xs
xsm
sm
md
lg

คลังมะกันระบุ “หยวน” ยังอ่อนเกิน แต่ “จีน” ไม่ได้ปั่นค่าเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุในรายงานล่าสุดเมื่อวันอังคาร (27) ว่า สกุลเงินหยวนของจีนยังคงอ่อนกว่าความเป็นจริงมาก แต่ไม่ถึงขั้นที่จะระบุว่าจีนปั่นค่าเงิน ท่าทีเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่า คณะรัฐบาลสหรัฐฯ ต้องการคงความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศผู้เป็นเจ้าหนี้ใหญ่ที่สุดของตนรายนี้ ควบคู่ไปกับการเดินหน้ากดดันให้พญามังกรเปลี่ยนแปลงนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่จะเป็นประโยชน์ต่ออเมริกา

ในฉบับล่าสุดของรายงานซึ่งรัฐสภากำหนดให้จัดทำขึ้นทุก 6 เดือน กระทรวงคลังสหรัฐฯ ตั้งข้อสังเกตว่า ค่าเงินหยวนแข็งขึ้น 9.3% เมื่อเทียบดอลลาร์และปรับค่าตามอัตราเงินเฟ้อนับจากเดือนมิถุนายน 2010 ขณะที่ยอดเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของจีนลดลงจากสถิติสูงสุด

กระทรวงการคลังยังระบุว่า จีนลดการแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราลงอย่างมากนับจากไตรมาส 3 ปี 2011 รวมทั้งผ่อนคลายการควบคุมเงินทุน กระนั้น ปักกิ่งยังต้องดำเนินการอีกหลายอย่างเพื่อให้หยวนแข็งค่าขึ้นตามความเป็นจริง เมื่อเทียบดอลลาร์และเงินตราสำคัญสกุลอื่นๆ

“จากพัฒนาการเหล่านี้ กระทรวงการคลังจึงสรุปว่า จีนไม่ได้ปั่นค่าเงิน กระนั้น มีหลักฐานชัดเจนว่า เงินหยวนยังมีค่าต่ำกว่าความเป็นจริงมาก” รายงานฉบับนี้ระบุ ซึ่งเท่ากับเป็นการตอกย้ำการประเมินก่อนหน้านี้ในรายงานฉบับเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ทางด้าน เท็ด ทรูแมน เจ้าหน้าที่กระทรวงคลังสมัยอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน และปัจจุบันทำงานให้กับสถาบัน ปีเตอร์สัน อินสติติวท์ ฟอร์ อินเตอร์เนชันแนล อิโคโนมิกส์ มองว่า อเมริกายังจำเป็นต้องจับตานโยบายค่าเงินของจีนต่อไป

ทั้งนี้ จีนเคยถูกกระทรวงคลังสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีว่าเป็นนักปั่นค่าเงินระหว่างปี 1992-1994

นอกจากนั้น ประเด็นว่าจีนปั่นค่าเงินหรือไม่ยังเป็นประเด็นสำคัญทางการเมือง และเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่าง 2 ประเทศซึ่งเป็นเจ้าของเศรษฐกิจใหญ่สุดอันดับ 1 และ 2 ของโลกในเวลานี้

ระหว่างการหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี มิตต์ รอมนีย์ ผู้สมัครจากรีพับลิกัน ประกาศจะตีตราจีนเป็นนักปั่นค่าเงินตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง เพื่อแสดงให้เห็นว่า ตนเป็นจอมทัพเศรษฐกิจที่เด็ดขาดกว่าประธานาธิบดีบารัค โอบามา

ธุรกิจและสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ มากมายร้องเรียนกันมานานว่า ปักกิ่งจงใจฉุดรั้งให้ค่าเงินหยวนต่ำเกินจริงเพื่อส่งเสริมการส่งออก และทำให้แรงงานอเมริกันต้องเป็นผู้สูญเสีย

ทว่า นานาชาติกำลังมองเห็นตรงกันมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนขณะนี้มีมูลค่าเกือบอยู่ในระดับเหมาะสมแล้ว หลังจากต่ำกว่าความจริงมาราว 10 ปี ตัวอย่างเช่นกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แสดงท่าทีอ่อนลงเกี่ยวกับเรื่องนี้ในรายงานเมื่อเดือนกรกฎาคม

สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนและนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบใหม่ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งผลให้เงินหยวนแข็งขึ้น กระนั้น แบงก์ชาติจีนยังควบคุมไม่ให้หยวนแข็งค่าหรืออ่อนลงเกิน 1% จากอัตราที่กำหนดในแต่ละวัน

ชาร์ลส์ ชูเมอร์ ผู้นำอันดับ 3 ของพรรคเดโมแครตในวุฒิสภาและขาประจำที่วิพากษ์นโยบายเงินหยวน ยังคงเรียกร้องว่า ถึงเวลาแล้วที่คณะรัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา จะเลิกใช้ไม้อ่อนและบีบให้ปักกิ่งเล่นตามกฎกติกาเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั้งหมด

ทว่า สภาเศรษฐกิจจีน-สหรัฐฯ ซึ่งเป็นตัวแทนบริษัทอเมริกันที่ทำธุรกิจกับจีน ยกย่องรายงานฉบับนี้ โดยมองว่า อัตราแลกเปลี่ยนส่งผลน้อยมากต่อดุลการค้าและการจ้างงานของสหรัฐฯ และวอชิงตันควรเดินหน้าในประเด็นสำคัญกว่ากับจีน เช่น ขจัดอุปสรรคการเข้าถึงตลาดและการยกระดับการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา

ขณะเดียวกัน รายงานของกระทรวงการคลังระบุว่า การแข็งค่าของเงินหยวนจะช่วยให้เศรษฐกิจจีนมีความสมดุลด้วยการเพิ่มอำนาจซื้อให้แก่ครัวเรือน พร้อมเรียกร้องให้จีนลดสัดส่วนทุนสำรองเงินตราต่างประเทศลง และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการแทรกแซงตลาดเงินตรา
กำลังโหลดความคิดเห็น