สหวิริยาสตีลอินดัสตรีไตรมาสแรกขาดทุนอ่วมกว่า 2.8 พันล้านบาท ขณะงวดนี้ปีก่อนกำไรทะลุ 5.5 พันล้านบาท เหตุโรงถลุงเหล็กเอสเอสไอทีไซด์ยังไม่มีการผลิตทำให้เกิดค่าใช้จ่ายทั้งจำนวน มีเพียงธุรกิจโค้กที่ทำเงินให้บริษัทแม่ ขณะที่โรงงานแห่งนี้เริ่มจุดเตาถลุงวันที่ 15 เมษายน และสามารถผลิตเหล็กแท่งแบนแท่งแรกเมื่อวันที่ 18 เมษายน 55
นายวิน วิริยประไพกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ SSI แจ้งผลงานไตรมาสแรกปีนี้ว่า บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 2,841 ล้านบาท ขณะที่งวดนี้ปี 54 มีกำไรสุทธิ 5,526 ล้านบาท ผลจากโรงถลุงเหล็กขาดทุนถึง 2,849 ล้านบาท เนื่องจากไตรมาส 1 ปี 55 โรงงานเอสเอสไอทีไซด์ยังไม่มีการผลิตเหล็กแท่งแบนทำให้เกิดเป็นค่าใช้จ่าย 1,907 ล้านบาท และมีธุรกิจที่มีรายได้เพียงธุรกิจเดียว คือ ธุรกิจโค้ก มีรายได้จากการผลิตโค้ก การขายโค้ก 275 พันตัน และการรับจ้างผลิตโค้ก รวมถึงรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์พลอยได้อื่นๆ ประมาณ 4,085 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม โรงถลุงเหล็กได้เริ่มจุดเตาถลุงในวันที่ 15 เมษายน และสามารถผลิตเหล็กแท่งแบนแท่งแรกเมื่อวันที่ 18 เมษายน 55 อีกทั้งธุรกิจอื่นที่ดำเนินการอยู่ล้วนมีกำไร
นายวินกล่าวว่า การเปิดดำเนินการที่ล่าช้าจากแผนเดิมมา 6 เดือนนั้น เกิดจากการตัดสินใจลงทุนเพิ่มเติมปรับปรุงโรงถลุงเหล็กเพื่อยืดอายุการใช้งานไปอีกประมาณ 20 ปี แทนที่จะต้องหยุดผลิตเพื่อซ่อมเตาเป็นเวลา 6 เดือนในเวลา 6 ปีข้างหน้า ซึ่งบริษัทฯ มั่นใจว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องและจะสร้างผลตอบแทนที่ดีให้เราในระยะยาว ทั้งนี้ บริษัทฯ จึงได้ปรับเป้าหมายการผลิตเหล็กแท่งแบนในปี 55 คือ 2.2 ล้านตัน และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงระดับ 3.6 ล้านตันต่อปีในปี 56 ส่วนอุปกรณ์ Pulverized Coal Injection (PCI) ที่จะช่วยลดต้นทุนเชื้อเพลิงได้ประมาณ 30 เหรียญสหรัฐ/ตัน จะเริ่มใช้งานได้ภายในไตรมาส 1 ปี 56
สำหรับอุตสาหกรรมเหล็กโลกมีแนวโน้มของการฟื้นตัวในครึ่งแรกของปี 55 และคาดว่าจะเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นในครึ่งปีหลังของปี 55 ทั้งนี้ World Steel Association ประมาณการว่าความต้องการเหล็กโลกจะเติบโตขึ้น 4.5% เป็น 1,486 ล้านตันในปี 56 ส่วนอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศในปีนี้คาดว่า เนื่องจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องซึ่งเป็นผู้ใช้เหล็กที่สำคัญที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์มหาอุทกภัยจะเริ่มกลับมาทำการผลิตได้เกือบทั้งหมด โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่งเริ่มกลับมาผลิตมากขึ้นและยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยที่คาดว่าถึงแม้ไตรมาส 2/55 จะมีผลกระทบเชิงฤดูกาลจากวันหยุดสงกรานต์ แนวโน้มความต้องการใช้เหล็กแผ่นรีดร้อนจะเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงปลายปี โดยจะขยายตัวประมาณ 7-8% ในปีนี้