนความมั่งคั่งให้แก่ท้องพระคลังของแผ่นดินได้ ทว่าไม่ใช่ทุกๆ คนหรอกที่เห็นตามการมองโลกแง่ดีของกระทรวงการคลังซึ่งวาดหวังว่า แพกเกจเช่นนี้จะดึงดูดนักลงทุน

“อัฟกานิสถานมีปัญหาใหญ่มากอยู่ 2 อย่างที่เป็นตัวขับไล่ผลักไสนักลงทุนออกไป ซึ่งก็คืออัฟกานิสถานเต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่น และการที่ไม่มีความมั่นคงปลอดภัย” นี่เป็นความเห็นของ อาซารัคช์ ฮาฟิซี (Azarakhsh Hafizi) แห่งหอการค้าและอุตสาหกรรมอัฟกานิสถาน (Afghan Chamber of Commerce and Industries)

ทั้งนี้อัฟกานิสถานติดอันดับ 1 ใน 3 ประเทศที่มีการทุจริตคอร์รัปชั่นสูงที่สุดในโลก ในดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น (Corruption Perceptions Index) ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International)

“ถ้าหากนักลงทุนต้องติดสินบนเพื่อการดำเนินงาน และต้องจ่ายค่ารักษาความปลอดภัยเพิ่มเติมขึ้นมาเนื่องจากมีเหตุโจมตีมีการลักพาตัวอยู่เสมอแล้ว มันก็จะทำให้พวกเขาต้องเสียเงินเพิ่มมากขึ้นในการอยู่ประกอบกิจการที่นี่” ฮาฟิซี บอก

**ครึ่งหนึ่งของจีดีพี**

รัฐบาลอัฟกานิสถานมีปัญหามากในเรื่องการจัดการรักษาความปลอดภัย แม้กระทั่งการให้ความปลอดภัยแก่นักลงทุนต่างประเทศที่มีประวัติความเป็นมาใหญ่โตที่สุดและทรงความสำคัญที่สุดของพวกเขา

เมื่อปีที่แล้ว กลุ่มผู้ประกอบการเหมืองแร่ชาวจีนกลุ่มหนึ่งตัดสินใจถอนตัวออกจากอัฟกานิสถาน หลังจากพวกหัวรุนแรงอิสลามิสต์เข้าโจมตีเหมืองทองแดง อายนัค (Aynak) ในจังหวัดโลการ์ (Logar) ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศ ข้อตกลงให้สัมปทานทำเหมืองแห่งนี้แก่ กลุ่มโลหการแห่งประเทศจีน (China Metallurgical Group) เป็นเวลา 30 ปี ถือเป็นการลงทุนของธุรกิจภาคเอกชนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอัฟกานิสถานเมื่อตอนที่มีการตกลงเห็นชอบกันในปี 2007

รัฐบาลตั้งความหวังเอาไว้อย่างสูงว่า จะมีการลงทุนทำนองเดียวกันนี้เข้าสู่ภาคพลังงานและภาคเหมืองแร่ที่มีโอกาสทำกำไรงามๆ ของอัฟกานิสถาน โดยที่ประเทศนี้สามารถคุยได้ว่า มีสินแร่ทองแดง, เหล็ก, ทองคำ, รวมทั้งแหล่งสำรองของน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอยู่ในปริมาณสูง มานาไลก็ชี้ว่า เป้าหมายที่ทางการอัฟกานิสถานวางเอาไว้ก็คือ รายรับที่เกิดจากการลงทุนในภาคเหล่านี้ในที่สุดแล้วจะเป็นตัว “สร้างผลผลิตประมาณครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของอัฟกานิสถาน”

นาซิรุดดิน ชานซับ (Nasiruddin Shansab) ประธานบริษัทอัฟกานิสถาน-เซ็นทรัล เอเชีย ทรานส์เนชั่นแนล คอมพานี แอลแอลซี (Afghanistan-Central Asia Transnational Company LLC) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในสหรัฐฯ กล่าวยืนยันว่า ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในอัฟกานิสถาน ตลอดจนที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศนี้ จัดว่ามีศักยภาพอย่างยิ่งใหญ่มากสำหรับการลงทุน

อย่างไรก็ตาม นักธุรกิจผู้เกิดในอัฟกานิสถานผู้นี้ชี้ต่อไปว่า “ในบรรยากาศของภัยคุกคามด้านความปลอดภัยที่เกิดเหตุร้ายขึ้นมาเป็นประจำ และวัฒนธรรมเรื่องสินบนที่แพร่กระจายอย่างกว้างขวางฉาวโฉ่” อัฟกานิสถานจึงจะไม่ได้เห็นบริษัทใหญ่ๆ ของฝ่ายตะวันตก รีบเร่งแข่งขันกันเข้ามาลงทุนในประเทศนี้ในเร็ววันนี้อย่างแน่นอน

“การลดหย่อนภาษีตลอดจนมาตรการจูงใจนักลงทุนอย่างอื่นๆ มีอยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่ง ประเทศไหนๆ เขาก็เสนอกัน” ชานซับ กล่าว “อัฟกานิสถานควรที่จะรู้ว่า ตนเองนั้นกำลังแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกในการดึงดูดนักลงทุน”

พวกเจ้าหน้าที่อัฟกันยืนยันว่าพวกเขากำลังพยายามแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นกันอย่างทะมัดทะแมงอยู่แล้ว โดยที่ส่วนหนึ่งของการรรรงค์ต่อต้านการทุจริตฉ้อฉล ก็คือ การที่อัฟกานิสถานประกาศใช้สิ่งที่เรียกกันว่า กระบวนการทดสอบเพื่อการจ้างงานแบบอิงอยู่กับคุณธรรม ในเวลาที่จะบรรจุบุคลากรระดับหัวหน้าส่วนงานต่างๆ เข้าทำงานตามหน่วยงานภาครัฐ บุคลากรระดับนายอำเภอและรองผู้ว่าการจังหวัดจำนวนมากที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งเมื่อเร็วๆ นี้ ก็ต้องผ่านกระบวนการทดสอบดังกล่าว ซึ่งมีองค์กรตรวจสอบอิสระคอยติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด

ฮาฟิซี แห่งหอการค้าและอุตสาหกรรมอัฟกานิสถาน บอกว่า ประเทศนี้ยังจะต้องเดินกันไปอีกไกลทีเดียวในเรื่องการกำจัดปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น ถึงแม้เขาจะพูดให้กำลังใจด้วยว่า “แต่ผมจะไม่บอกหรอกว่านี่เป็นภารกิจที่ไม่มีทางเป็นไปได้”

สำหรับเรื่องการไม่มีความมั่นคงปลอดภัยนั้น ฮาฟิซีเชื่อว่า นักลงทุนจำนวนมากจะยังอยู่ต่อไป และเฝ้าติดตามว่าหลังจากปี 2014 แล้วสถานการณ์จะเป็นอย่างไร

รายงานนี้มาจาก เรดิโอ ฟรี ยุโรป/เรดิโอ ลิเบอร์ตี ( Radio Free Europe/Radio Liberty หรือ RFE/RL) ทั้งนี้ เรดิโอ ฟรี ยุโรป/เรดิโอ ลิเบอร์ตี เป็นกิจการกระจายเสียงที่ได้รับเงินทุนจากรัฐสภาสหรัฐฯ เพื่อเสนอข่าวสารข้อมูลและบทวิเคราะห์ไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันออก, เอเชียกลาง, และตะวันออกกลาง
กำลังโหลดความคิดเห็น