xs
xsm
sm
md
lg

สัมพันธ์จีน-สหรัฐฯน่าจะมี‘เซอร์ไพรซ์’ในปี 2013 (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: เบรนดัน โอไรลีย์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

US, China set for a year of surprises
By Brendan O'Reilly
04/01/2013

การเปลี่ยนถ่ายอำนาจที่บังเกิดขึ้นทั้งในสหรัฐฯและจีนเมื่อปี 2012 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้นำซึ่งกุมบังเหียนในแต่ละประเทศเป็นพวกที่มีแนวทางค่อนข้างสายกลาง แต่กระนั้นความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีที่ทรงความสำคัญที่สุดของโลกในปัจจุบัน ยังคงกำลังเพิ่มความตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ ยุทธศาสตร์ทางการทหารของสหรัฐฯซึ่ง “ปักหมุด” เน้นหนักอยู่ที่เอเชีย ตลอดจนการที่สหรัฐฯสนับสนุนญี่ปุ่นในกรณีพิพาทหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์/เซงกากุ มองดูโดดเด่นเตะตาว่าจะกลายเป็นสถานการณ์ที่อาจปะทุบานปลายร้ายแรงที่สุดในปี 2013 นี้ ทว่าเรายังควรคาดหมายว่าอาจจะได้เห็นการเดินนโยบายแบบน่าตื่นตะลึงอย่างอื่นๆ ด้วยจากทั้งสองฝ่าย

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

ทั้งสหรัฐฯและจีนต่างดำเนินการเปลี่ยนถ่ายอำนาจการนำในประเทศของตนสำเร็จเรียบร้อยแล้ว เวลานี้มหาอำนาจทั้งสองจึงสามารถเริ่มต้นพัฒนาความสัมพันธ์ของพวกเขาที่อยู่ในภาวะเคลื่อนไหวปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ภายใต้บรรยากาศแห่งการเมืองภายในประเทศที่ (ค่อนข้าง) มีเสถียรภาพได้แล้ว ในรอบปี 2012 ที่ผ่านมา พลวัตจีน-สหรัฐฯนี้ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญๆ หลายๆ ประการ โดยประการที่มองได้อย่างชัดเจนที่สุดย่อมได้แก่ ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯที่ “ปักหมุด” (pivot) เน้นหนักอยู่ที่เอเชีย ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้รับการประโคมป่าวร้องอย่างเอิกเกริก ดังนั้นในเวลานี้คณะผู้นำจีนจึงกำลังส่งเสียงดังมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อสถานการณ์ซึ่งพวกเขามองว่าเป็นการที่สหรัฐฯเข้ามาแทรกแซงยุ่มย่ามในบริเวณที่ถือเป็นพื้นที่หน้าบ้านทางยุทธศาสตร์ของแดนมังกร แนวโน้มใหญ่ๆ ในความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯเหล่านี้จะยังคงดำเนินต่อไปอีกในปี 2013 โดยที่น่าจะมีพัฒนาการบางประการที่อาจกลายเป็นปัจจัยสั่นคลอนเสถียรภาพบังเกิดขึ้นมาด้วย

ในส่วนของจีนนั้น การเปลี่ยนถ่ายอำนาจทางการเมืองภายในประเทศไม่ได้มีอะไรที่น่าตื่นตะลึงพลิกความคาดหมาย สี จิ้นผิง นั้นได้รับการวางตัวเป็นทายาทซึ่งจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมาหลายปีแล้ว มีสัญญาณที่ให้ความหวังในทางดีหลายๆ ประการด้วยว่า ตัว สี จิ้นผิง เองน่าที่จะมีความรู้สึกฉันมิตรต่อสหรัฐฯ จากการที่ในช่วงกลางทศวรรษ 1980 เขาเคยใช้เวลาอยู่ระยะหนึ่งไปพำนักและศึกษาเรียนรู้เรื่องการเกษตรของสหรัฐฯ ที่เมืองมัสคาไทน์ (Muscatine) มลรัฐไอโอวา

เวลาเดียวกัน การที่ผู้ออกเสียงในสหรัฐฯเลือก บารัค โอบามา ให้กลับมาครองอำนาจอีกสมัยหนึ่ง ก็ดูจะเป็นผลการเลือกตั้งซึ่งค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจสำหรับสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า มิตต์ รอมนีย์ ผู้ลงแข่งขันจากพรรครีพับลิกัน ได้รณรงค์หาเสียงโดยให้สัญญาว่า ถ้าหากเขาชนะ เขาก็จะตีตราจีนว่าเป็น “นักปั่นค่าเงินตรา” (currency manipulator) ตั้งแต่วันแรกที่เขาเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี อันเป็นการเปิดประตูสู่กระบวนการในการลงโทษเล่นงานทางการค้า ทั้งนี้หากเกิดความเคลื่อนไหวดังกล่าวขึ้นมาจริงๆ แล้ว ย่อมจะส่งผลกระทบกระเทือนอย่างสาหัสร้ายแรงต่อสายสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯทั้งทางเศรษฐกิจและทางการเมือง

แต่ถึงแม้มีพัฒนาการที่ดูผิวเผินแล้วน่าจะเป็นไปในทางบวกเหล่านี้ปรากฏขึ้นมาในสถานการณ์สายสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ เมื่อพิจารณาเบื้องลึกลงไปในความสัมพันธ์ทวิภาคีที่ทรงความสำคัญที่สุดของโลกนี้ กลับยังคงพบความตึงเครียดใหญ่ๆ ขยายตัวหยั่งรากลึกยิ่งขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ทางการทหารของสหรัฐฯที่ “ปักหมุด” เน้นหนักมายังเอเชีย และการที่อเมริกาหนุนหลังญี่ปุ่นในกรณีพิพาทช่วงชิงดินแดนหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์/เซงกากุ ถือว่าเป็นสิ่งที่กำลังทำให้เกิดการปีนเกลียวอย่างร้ายแรงและเปิดเผยมากขึ้นทุกที

แล้วสิ่งที่เพิ่มความซับซ้อนให้แก่แหล่งที่มาแห่งความตึงเครียดแหล่งใหม่ๆ เหล่านี้ ยังมีเรื่องที่ปักกิ่งกับวอชิงตันเห็นแตกต่างกันมายาวนานแล้วในเรื่องที่อเมริกาจะขายอาวุธให้แก่รัฐบาลของไต้หวัน จากสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดเหล่านี้ สถานการณ์จึงอยู่ในลักษณะที่เสมือนกับกำลังมีการจัดตั้งเวทีเตรียมไว้พรักพร้อม สำหรับห้วงเวลาแห่งการเผชิญหน้ากันมากขึ้น (และอย่างเปิดเผยมากขึ้นด้วย) ระหว่างสหรัฐฯกับจีนในปี 2013

**ความไม่พอใจในภูมิภาคเอเชีย **

ความตึงเครียดที่กำลังทวีความดุเดือดมากขึ้นเรื่อยๆ ในทะเลจีนตะวันออก เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งซึ่งทำให้เกิดการคาดการณ์ขึ้นมาว่า ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯจะอยู่ในภาวะปั่นป่วนรุนแรงในรอบปีใหม่นี้ ปัจจุบันทั้งจีนและญี่ปุ่นต่างกำลังเพิ่มการปรากฎตัวทางทหารทั้งภายในและบริเวณรอบๆ หมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์/เซงกากุ ที่สองประเทศพิพาทกันอยู่ ในช่วงสัปดาห์ท้ายๆ ของปี 2012 เครื่องบินขับไล่ของญี่ปุ่นหลายลำ ได้ประจันหน้ากับเครื่องบินตรวจการณ์ลำหนึ่งของจีนในบริเวณดังกล่าว โดยที่กระทรวงกลาโหมแดนมังกรยังคงแถลงยืนยันที่จะ “เฝ้าตรวจตราอย่างเต็มที่” ในพื้นที่ซึ่งพิพาทกันอยู่นี้ต่อไปไม่เลิกรา

ขณะเดียวกัน ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น ก็กำลังออกมาแสดงจุดยืนในเชิงรุกของแดนอาทิตย์อุทัยเพิ่มมากขึ้น ในการคัดค้านการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนพิพาทต่างๆ ตลอดจนความมุ่งมาดปรารถนาทั้งหลายในระดับภูมิภาคของแดนมังกร เพียงไม่กี่วันหลังจากเข้ารับตำแหน่ง อาเบะก็ได้โทรศัพท์ติดต่อพูดคุยกับผู้นำทั้งของเวียดนาม, รัสเซีย, อินเดีย, ออสเตรเลีย, อินโดนีเซีย, และอังกฤษ ประเทศเหล่านี้ทั้งหมดล้วนแต่อยู่รายล้อมจีน (ยกเว้นอังกฤษ ผู้เป็นพันธมิตรเก่าแก่ยาวนานของสหรัฐฯ) และต่างมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับอิทธิพลบารมีทั้งทางการเมือง, การทหาร, และเศรษฐกิจของแดนมังกรที่กำลังเบ่งบานขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวอาเบะเองกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-จีน กำลังกลายเป็นความท้าทายอันใหญ่โตที่สุดของศตวรรษที่ 21 ในทางด้านการทูตและด้านความมั่นคง ... ผมจะรื้อฟื้นสร้างความสัมพันธ์แห่งความไว้เนื้อเชื่อใจกันจากการจับมือเป็นพันธมิตรกันระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐฯขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง” [1]

จุดยืนใหม่ที่มีลักษณะเชิงรุกของญี่ปุ่นดังกล่าวนี้ มีผลโดยนัยอย่างมหาศาลต่อนโยบายของสหรัฐฯในภูมิภาคแถบนี้ ทั้งนี้เสาหลักเสาหนึ่งซึ่งค้ำยันการเข้ามาเกี่ยวข้องพัวพันอยู่ในเอเชียของสหรัฐฯก็คือสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันระหว่างอเมริกากับญี่ปุ่นนั่นเอง ปรากฏว่ารัฐบัญญัติงบประมาณรายจ่ายของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (National Defense Authorization Act) ฉบับล่าสุดที่เพิ่งผ่านการอนุมัติของรัฐสภาสหรัฐฯตอนสิ้นปีที่ผ่านมา ได้บรรจุมาตรา 2 มาตราซึ่งทรงความสำคัญอย่างมากต่อความสัมพันธ์จีน-อเมริกัน หนึ่งในมาตรานี้มีเนื้อความระบุว่า สหรัฐฯไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในกรณีพิพาททางดินแดนเหนือหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์/เซงกากุ แต่กระนั้นก็รับทราบว่าญี่ปุ่นเป็นผู้ควบคุมเหนือหมู่เกาะแห่งนี้ การใช้ภาษาเช่นนี้สามารถที่จะตีความต่อไปได้ว่า การปะทะกันใดๆ เพื่อช่วงชิงหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์/เซงกากุ อาจจะขยายตัวยกระดับกลายเป็นสงครามที่สู้รบกันอย่างเต็มขั้นระหว่างจีนฝ่ายหนึ่ง และญี่ปุ่นกับสหรัฐฯอีกฝ่ายหนึ่ง เพราะวอชิงตันนั้นต้องทำตามพันธกรณีในสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันและเข้าไปช่วยเหลือฝ่ายโตเกียว นี่ย่อมหมายความว่า ข้อพิพาทแย่งชิงหมู่เกาะร้างที่ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่แห่งนี้ สามารถที่จะบานปลายกลายเป็นการเริ่มต้นสงครามที่มีระบบเศรษฐกิจรายใหญ่ที่สุดอันดับ 1,2, และ 3 ของโลกเข้าทำการสู้รบกัน

มาตราอีกมาตราหนึ่งในรัฐบัญญัติงบประมาณรายจ่ายกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯฉบับล่าสุด ก็มีเนื้อความที่สร้างความเดือดดาลให้แก่ปักกิ่ง โดยระบุว่ารัฐสภาอเมริกันสนับสนุนการที่รัฐบาลจะขายเครื่องบินขับไล่ไฮเทคให้แก่ไต้หวัน ทั้งนี้ปักกิ่งมีทัศนะว่าการขายอาวุธใดๆ ก็ตามให้แก่ไต้หวัน คือการสนับสนุน “มณฑลกบฏ” แห่งนี้นั่นเอง และก็เป็นการแทรกแซงล่วงละเมิดความมั่นคงภายในของจีนอย่างโจ่งแจ้งอีกด้วย ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของฝ่ายอเมริกันคราวนี้ ซึ่งบังเกิดขึ้นในจังหวะเวลาที่ฝ่ายจีนมีความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้นกับญี่ปุ่น ได้รับการตีความในแดนมังกรว่าเป็นสัญญาณแสดงให้เห็นถึงการก้าวร้าวรุกรานของสหรัฐฯ ต้องชี้ให้เห็นกันอย่างชัดเจนในที่นี้ว่า มาตราทั้ง 2 ในรัฐบัญญัติงบประมาณร่ายจ่ายกระทรวงกลาโหมนี้ ไม่ได้มีข้อผูกพันทางกฎหมายให้ต้องดำเนินการในทางปฏิบัติใดๆ เพียงแค่เป็นการแสดงออกซึ่ง “จิตสำนึกของรัฐสภา” กระนั้นก็ตามที ความหมายเชิงสัญลักษณ์ของมันก็ไม่ได้หลุดรอดจากความสนใจของคณะผู้นำจีนเลย

บทบรรณาธิการ 2 ชิ้นเมื่อเร็วๆ นี้ในหนังสือพิมพ์ของทางการจีน ได้แสดงความโกรธเกรี้ยวต่อความเคลื่อนไหวเช่นนี้ของฝ่ายอเมริกัน ชิ้นหนึ่งซึ่งออกเผยแพร่ในสัปดาห์สุดท้ายของปี 2012 ในหนังสือพิมพ์ไชน่าเดลี่ (China Daily) ได้ประณามสิ่งที่หนังสือพิมพ์ฉบับนี้เรียกว่า การแทรกแซงของฝ่ายอเมริกันในภูมิภาคแถบนี้ โดยกล่าวว่า “การเข้ามาสอดแทรกจุ้นจ้าน (ของสหรัฐฯ) ในกรณีพิพาทหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ เป็นสิ่งที่สร้างความเสียหายให้แก่สันตภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค เนื่องจากมันจะเป็นการส่งเสริมทำให้ญี่ปุ่นฝ่ายขวาเพิ่มความกล้ามากขึ้น ... ทางเลือกที่ดีที่สุดในขณะนี้สำหรับประเทศทั้งสองนั้นอยู่ที่การประคับประคองบรรยากาศที่ดีในปัจจุบันสำหรับสายสัมพันธ์ทวิภาคีต่างๆ เอาไว้ แทนที่จะมากระตุ้นยั่วยุกันและกันด้วยประเด็นที่มีความอ่อนไหวทั้งหลาย” [2]

สำหรับบทบรรณาธิการชิ้นที่เผยแพร่หลังจากนั้นในฉบับภาษาอังกฤษของหนังสือพิมพ์เหรินหมินรึเป้า (People's Daily) นั้น มีเนื้อหาที่พูดอย่างตรงไปตรงมามากกว่าด้วยซ้ำ ในเรื่องที่ว่าฝ่ายจีนมองว่าสหรัฐฯมีเจตนารมณ์ที่มุ่งคัดค้านต่อต้านสาธารณรัฐประชาชนจีน บรรณาธิการชิ้นนี้เขียนเอาไว้ว่า “การที่อเมริกากำลังเคลื่อนไหวอย่างขาดไร้ซึ่งความสุขุมเช่นนี้ เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความสลับซับซ้อนของความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ไม่ว่าจีนจะเที่ยวย้ำยืนยันว่ามุ่งเดินไปบนเส้นทางแห่งการพัฒนาอย่างสันติ อีกทั้งแสดงให้เห็นถึงมิตรไมตรีในทางปฏิบัติอย่างใดก็ตามที สหรัฐฯก็ยังเคลือบแคลงสงสัยจีน สหรัฐฯนั้นมีประเพณีในการสร้างศัตรูในจินตนาการขึ้นมา และจีนก็ดูจะมีคุณสมบัติพร้อมสรรพสำหรับการเป็นศัตรูในจินตนาการของอเมริกาเมื่อพิจารณาจากทัศนะมุมมองในทางวัฒนธรรม, ประวัติศาสตร์, และสังคม อย่างไรก็ดี ศัตรูในจินตนาการนั้น พึงต้อง “จินตนาการ” ขึ้นมาอย่างมีเหตุมีผล และไม่เป็นการฉลาดเลยที่จะยักย้ายความเคลือบแคลงสงสัยทางยุทธศาสตร์ ให้กลายเป็นการเผชิญหน้ากันทางยุทธศาสตร์ [3]

เบรนดัน พี โอไรลีย์ เป็นนักเขียนและนักการศึกษาที่มาจากเมืองซีแอตเติล, สหรัฐอเมริกา แต่ปัจจุบันพำนักอยู่ในจีน เขาเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Transcendent Harmony

(อ่านต่อตอน2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น