เอเอฟพี - สองผู้ผลิตเหล็กสัญชาติญี่ปุ่นเตรียมควบรวมกิจการอย่างเป็นทางการในวันพรุ่งนี้ (1) ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นบริษัทเหล็กกล้ารายใหญ่อันดับ 2 ของโลก แซงหน้าคู่แข่งทั้งในจีนและเกาหลีใต้
นิปปอน สตีล และ สุมิโตโม เมทัล อินดัสตรีส์ ผู้ผลิตเหล็กอันดับ 1 และ 3 ของแดนอาทิตย์อุทัย จะควบรวมกิจการเป็นหนึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เป็นรองก็แต่ อาร์เซเลอร์มิททัล (ArcelorMittal) ของอินเดียเท่านั้น
การแข่งขันในอุตสาหกรรมเหล็กกล้าค่อนข้างสูงในช่วงไม่กี่ปีมานี้ แม้จะมีอุปสงค์มหาศาลจากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างจีนที่กำลังเร่งพัฒนาโครงการก่อสร้าง, สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และโรงงานผลิตสินค้าต่างๆมากมายก็ตาม
นอกจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่ส่งผลถึงอุปสงค์แร่เหล็กแล้ว บริษัทเหล็กในญี่ปุ่นต่างเดือดร้อนจากปัญหาเงินเยนที่แข็งค่าเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงปลายปีที่แล้ว
แม้จะรวมกิจการเป็นหนึ่ง ทว่า นิปปอน สตีล และ สุมิโตโม เมทัล คอร์ป ยังถือว่าห่างชั้นกับ อาร์เซเลอร์มิททัล โดยมีกำลังผลิตต่อปีรวมกันไม่ถึงครึ่งหนึ่งของยักษ์ใหญ่สัญชาติอินเดีย
ตามข้อมูลจากสมาคมเหล็กโลก (World Steel Association) อาร์เซเลอร์ มิททัล สามารถผลิตเหล็กดิบได้ราว 97.2 ล้านตันในปี 2011 ขณะที่ นิปปอน สตีล ซึ่งรั้งอันดับ 6 ของโลก และ สุมิโตโม เมทัล ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 27 มีกำลังผลิตรวมกันเพียง 46.1 ล้านตัน
ฮิโรชิ โทโมโนะ ประธาน สุมิโตโม เมทัล ซึ่งกำลังจะกลายเป็นผู้บริหารเบอร์ 2 ของบริษัทใหม่ในสัปดาห์หน้า ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ โยมิอุริ ชิมบุน ว่า “เราได้เปรียบในเรื่องคุณภาพสินค้า แต่ต้นทุนการผลิตสูงคือปัญหาใหญ่”
ผู้บริหารระดับสูงของ นิปปอน สตีล ก็บอกในทำนองเดียวกันว่า บริษัทยังคงครองตลาดเหล็กคุณภาพเยี่ยม แต่ประสบปัญหาในการแข่งขันกับผู้ผลิตรายอื่นในเอเชียที่มีฐานการผลิตถูกกว่า
“สินค้าประเภทเหล็กคุณภาพสูงของเรายังมีศักยภาพในการแข่งขัน แต่ผู้ผลิตของจีนและเกาหลีใต้เริ่มไล่หลังเราขึ้นมาในกลุ่มเหล็กคุณภาพกลาง” หนังสือพิมพ์ นิกเกอิ อ้างข้อมูลจากผู้บริหารนิปปอน สตีล ซึ่งไม่ระบุชื่อ
นิปปอน สตีล และ สุมิโตโม เมทัล ยื่นขอจดสิทธิบัตรสินค้าถึง 908 รายการในช่วงปี 2006-2010 ซึ่งมากกว่าบริษัท ปอสโก ของเกาหลีใต้เกือบ 4 เท่า และมากกว่า อาร์เซเลอร์มิททัล ถึง 9 เท่า
ถ้อยแถลงเรื่องการควบรวมกิจการของทั้ง 2 บริษัท ระบุว่า บริษัทใหม่จะมุ่งขยายฐานการผลิต, แปรรูป และจำหน่ายสินค้าในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เช่น จีน, บราซิล, อินเดีย และกลุ่มประเทศอาเซียน และตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้ถึง 60-70 ล้านตันต่อปี