เอเอฟพี - กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจเอเชียในวันนี้ (9) โดยอ้างผลกระทบของเศรษฐกิจยุโรปและสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวจากปัญหาหนี้สิน ขณะที่ความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนก็ยังไม่เห็นผลเท่าที่ควร
ไอเอ็มเอฟยังชี้ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวน้อยกว่าที่ประเมินไว้ อีกทั้งงบประมาณฟื้นฟูประเทศที่ส่อเค้าบานปลายส่งผลให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตช้าลงในปีหน้า
รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Outlook ของไอเอ็มเอฟถูกเผยแพร่ในช่วงต้นสัปดาห์นี้ พร้อมกับการเปิดประชุมประจำปีไอเอ็มเอฟและธนาคารโลกที่ญี่ปุ่น
ไอเอ็มเอฟระบุว่า ในปีนี้เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียจะเติบโตราว 6.7% และขยับขึ้นเล็กน้อยเป็น 7.2% ในปี 2013 แต่ลดลงจากคาดการณ์เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ระบุว่า จะขยายตัวได้ถึง 7.1% ในปีนี้ และ 7.5% ในปีหน้า
“ภาพรวมเศรษฐกิจระยะใกล้และกลางในปีนี้นับว่าไม่หวือหวา เมื่อเทียบกับการเติบโตในปีที่ผ่านมาๆมา” รายงานระบุ
ไอเอ็มเอฟยังเตือนให้ประเทศเอเชียเฝ้าระวังผลกระทบจากวิกฤตหนี้ซึ่งทำให้เศรษฐกิจยุโรปถดถอย ตลอดจนความล้มเหลวของสหรัฐฯ ที่จะออกนโยบายหลีกเลี่ยง “ขอบผางบประมาณ” (fiscal cliff)
จีนซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่โตและเป็นแรงกระตุ้นสำคัญต่อการเติบโตในภูมิภาค จะขยายตัวเพียง 7.8% ในปีนี้ แต่หลังจากมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเริ่มเห็นผลจะช่วยให้เศรษฐกิจจีนกลับมาโตได้ถึง 8.2% ในปีหน้า ซึ่งตัวเลขดังกล่าวก็ยังต่ำกว่าคาดการณ์ในเดือนกรกฎาคมที่ระบุไว้ 8.0% และ 8.5% ตามลำดับ
ไอเอ็มเอฟเตือนด้วยว่า โอกาสที่เศรษฐกิจแดนมังกรจะขยายตัวถึง 2 หลักมีความเป็นไปได้น้อย เนื่องจากผู้นำจีนต้องการสร้างสมดุลระหว่างภาคการส่งออกซึ่งมีขนาดใหญ่ กับการกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ
ปักกิ่งพยายามออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยประกาศลดอัตราดอกเบี้ยถึง 2 ครั้งในปีนี้ และยังลดเพดานทุนสำรองของธนาคารให้ยืดหยุ่นได้มากขึ้น
ในส่วนของญี่ปุ่น ไอเอ็มเอฟเชื่อว่าเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวเพียง 2.2% เนื่องจากรัฐบาลมีภาระหนักที่จะต้องฟื้นฟูความเสียหายจากภัยพิบัติสึนามิ ส่วนปีหน้าก็คาดว่าจะโตเพียง 1.2% เท่านั้น
ไอเอ็มเอฟชี้ว่า มาตรการผ่อนคลายทางการเงินอาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้บางส่วน แต่โตเกียวจำเป็นต้องหาวิธีอื่นๆเพื่อบรรเทาภาวะเงินฝืดที่กำลังบั่นทอนเศรษฐกิจอยู่ในปัจจุบัน
ด้านอินเดียซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของเอเชีย คาดว่าจะเติบโตเพียง 4.9% ในปีนี้ และ 6.0% ในปี 2013 โดยไอเอ็มเอฟกล่าวโทษ “ปัญหาด้านการบริหารและกฎระเบียบที่เข้มงวด ซึ่งส่งผลให้การลงทุนชะงักงัน ตลอดจนบรรยากาศธุรกิจที่ซบเซา และค่าเงินรูปีอ่อนตัว”
อุปสงค์จากตลาดต่างประเทศที่ซบเซายังส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจอินโดนีเซีย, มาเลเซีย และเวียดนาม ขณะที่ไทยและฟิลิปปินส์มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2011 โดยในกรณีของไทยมีปัจจัยหนุนจากความพยายามฟื้นฟูและกระตุ้นการลงทุน หลังประเทศต้องบอบช้ำจากมหาอุทกภัยเมื่อปีที่แล้ว
ในภาพรวมเศรษฐกิจของ 5 ประเทศใหญ่อาเซียนจะขยายตัวราว 5.4% ในปีนี้ และ 5.8% ในปีหน้า