xs
xsm
sm
md
lg

‘จีน’ปรับตัวรับ‘วิกฤต’กระทบไปถึง‘นโยบายต่างประเทศ’ (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: เบรนดัน โอไรลีย์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

China’s shake-up to shape foreign policy
By Brendan O'Reilly
10/10/2012

ในขณะที่จีนกำลังเตรียมการสำหรับการเปลี่ยนถ่ายคณะผู้นำแบบยกชุดซึ่งกระทำกันทุกสิบปีครั้งอยู่นั้น ก็ต้องถูกกระทบกระเทือนจากความไม่แน่นอนต่างๆ ซึ่งปรากฏขึ้นมาสืบเนื่องจากความท้าทายอันน่าหวั่นวิตกทั้งทางด้านเศรษฐกิจและทางด้านการเมือง ถึงแม้ความท้าทายต่างๆ เหล่านี้ที่สำคัญแล้วเป็นเรื่องภายในประเทศ ทว่ามันก็จะต้องส่งผลกระทบต่อนโยบายด้านการต่างประเทศของคณะผู้นำชุดใหม่ที่กำลังจะเข้ามารับตำแหน่งของพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ทั้งนี้ การที่ประเทศอื่นๆ ในโลกจะมีปฏิกิริยาต่อนโยบายนี้อย่างไร จะกลายเป็นตัวตัดสินว่าการก้าวผงาดขึ้นมาของจีนจะยังคงเป็นไปอย่างสันติได้หรือไม่

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

เรื่องที่เป็นจุดเน้นหนักทางด้านนโยบายการต่างประเทศของจีนในปัจจุบันเรื่องที่สอง ซึ่งก็คือการขยายสมรรถนะทางทหารด้านต่างๆ ของตนตามอำนาจอิทธิพลที่ตนเองมีอยู่ หรือเรียกได้ว่าเป็นแนวความคิดแผ่อำนาจอิทธิพลแบบคลาสสิกนั้น ก็จะต้องได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากความไม่แน่นอนในทางการเมืองและในทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน ในระยะหลายๆ ปีที่ผ่านมา คณะผู้นำของจีนได้ทุ่มเททรัพยากรจำนวนมหาศาลไปในการยกระดับเพิ่มพูนสมรรถนะทางทหารพิสัยทำการไกลของจีน ตัวอย่างที่ดีซึ่งทำให้มองเห็นการเพิ่มความเข้มแข็งในเรื่องนี้ ก็ได้แก่ การที่กองทัพเรือแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ส่งกองเรือรบออกไปปฏิบัติการต่อต้านโจรสลัดตามแนวชายฝั่งของประเทศโซมาเลีย, การที่จีนเพิ่มความสนับสนุนทางทหารที่ให้แก่ภารกิจรักษาสันติภาพในภูมิภาคต่างๆ ขององค์การสหประชาชาติ, และการนำเอาเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของประเทศเข้าประจำการเมื่อไม่นานมานี้

ในเวลาที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศจีนชะลอตัวลงเช่นนี้ เราอาจจะคาดหมายได้ว่ารัฐบาลแดนมังกรจะยิ่งเน้นหนักให้ความสำคัญมากขึ้นอีกในเรื่องการปรับปรุงยกระดับสมรรถนะทางนาวีในอาณาบริเวณ “ทะเลหลวง” และในการจัดซื้อจัดหาทรัพย์สินทางการทหารประเภทอื่นๆ ในระยะเวลา 3 ทศวรรษที่ผ่านมา เหตุผลข้อสำคัญที่สุดที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถหยิบยกขึ้นมาอ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่การปกครองประเทศของตนก็คือเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ในเมื่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจกำลังเชื่องช้าลง คณะผู้นำสูงสุดก็อาจจะต้องหันไปผลักดันจัดซื้อจัดหาพวกฮาร์ดแวร์ทางทหารอันน่าตื่นตาตื่นใจต่างๆ เพื่อเป็นหนทางในการประคับประคองแรงสนับสนุนทางการเมืองภายในประเทศเอาไว้

อย่างไรก็ตาม สมรรถนะทางทหารเหล่านี้ใช่ว่าจะต้องถูกนำออกประจำการในลักษณะที่เป็นการคุกคามโดยตรงต่อมหาอำนาจสำคัญรายอื่นๆ ตรงกันข้าม คณะผู้นำแดนมังกรอาจเลือกหนทางที่จะไปแสดงบทบาทอย่างกระตือรือร้นเพิ่มมากขึ้นในภารกิจระหว่างประเทศต่างๆ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมเพิ่มพูนเกียรติภูมิของจีนในขณะเดียวกับที่สามารถจำกัดความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ เป็นต้นว่า การรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ และความพยายามในการต่อต้านภัยโจรสลัดระหว่างประเทศ

สำหรับเรื่องที่เป็นจุดเน้นหนักทางด้านนโยบายการต่างประเทศของจีนในปัจจุบันเรื่องที่สาม ได้แก่ การใช้ความพยายามอย่างไม่มีการผ่อนปรนประนีประนอมเพื่อพิทักษ์ปกป้องอธิปไตยของจีน ระหว่างที่นายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า กล่าวปราศรัยเนื่องในวาระครบรอบปีที่ 63 แห่งการก่อตั้งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อไม่นานมานี้ เขาได้กล่าวย้ำในเรื่องนี้อีกคำรบหนึ่งโดยบอกว่า รัฐบาลของเขาถือเป็นพันธะผูกพันมาช้านานแล้วที่จะต้อง “พิทักษ์ปกป้องอธิปไตยแห่งชาติและบูรณภาพแห่งดินแดนอย่างเหนียวแน่นมั่นคง” [2] วาระทางนโยบายเช่นนี้น่าที่จะดำรงคงอยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลงถึงแม้จะเกิดภาวะความไร้เสถียรภาพทางการเมืองและทางเศรษฐกิจภายในจีนขึ้นมาก็ตามที อย่างไรก็ดี ท่าทีในการดำเนินนโยบายพิทักษ์ปกป้องอธิปไตยของแดนมังกรอาจจะมีการปรับเปลี่ยนไปจากเดิมในกรณีที่เศรษฐกิจยังคงเติบโตได้อย่างเชื่องช้าและการเมืองก็บังเกิดความไม่แน่นอน

ระหว่างที่เกิดวิกฤตเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งจีนพิพาทกับญี่ปุ่นในกรณีอ้างอธิปไตยเหนือหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์/เซงกากุ ตลอดจนกรณีพิพาทช่วงชิงดินแดนในทะเลจีนใต้ระหว่างจีนกับพวกชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างฟิลิปปินส์และเวียดนาม เราได้เห็นรัฐบาลจีนใช้จุดยืนที่แข็งกร้าวในการพิทักษ์ปกป้องการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนของตน การอ้างอธิปไตยเหล่านี้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือบรรเทาเบาบางลงแต่อย่างใดเมื่อแดนมังกรเปลี่ยนถ่ายคณะผู้นำเป็นคนรุ่นใหม่ ทั้งนี้แม้กระทั่งรัฐบาลของสาธารณรัฐจีนบนเกาะไต้หวันก็ยังประกาศดำเนินนโยบายอันแข็งกร้าวเช่นเดียวกัน ในการพิพาทช่วงชิงอธิปไตยเหนือดินแดนเหล่านี้

ในกรณีที่เกิดความขัดแย้งทางการเมืองครั้งใหญ่ หรือเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจจริงๆ ขึ้นมาในสาธารณรัฐประชาชนจีน มีความเป็นไปได้มากกว่าที่รัฐบาลกรุงปักกิ่งจะใช้มาตรการที่แข็งกร้าวยิ่งขึ้นอีกในการพิทักษ์ปกป้องอธิปไตยของจีนเหนือพื้นที่ทางทะเลที่เป็นกรณีพิพาททั้งหลาย ทั้งนี้เหตุจลาจลต่อต้านญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นตามเมืองใหญ่ๆ ของจีนเมื่อไม่นานมานี้ คือตัวอย่างรูปธรรมที่เตือนให้รับรู้ว่า ประชาชนคนสามัญชาวจีนจำนวนมากมีความโน้มเอียงที่จะใช้วิธีการทางทหารมาแก้ไขกรณีพิพาทเหล่านี้มากยิ่งกว่าคณะผู้นำของพวกเขานักหนา นับแต่นี้ไปแม้กระทั่งในกรณีที่ไม่มีความปั่นป่วนยุ่งเหยิงใหญ่ในทางเศรษฐกิจหรือในทางการเมืองเลย เราก็ยังสามารถคาดหมายได้ว่ารัฐบาลแดนมังกรจะมีท่าทียืนกรานแข็งกร้าวเพิ่มขึ้นกว่าเดิมอีก ในการจัดการกับกรณีพิพาททางดินแดน เพียงเพราะว่าอำนาจโดยเปรียบเทียบของจีนได้เติบใหญ่ขยายตัวขึ้นมาแล้ว

คณะผู้นำแดนมังกรมองไม่เห็นว่ามีอะไรขัดแย้งกันระหว่างเป้าหมายที่พวกเขาเน้นย้ำไว้เกี่ยวกับ “การก้าวผงาดขึ้นมาอย่างสันติของจีน” และการใช้แนวทางแบบยืนกรานแข็งกร้าวมาแก้ไขกรณีพิพาททางดินแดน ทั้งนี้เมื่อมองจากสายตาของคนจีนส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นชาวคอมมิวนิสต์, นักปฏิรูป, พวกนับถือขงจื๊อ, หรือพวกนิยมประชาธิปไตย ดินแดนที่กำลังช่วงชิงกันเหล่านี้ล้วนแต่เป็นส่วนหนึ่งของอาณาเขตอันไม่อาจแบ่งแยกออกไปได้ของจีน คนจีนย่อมไม่สามารถที่จะถูกกล่าวหาได้ว่ากำลังแสดงพฤติการณ์ก้าวร้าวรุกราน ถ้าหากพวกเขากำลังพิทักษ์ปกป้องอธิปไตยของประเทศของพวกเขาเอง มีบุคคลและกลุ่มการเมืองจำนวนมากในประเทศจีนที่กำลังรู้สึกกันว่า ประเทศชาติของพวกเขาไม่ได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพและความยำเกรงอย่างที่สมควรจะได้รับ ทั้งๆ ที่แดนมังกรเป็นชาติมหาอำนาจสำคัญที่มีกรณีพิพาทกับพวกชาติที่มีอำนาจน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัดเจน

ในความสำนึกร่วมกันของชาวจีนนั้น เรื่องที่ทรงความสำคัญยิ่งและเป็นที่จดจำกันอย่างไม่ยอมลืม ก็คือบัญชีรายการความอยุติธรรมทั้งหลายที่จีนได้รับมาในอดีต ตั้งแต่สนธิสัญญาไม่เสมอภาคอันน่าอับอายที่ถูกพวกมหาอำนาจตะวันตกบังคับให้ลงนาม ไปจนถึงการถูกญี่ปุ่นเข้ายึดครองดินแดนอันกว้างใหญ่ไปในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง สิ่งที่ดำรงเคียงคู่ไปกับความรู้เรื่องความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์เหล่านี้ ก็คือความสำนึกที่กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว่าจีนในปัจจุบันกำลังก้าวผงาดโดดเด่นขึ้นมาอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน การผสมผสานของปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ อาจจะนำไปสู่นโยบายการต่างประเทศที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

ในขณะที่คณะผู้นำแดนมังกรกำลังมองหาเหตุผลอื่นๆ ที่จะใช้เป็นข้ออ้างสร้างความชอบธรรมทางการเมืองในเวลาที่ประสบกับความไม่แน่นอนในทางเศรษฐกิจเช่นนี้ เราสามารถคาดหมายได้ว่าจีนจะมีท่าทีที่ยืนกรานแข็งกร้าวมากขึ้นๆ บนเวทีระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและทางเศรษฐกิจในจีนไม่จำเป็นที่จะต้องนำไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหญ่เสมอไป ถ้าหากสามารถจัดให้จีนที่กำลังก้าวผงาดขึ้นมา ได้รับการเคารพยกย่องอยู่ภายในกลไกแห่งอำนาจของโลกที่ดำรงอยู่แล้วในปัจจุบัน การประจันหน้ากันที่จะกลายเป็นปัญหาใหญ่โตก็น่าที่จะสามารถหลีกเลี่ยงได้ ตามประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา จีนมีความประพฤติที่ค่อนข้างเมตตาอ่อนโยนโดยเปรียบเทียบทีเดียว ถ้าหากบรรดาชาติที่อยู่ข้างเคียงยอมรับความเป็นพี่เบิ้มของแดนมังกร

เหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด ทั้งคณะผู้นำจีนและประชาชนคนสามัญของจีนต้องการความเคารพยกย่อง พวกเขาจะเสาะแสวงหาเพื่อให้ได้รับความเคารพยกย่องนี้ โดยอาศัยอำนาจทางเศรษฐกิจ, สมรรถนะทางทหาร, และจุดยืนอันไม่ยินยอมอ่อนข้อประนีประนอมในกรณีพิพาทด้านดินแดน ตราบเท่าที่ระบบระหว่างประเทศสามารถทำให้จีนมองเห็นว่าตนเองได้รับโอกาสทางเศรษฐกิจ, ได้เข้าร่วมในภารกิจพหุภาคีซึ่งสามารถสำแดงแสนยานุภาพทางทหารได้, และได้รับความเคารพยกย่องในฐานะที่เป็นอภิมหาอำนาจรายหนึ่งของโลก การก้าวผงาดขึ้นมาของจีนก็สามารถที่จะดำเนินไปอย่างสันติ

หมายเหตุ

[1] ดูเรื่อง China plays a responsible role in challenging era, China Daily, October 1, 2012.

[2] ดูเรื่อง Premier forecasts 'brighter future', China Daily, September 30, 2012.

เบรนดัน พี โอไรลีย์ เป็นนักเขียนและนักการศึกษาที่มาจากเมืองซีแอตเติล, สหรัฐอเมริกา แต่ปัจจุบันพำนักอยู่ในจีน เขาเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Transcendent Harmony
กำลังโหลดความคิดเห็น