xs
xsm
sm
md
lg

สงครามเมื่อ 50 ปีก่อนยังตามหลอนสายสัมพันธ์จีน-อินเดีย (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: เบรนดัน โอไรลีย์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Ghosts of ‘62 can't rest in peace
By Brendan O'Reilly
30/10/2012

การต่อสู้นองเลือดในสนามรบที่อยู่สูงที่สุดในโลกได้ผ่านพ้นไปครึ่งศตวรรษแล้ว สงครามช่วงสั้นๆ ระหว่างจีนกับอินเดียคราวนั้นยังคงถูกจดจำเอาไว้ด้วยความขมขื่นกันอยู่ในอินเดีย ขณะที่สาธารณชนชาวจีนส่วนใหญ่ลืมเลือนกันไปหมดแล้ว จากการที่พื้นที่ชายแดนซึ่งสู้รบแย่งชิงกันคราวนั้นโดยส่วนใหญ่ยังคงเป็นกรณีพิพาทกันอยู่จนถึงเวลานี้ และเพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่ทั้ง 2 รายนี้ก็ติดล็อกอยู่ในภาวะที่ต่างคนต่างสามารถสร้างความพินาศย่อยยับไปด้วยกันทั้งสองฝ่าย ดังนั้น พื้นฐานอันอุดมสมบูรณ์พรักพร้อมสำหรับการปรับปรุงยกระดับสายสัมพันธ์ของประเทศทั้ง 2 ทั้งในทางเศรษฐกิจ, การเมือง, และวัฒนธรรม จึงยังคงถูกปล่อยทิ้งให้สูญเปล่า

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

นอกเหนือจากความวิตกกังวลในแง่มุมทางภูมิรัฐศาสตร์แบบคลาสสิกมาตรฐานแล้ว ยังมีปัจจัยในด้านความหวาดกลัวที่จะเกิดภาวะไร้เสถียรภาพภายในประเทศหรือกระทั่งถูกแบ่งแยกเชือดเฉือนดินแดนออกไปอีกด้วย ทั้งอินเดียและจีนนั้นต่างก็เป็น “รัฐอารยธรรม” (civilization state) ด้วยกันทั้งคู่ นั่นก็คือประกอบด้วยกลุ่มชนต่างภาษาและต่างเชื้อชาติอยู่มากมายหลายหลาก แหล่งที่มาสำคัญที่สุดซึ่งทำให้แดนมังกรเกิดความบาดหมางกับแดนภารตะในเวลานี้ ได้แก่การที่อินเดียให้ความสนับสนุน ทะไลลามะ ผู้นำด้านจิตวิญญาณของทิเบต และรัฐบาลพลัดถิ่นของพระองค์ ซึ่งตั้งฐานอยู่ที่เมืองธรรมศาลา (Dharamsala) ทางตอนเหนือของอินเดีย ทิเบตเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนตอนในทางภาคตะวันตกของจีนซึ่งมีพรมแดนประชิดติดกับอินเดีย อาณาบริเวณแถบนี้มีพื้นที่กว้างขวางมากทีเดียว โดยที่ประชากรจำนวนมากเป็นพวกชนชาติส่วนน้อยซึ่งมักไม่สงบปกครองยาก ด้วยเหตุผลทั้งทางประวัติศาสตร์และทั้งทางภูมิรัฐศาสตร์ดังที่กล่าวมา รัฐบาลปักกิ่งยังคงอยู่ในอาการระแวดระวังอย่างสุดขั้วว่าจะมีภัยคุกคามใดๆ มาเชือดเฉือนแบ่งแยกดินแดนของตน โดยเฉพาะในภาคตะวันตก

ทางฝ่ายนิวเดลีนั้นเล่า ก็กำลังประสบกับภัยคุกคามจากภายในในรูปลักษณ์ต่างๆ หลายหลากเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในแคว้นแคชเมียร์, กองกำลังจรยุทธ์ลัทธิเหมาอิสต์, และพวกกบฎชาติพันธุ์ในบริเวณอันไกลโพ้นทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ล้วนแต่กำลังเป็นปัญหาท้าทายอำนาจอธิปไตยของนิวเดลี และเฉกเช่นเดียวกับที่อินเดียให้ความสนับสนุนทางการเมืองแก่ ทะไลลามะ ในอดีตที่ผ่านมาปักกิ่งก็เคยให้ความช่วยเหลือด้านการส่งกำลังบำรุงแก่กลุ่มกบฎติดอาวุธบางกลุ่มภายในอินเดียอยู่เหมือนกัน

การที่แดนภารตะและแดนมังกรต่างมีความวิตกห่วงใยในเชิงยุทธศาสตร์คล้ายคลึงกันเกี่ยวกับพื้นที่แถบเทือกเขาหิมาลัย เป็นเพียงหนึ่งในปริมณฑลอีกจำนวนมากที่ทั้งสองฝ่ายต่างมีความกังวลทำนองเดียวกันอย่างลึกล้ำ เป็นต้นว่า แดนภารตะและแดนมังกรต่างก็เป็นแหล่งกำเนิดและแหล่งสืบทอดของประเพณีวัฒนธรรมที่มีอายุเก่าแก่นับพันนับหมื่นปี แต่ทั้งสองประเทศยังคล้ายกันตรงที่ต่างมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วยิ่งในช่วง 20-30 ปีหลังมานี้ นอกจากนั้นปักกิ่งกับนิวเดลียังมีความกระตือรือร้นพอๆ กันในการก้าวเข้าไปสู่เวทีระดับโลกและประกาศอ้างฐานะอันถูกต้องชอบธรรมของพวกตนภายใต้ดวงอาทิตย์นี้หลังจากระยะเวลาหลายร้อยปีแห่งการถูกล่วงละเมิด การบริหารจัดการอย่างผิดพลาด และผ่านความทุกข์ยากลำบากของมนุษย์ในระดับเหลือเชื่อ

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีประวัติศาสตร์ของการขัดแย้งแข่งขันกันมายาวนาน แต่ในระยะ 10 ปีหลังนี้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียก็ได้กระเตื้องดีขึ้นอย่างมากมาย ในปี 2005 นายกรัฐมนตรี มานโมหัน ซิงห์ ของอินเดีย และนายกรัฐมนตรี เวิน เจียเป่า ของจีน ได้ร่วมกันลงนามในสนธิสัญญาฉบับหนึ่งซึ่งมีสาระสำคัญเพื่อการแก้ไขข้อพิพาททางชายแดนระหว่างกันอย่างสันติ และมุ่งหน้าดำเนินสายสัมพันธ์แบบที่เป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” ระหว่างการประชุมระดับผู้นำสุดยอดอันทรงสำคัญยิ่งยวดคราวนั้น จีนได้ประกาศรับรองอำนาจอธิปไตยของอินเดียเหนือ สิกขิม อดีตราชอาณาจักรเล็กๆ บนเทือกเขาหิมาลัยที่นิวเดลีผนวกกลืนกินมาเมื่อหลายสิบปีก่อน รวมทั้งปักกิ่งยังแสดงความสนับสนุนการที่อินเดียปรารถนาที่จะได้ฐานะการเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ทางด้าน มานโมหัน ซิงห์ ได้กล่าวยกย่องสรรเสริญลู่ทางความเป็นไปได้อันกว้างไกลไพศาลซึ่งจะเกิดขึ้นจากการจับมือเป็นหุ้นส่วนกันระหว่างแดนภารตะกับแดนมังกร โดยเขากล่าวว่า “อินเดียกับจีนสามารถที่จะร่วมมือกันปรับปรุงระเบียบโลกเสียใหม่”

พวกเขาย่อมสามารถที่จะส่งอิทธิพลเปลี่ยนแปลงระเบียบโลกได้จริงๆ เสียด้วย ทั้งนี้ถ้าหากไม่มีเรื่องสุดช็อกชนิดไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า บังเกิดขึ้นต่อมนุษยชาติเสียก่อนแล้ว จีนและอินเดียย่อมจะต้องกลายเป็นประเทศเจ้าของเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลกไปภายในสิ้นศตวรรษนี้ อันที่จริงความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างน่าประทับใจของพวกเขาก็กำลังเปลี่ยนแปลงดุลแห่งอำนาจทางเศรษฐกิจและทางการเงินของโลกให้เอนเอียงมาทางตะวันออกมากขึ้นๆ อยู่แล้ว ในฐานะของประเทศที่เศรษฐกิจกำลังก้าวผงาดขึ้นมาทว่าพลเมืองส่วนใหญ่ยังคงค่อนข้างยากจน นิวเดลีและปักกิ่งก็ได้แสดงออกซึ่งความสนับสนุนทางการเมืองให้แก่กันและกัน ในเรื่องการผลักดันให้เกิดข้อตกลงการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่มีเนื้อหาสาระเป็นผลดีต่อประเทศของพวกเขาทั้งสอง

เมื่อพิจารณาจากแง่มุมอื่นๆ ทางเศรษฐกิจ ทรัพยากรด้านเงินทุนจำนวนมหึมาซึ่งจีนครอบครองอยู่ในเวลานี้ สามารถที่จะนำมาลงทุนในโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานระดับยักษ์ๆ ที่อินเดียวาดหวังวางแผนเอาไว้ แล้วบังเกิดผลดีอันเป็นประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การค้าทวิภาคีระหว่างอินเดียกับจีนนั้น กำลังขยายตัวไปอย่างรวดเร็วมาก จนเวลานี้มีมูลค่าอยู่ในระดับเกือบๆ 75,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีแล้ว โดยที่จีนมีฐานะเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของอินเดียไปเรียบร้อยแล้วด้วย

พื้นฐานอันอุดมสมบูรณ์ซึ่งสามารถสร้างผลประโยชน์ร่วมกันได้อย่างมหาศาลดังกล่าวเหล่านี้ อาจจะยังไม่ถึงกับสามารถสยบกลบฝังความหวาดผวาเชิงภูมิรัฐศาสตร์เก่าๆ ไปเสียทั้งหมด การค้านั้นเป็นของดีก็จริง แต่ยังคงมีโอกาสความเป็นไปได้ที่ความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจรายยักษ์และกำลังเติบโตทั้ง 2 รายนี้ จะเกิดขาดสะบั้นลงอย่างทันทีทันควัน อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยใหม่ทางทหารประการหนึ่งในสมการจีน-อินเดีย ซึ่งน่าที่จะช่วยลบเลือนความหวาดผวาเก่าๆ เกี่ยวกับการถูกปิดล้อมทางทหารของแต่ละฝ่ายลงไปได้อย่างมากมาย

**ภาวะที่ต่างฝ่ายต่างทำลายกันให้ย่อยยับได้**

ปัจจัยใหม่ทางทหารดังกล่าวข้างต้น ได้แก่การที่อินเดียและจีนต่างบรรลุถึงภาวะที่ต่างฝ่ายต่างสามารถทำลายกันและกันให้พินาศย่อยยับได้อย่างแน่นอน (state of mutually assured destruction) ความสำเร็จของอินเดียในการทดสอบยิงขีปนาวุธนำวิถีข้ามทวีปแบบ “อัคนี 5” (Agni V) เมื่อเดือนเมษายนของปีนี้ หมายความว่าทั่วทุกพื้นที่ของประเทศจีนตกอยู่ในพิสัยทำการของขีปนาวุธทางยุทธศาสตร์ของอินเดียทั้งหมดแล้ว พัฒนาการเช่นนี้ ควบคู่ไปกับการที่อินเดียนำกองเรือดำน้ำซึ่งมีสมรรถนะในการโจมตีตอบโต้ทางนิวเคลียร์เข้าประจำการด้วยแล้ว ก็ทำให้แดนภารตะบรรลุถึงสมรรถนะการป้องปรามทางนิวเคลียร์ (nuclear deterrence) ต่อแดนมังกร ในระดับที่เชื่อถือไว้วางใจได้ ทั้งสองฝ่ายต่างทราบแล้วว่าต้องไม่มีสงครามจีน-อินเดียอีกครั้งหนึ่งเกิดขึ้นมา เพราะทั้งนิวเดลีและปักกิ่งต่างไม่สามารถรับประกันได้ว่าการสู้รบดังกล่าวจะไม่ขยายตัวยกระดับจนกลายเป็นการตอบโต้แลกหมัดกันด้วยอาวุธนิวเคลียร์เต็มขั้น

ดังที่ หม่า ลี่ แห่งสถาบันเพื่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศร่วมสมัยของประเทศจีน กล่าวเอาไว้ว่า “เป็นเรื่องที่ไม่ควรจินตนาการเลยว่ามหาอำนาจที่มีอาวุธนิวเคลียร์ 2 ราย จะทำการสู้รบกัน” [4] ความวิตกห่วงใยเกี่ยวกับการปิดล้อมทางภูมิรัฐศาสตร์ กลายเป็นแนวความคิดอันเร่อร่าล้าสมัยไปเลย เมื่อเจอกับตรรกะอันเหี้ยมเกรียมของภาวะที่ต่างฝ่ายต่างสามารถทำลายกันและกันให้พินาศย่อยยับได้อย่างแน่นอน

ภายหลังอินเดียประสบความสำเร็จในการทดสอบยิงขีปนาวุธ อัคนี 5 ในเดือนเมษายน กระทรวงการต่างประเทศจีนก็ได้แสดงท่าทีรอมชอมอย่างชัดเจนเมื่อพูดถึงการยกระดับสมรรถนะทางด้านขีปนาวุธนำวิถีของแดนภารตะนี้ หลิว เหวินหมิน (Liu Wenmin) โฆษกของกระทรวงพูดถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า “จีนและอินเดียต่างก็เป็นชาติกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ เราไม่ได้เป็นคู่แข่งกันแต่เป็นหุ้นส่วนกัน ... เราเชื่อว่าทั้งสองฝ่ายควรที่จะทะนุถนอมภาวการณ์อันดีในปัจจุบันซึ่งได้มาด้วยความยากลำบาก และทำงานอย่างหนักต่อไปเพื่อธำรงความร่วมมือกันอย่างฉันมิตรเชิงยุทธศาสตร์ และสร้างคุณูปการในทางบวกให้แก่การรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคแถบนี้” [5]

คำพูดเช่นนี้ต้องถือว่าเป็นถ้อยคำฉันมิตรและมุ่งมองการณ์ไกลเป็นพิเศษทีเดียว เมื่อออกมาจากชาติที่เป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์คู่แข่ง

เพราะว่าจีนกับอินเดียจะต้องไม่ทำสงครามกันอีก พวกเขาจึงแทบไม่มีทางเลือกอื่นอีกนอกจากจะต้องร่วมมือกัน และถ้าหากทั้งสองฝ่ายต่างลงมือดำเนินการโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวไกลแล้ว ก็มีศักยภาพอย่างมากมายที่จะสามารถเก็บเกี่ยวดอกผลซึ่งเป็นประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่ายร่วมกัน อันที่จริงแล้ว ปริมณฑลสำหรับความร่วมมือที่เพิ่มพูนขึ้นระหว่างประเทศที่มีพลเมืองมากที่สุดของโลก 2 รายนี้ มีขอบเขตกว้างไกลเกินกว่าอาณาบริเวณทางเศรษฐกิจและทางการเมืองแบบเดิมๆ เป็นอันมาก

ความเข้มแข็งที่อินเดียมีอยู่ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่แล้วคือสิ่งที่จีนยังคงอ่อนแออยู่ ขณะเดียวกัน สัมฤทธิผลในช่วงหลังๆ ของแดนมังกรก็เป็นภาพสะท้อนในกระจกของความล้มเหลวของแดนภารตะ ความสำเร็จอย่างน่าตื่นใจของจีนในการนำพาประชาชนชาวจีนส่วนข้างมากจำนวนมหาศาลเหลือเกิน ให้ข้ามพ้นจากภาวะยากจนสุดขีดในระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่ตัดแย้งกันอย่างรุนแรงกับการที่อินเดียยังคงไม่สามารถคลี่คลายแก้ไขปัญหาด้านทุโภชนาการและภาวะการไม่รู้หนังสืออย่างกว้างขวาง ความต้องการทางวัตถุอย่างยิ่งซึ่งดำรงอยู่ตามตัวเมืองใหญ่และชนบทต่างๆ ของอินเดียในปัจจุบัน อยู่ในระดับที่ห่างไกลเกินกว่าสิ่งที่พบเห็นกันอยู่ในจีนมากมายนักหนา

แต่ในอีกด้านหนึ่ง อินเดียทำได้ดีกว่าจีนมากในด้านการรักษาวัฒนธรรมประเพณีของตนเอง ชาวอินเดียส่วนข้างมากเวลานี้ยังคงนิยมชื่นชอบสวมใส่เครื่องแต่งกายตามประเพณียิ่งกว่าเสื้อผ้าแบบตะวันตก ภาพยนตร์บอลลีวู้ด และดนตรีป๊อปอินเดีย เป็นที่ป๊อปปูล่าร์มากในหมู่ผู้ชมผู้ฟังชาวต่างชาติ ขณะที่สินค้าส่งออกทางวัฒนธรรมร่วมสมัยของจีนส่วนใหญ่ที่สุดแล้วยังคงไม่ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจอะไรนัก ถึงแม้จีนทำได้ดีกว่าในเรื่องการสนองสิ่งจำเป็นทางวัตถุทั้งหลายทั้งปวงให้แก่ประชาชนของตน แต่อินเดียยังคงรักษาและพัฒนาวัฒนธรรมอันมีชีวิตชีวาให้ก้าวหน้าต่อไปจนสามารถดึงดูดความชมชอบจากผู้คนทั่วโลก

จีนกับอินเดียมีความเหมาะสมอย่างสมบูรณ์แบบที่จะพัฒนาความสัมพันธ์แบบคู่แข่งขันฉันมิตรขึ้นมา ทั้งสองชาติต่างมีอะไรมากมายที่จะเรียนรู้จากกันและกัน ประชาชนของพวกเขาจะได้รับประโยชน์อย่างใหญ่หลวงจากสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่กระเตื้องดีขึ้น และทัศนะมุมมองเชิงยุทธศาสตร์ซึ่งยอมรับถึงความพินาศย่อยยับที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนถ้าหากเกิดการสู้รบขัดแย้งกันด้วยอาวุธขึ้นมา บทเรียนแห่งความสำเร็จทางวัตถุของจีน สามารถที่จะช่วยยกระดับชาวอินเดียหลายร้อยล้านคนให้ก้าวพ้นออกจากภาวะยากจนสุดขีด ส่วนความสำเร็จทางด้านวัฒนธรรมของอินเดียก็สามารถที่จะใช้เป็นตัวอย่างเพื่อช่วยให้จีนเต็มเติมช่องโหว่ทางด้านการสร้างสรรค์และทางด้านจิตวิญญาณของตนเอง ถ้าหากเหล่าผู้นำของจีนและอินเดียสามารถที่จะตระหนักยอมรับถึงความหวังและความกลัวที่พวกเขาต่างมีอยู่ร่วมกัน ขณะเดียวกันที่สำรวจแสวงหาไปตามเส้นทางใหญ่อันกว้างขวางสายต่างๆ เพื่อให้เกิดผลดีร่วมกันแล้ว บางทีภูตผีปีศาจแห่งปี 1962 ก็จะสามารถพักผ่อนอย่างสันติได้เสียที

**หมายเหตุ**

[1] ดูเรื่อง India fully capable of defending itself: A K Antony, The Economic Times, Oct 19, 2012.
[2] ดูเรื่อง India war not likely: poll, Global Times, Oct 20, 2012.
[3] เรื่องเดียวกัน
[4] เรื่องเดียวกัน
[5] ดูเรื่อง India test launches Agni V long-range missile, BBC News, Apr 19, 2012.

เบรนดัน พี โอไรลีย์ เป็นนักเขียนและนักการศึกษาที่มาจากเมืองซีแอตเติล, สหรัฐอเมริกา แต่ปัจจุบันพำนักอยู่ในจีน เขาเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Transcendent Harmony
กำลังโหลดความคิดเห็น