xs
xsm
sm
md
lg

ไฟไหม้โรงงานปากีสถาน‘คนงาน’ตายเกือบ300

เผยแพร่:   โดย: ไซเอด ฟาซล์-อี-ไฮเดอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Blaze wakes Pakistan to industrial realities
By Syed Fazl-e-Haider
14/09/2012

การเสียชีวิตของผู้คนเกือบๆ 300 คนในเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานสิ่งทอแห่งหนึ่งที่เมืองการาจี ได้เปิดโปงให้เห็นความใจดำเหี้ยมโหด ตลอดจนความคุ้นเคยใกล้ชิดกับการทุจริตของพวกนักอุตสาหกรรมและเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในเมืองศูนย์กลางอุตสาหกรรมและการเงินของปากีสถานแห่งนี้ โดยที่ระเบียบหลักเกณฑ์และกฎหมายต่างๆ ถูกมองเมินเพิกเฉย ส่วนสหภาพแรงงานก็ถูกจำกัดบทบาท เพื่อเอื้ออำนวยให้แก่การแสวงหาผลกำไร ทว่ากำไรดังกล่าวนั้นเองก็ยังถูกลิดรอนด้วยฝีมือของพวกแก๊งมาเฟียขู่เข็ญกรรโชก ตลอดจนภาวะการขาดแคลนกระแสไฟฟ้าอย่างร้ายแรง

การาจี, ปากีสถาน – การเสียชีวิตของผู้คน 289 คนในเหตุไฟไหม้ที่โรงงานสิ่งทอแห่งหนึ่งเมื่อวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา ในเมืองการาจี ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญทางภาคใต้ของปากีสถาน คือภัยพิบัติทางอุตสาหกรรมครั้งเลวร้ายที่สุดของประเทศนี้ และก็เป็นโศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ครั้งใหญ่ที่สุดในศูนย์กลางอุตสาหกรรมของประเทศแห่งนี้

ในวันเดียวกันนั้นเอง ยังมีชีวิตของผู้คนอีกอย่างน้อยที่สุด 25 คนถูกความตายพรากไป ในเหตุการณ์ไฟไหม้ทำนองเดียวกันที่โรงงานทำรองเท้าแห่งหนึ่งในเมืองละฮอร์ ในแคว้นปัญจาบ เหตุเพลิงไหม้ทั้ง 2 รายนี้กลายเป็นการเปิดเผยด้วยความทารุณโหดร้าย ให้เราได้มองเห็นขนาดขอบเขตของการละเมิดรัฐบัญญัติโรงงานปี 1934 (Factory Act 1934) ของปากีสถาน และกฎหมายแรงงานอันบกพร่องย่ำแย่ของประเทศนี้ รวมทั้งการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เป็นไปอย่างโจ๋งครึ่ม ตลอดจนการละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ซึ่งเข้าข่ายเป็นอาชญากรรมของพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องเกี่ยวกับการติดตามตรวจสอบให้มีการดำเนินการตามมาตรฐานความปลอดภัย

เหตุการณ์เหล่านี้เป็นการเปิดโปงให้เห็นการโกหกหลอกลวงแห่งการใช้กฎระเบียบและการกำกับตรวจสอบของทางการ ซึ่งเป็นช่องทางทำให้กิจการอุตสาหกรรมผิดกฎหมายจำนวนมากในเมืองการาจีเติบโตขึ้นมาได้ เนื่องจากไม่ได้มีการวางแผนเตรียมการในเรื่องการรับมืออัคคีภัย ตลอดจนไม่มีเครื่องมืออุปกรณ์ด้านความปลอดภัยอย่างถูกต้องเหมาะสม รวมทั้งไม่มีการปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยอะไรทั้งนั้น โรงงานต่างๆ จึงกลายเป็นโรงคร่าชีวิตสำหรับบรรดาคนงาน แต่เป็นเครื่องจักรทำเงินสำหรับผู้เป็นเจ้าของ ผู้จ่ายเงินสินบนให้แก่พวกเจ้าหน้าที่ทุจริตซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องการติดตามตรวจสอบความปลอดภัยของโรงงาน

การาจี เมืองหลวงด้านการพาณิชย์ของประเทศ ซึ่งมีประชากรหนาแน่นถึง 18 ล้านคน ตกอยู่ในความนิ่งงันในช่วงเวลาแห่งการไว้อาลัยในวันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน ภายหลังจากเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานที่นั่นแล้ว นครแห่งนี้อยู่ในความเงียบอันลี้ลับชวนหวาดหวั่น โดยที่การขนส่งสาธารณะระงับการให้บริการชั่วคราว โรงงานและตลาดร้านค้าปิดทำการ ส่วนตามสำนักงานต่างๆ ก็มีพนักงานเข้าไปทำงานเพียงเบาบาง

โรงงานสิ่งทอที่เกิดเหตุไฟไหม้แห่งนี้ มีชื่อว่า อาลี เอนเตอร์ไพรซ์ (Ali Enterprises) เป็นสถานที่ผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายสำเร็จรูปเพื่อการส่งออก ตั้งอยู่ในเขตบัลเดีย (Baldia) ของการาจี หนังสือพิมพ์ ดอว์น (Dawn) เขียนบทบรรณาธิการเรียกไฟไหม้ที่เกิดขึ้นในโรงงานแห่งนี้ว่า เป็น “ภัยพิบัติทางด้านอุตสาหกรรมครั้งเลวร้ายที่สุดของประเทศ ... และเป็นภัยพิบัติถูกไฟจี้ให้ตราตรึงอยู่ในความทรงจำในฐานะที่เป็น 9/11 ของคนงานชาวปากีสถาน”

บทบรรณาธิการนี้กล่าวต่อไปว่า “โรงงานต่างๆ ในปากีสถานมีลักษณะเป็นราชอาณาจักรในตัวของมันเอง โรงงานเหล่านี้คือค่ายกักกันที่คนงานทั้งหลายถูกปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเขาซึ่งจารึกเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ, ในกฎหมายแรงงานฉบับต่างๆ ของประเทศ, และในอนุสัญญาระหว่างประเทศทั้งหลาย แม้กระทั่งการออกหนังสือการจ้างงานอย่างถูกต้องให้แก่คนงาน บ่อยครั้งถูกถือว่าเป็นการออกให้ด้วยความพึงพอใจเป็นพิเศษ หาใช่เป็นการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ทั่วไปไม่ และผู้ที่ไม่ได้รับการว่าจ้างอย่างถูกต้องตามกฎระเบียบก็ไม่มีทางที่จะเรียกร้องสิทธิผลประโยชน์ใดๆ ไม่อาจเรียกร้องแม้กระทั่งค่าชดเชยในกรณีที่ประสบอุบัติเหตุ สำหรับสหภาพแรงงานนั้นคือของฟุ่มฟือยที่อาจสร้างความเจ็บปวดให้แก่ผลประโยชน์ของเจ้าของโรงงานได้ รัฐบาลให้คำมั่นสัญญาว่าจะฟื้นฟูชุบชีวิตสหภาพแรงงานขึ้นมา ทว่าสหภาพแรงงานที่มีอยู่ถ้าหากไม่ว่านอนสอนง่ายเกินไป ก็ถูกครอบงำมากเกินไปด้วยผลประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ จนกระทั่งไม่คิดที่จะพยายามหาทางใช้ประโยชน์จากกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้อยู่แล้ว ถ้าหากมีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งขึ้นมาแล้ว ก็น่าที่จะมีหลักประกันว่าเงื่อนไขสภาพการทำงานสำหรับคนงาน ซึ่งกลายเป็นพวกที่ต้องตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไปตลอดกาลท่ามกลางรูโหว่ทางอุตสาหกรรมในการาจีและในละฮอร์นั้น จะต้องดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน –อย่างน้อยที่สุดก็จะมีทางหนีไฟเพิ่มมากขึ้น”

ทั้งนี้เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายของภัยพิบัติที่การาจีคราวนี้ ส่วนใหญ่ที่สุดเป็นคนงานโรงงานผู้ยากจน จำนวนมากทีเดียวเป็นลูกจ้างผู้หญิง การที่ประตูทางออกฉุกเฉินทั้งหลายถูกปิดลั่นกุญแจ ย่อมหมายถึงว่าพวกเขาไม่สามารถหาทางหลบหนีออกจากพระเพลิงที่โหมฮือได้

ทางด้านหนังสือพิมพ์เอ็กซเพรสทรีบูน (Express Tribune) ตีพิมพ์บทวิจารณ์ที่มีข้อความดังนี้ “สำหรับกรณีของปากีสถาน เราจำเป็นจะต้องบอกว่าโรงงานต่างๆ มักไม่มีเครื่องมืออุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยในเรื่องอัคคีภัย ดังที่มีหลักฐานพิสูจน์อันชัดเจนจากโศกนาฎกรรมทั้ง 2 รายนี้ โรงงานที่เกิดเหตุไม่ได้มีทางหนีไฟ และตามปากคำของพวกเจ้าหน้าที่ซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุ พวกหน้าต่างของโรงงานก็มีการติดตะแกรงเหล็กเอาไว้ ดังนั้นคนงานจึงไม่สามารถที่จะหลบหนีให้พ้นภัยได้ ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้สามารถสรุปได้ว่ามันเป็นเรื่องของทัศนคติหรือความเชื่อแบบไม่มีหลักมีเกณฑ์ ถ้าหากจะยอมรับกันแล้ว ในหมู่พวกเราจำนวนมากทีเดียวยังคงมีความรู้สึกกันว่า ประเด็นเรื่องความปลอดภัยในกรณีเกิดอัคคีภัยนั้น ควรที่จะปล่อยให้เป็นเรื่องของพวกที่พำนักอาศัยอยู่ในประเทศพัฒนาแล้วจะดีกว่า และถ้าหากเกิดพระเพลิงเผาผลาญขึ้นในท่ามกลางพวกเราขึ้นมาจริงๆ แล้ว จะมากจะน้อยมันก็คงเป็นส่วนหนึ่งในแผนการของโชคชะตาเป็นแน่”

ทั้งพวกเจ้าหน้าที่รัฐบาลและเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรม ต่างมีความห่วงใยน้อยเหลือเกินเกี่ยวกับปัญหาและความยุ่งยากต่างๆ ที่คนงานต้องเผชิญในเวลาที่ทำงานอยู่ในโรงงาน ด้วยอัตราการว่างสูงที่กำลังสูงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งแตะระดับ 18% แล้ว และจำนวนผู้คนที่มีชีวิตอยู่ในความยากจนก็พุ่งพรวดพราด จึงบังคับให้คนงานยากไร้ทั้งหลายต้องอดทนทำงานในสภาพเงื่อนไขที่ยากแค้นลำเค็ญ โดยที่ไม่สามารถเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายของพวกเขาได้เลย

ในอีกด้านหนึ่ง รัฐมนตรีมหาดไทย เรห์มาน มาลิก (Rehman Malik) ไม่ได้ตัดประเด็นความเป็นไปได้ที่ว่า พวกมาเฟียขู่กรรโชกเรียกค่าคุ้มครอง อาจอยู่เบื้องหลังโศกนาฎกรรมของโรงงานที่การาจี ก่อนหน้านี้มีเหตุการณ์ที่โรงงานในการาจีหลายแห่งถูกวางเพลิงภายหลังที่เจ้าของโรงงานปฏิเสธไม่ยอมจ่ายเงินค่าคุ้มครองให้แก่แก๊งเหล่านี้

เป็นที่ทราบกันดีว่า ศูนย์กลางทางการเงินของประเทศแห่งนี้ในทางเป็นจริงแล้วถูกปกครองโดยแก๊งมาเฟียที่หาผลประโยชน์จากที่ดิน, ยาเสพติด, และการขู่กรรโชกเรียกค่าคุ้มครอง ด้วยความหวาดผวาแก๊งเหล่านี้ นักอุตสาหกรรมและนักธุรกิจจึงกำลังเรียกร้องให้รัฐบาลจัดส่งกำลังทหารเข้าไปช่วยเหลือ เนื่องจากสถานการณ์ได้บานปลายจนเกินกว่าที่เจ้าหน้าที่รับผิดชอบฝ่ายพลเรือนจะสามารถควบคุมได้แล้ว

ความสามารถของเศรษฐกิจปากีสถานที่จะก้าวให้พ้นจากภาวะ stagflation ในปัจจุบัน ซึ่งทั้งอัตราเงินเฟ้อก็สูงลิ่ว ขณะที่อัตราเติบโตก็ต่ำเตี้ย กำลังถูกบั่นทอนลิดรอนลงไปอย่างน่ากลัวยิ่ง ในเมื่อพวกนักอุตสาหกรรมและนักธุรกิจ ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างงานผู้คนนับเป็นล้านๆ กำลังรู้สึกว่าชีวิตและธุรกิจของพวกเขาไม่มีความมั่นคงและเสี่ยงภัยเหลือเกิน สืบเนื่องจากแนวโน้มที่ภาวะการไม่มีขื่อไม่มีเช่นนี้กำลังขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ในเวลาเดียวกัน ต้นทุนในการทำธุรกิจยังกำลังสูงขึ้นโดยตลอดจากการที่ค่าใช้จ่ายในการกู้ยืมเพิ่มขึ้น และปัญหาการขาดแคลนกระแสไฟฟ้าอย่างร้ายแรง วงการธุรกิจจึงกำลังถูกทอดทิ้งให้ต้องเลือกเอาอย่างจนตรอก ระหว่างการปิดกิจการไปเลย หรือไม่ก็โยกย้ายธุรกิจของพวกเขาไปยังต่างประเทศ

ตัวเลขสถิติอันหนึ่งซึ่งสามารถบอกเล่าให้ทราบสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี ก็คือยอดการส่งออกสินค้าเครื่องแต่งกายของปากีสถานในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจากระดับ 1,500 ล้านดอลลาร์ ไปอยู่ที่ 3,500 ล้านดอลลาร์เท่านั้น แต่ในระยะเวลาเดียวกันนี้เอง ยอดการส่งออกสินค้าอย่างเดียวกันของบังกลาเทศ ได้พุ่งพรวดจาก 1,500 ล้านดอลลาร์ เป็น 12,500 ล้านดอลลาร์

เรื่องวิกฤตกระแสไฟฟ้าที่กำลังร้ายแรงขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นเหตุผลหลักอีกประการหนึ่งซึ่งเร่งรัดให้พวกนักอุตสาหกรรมพิจารณาที่จะไปตั้งโรงงานกันในประเทศอื่นๆ จากการที่ในบังกลาเทศมีต้นทุนด้านกระแสไฟฟ้าถูกกว่าในปากีสถานถึง 35% และมีอัตรากำไรสูงกว่าถึง 30% นักอุตสาหกรรมจำนวนมากจึงได้โยกย้ายโรงงานของพวกเขาไปที่นั่นแล้ว หรือไม่ก็กำลังขยายโรงงานซึ่งตั้งอยู่ในประเทศนั้นอยู่แล้ว การถอนยวงอพยพโยกย้ายฐานอุตสาหกรรมการผลิตสิ่งทอของปากีสถาน ย่อมจะทำให้มีผู้คนต้องว่างงานเพิ่มขึ้นอีกหลายล้านคน และแน่นอนว่าการปรับปรุงยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยและสภาพการทำงานของคนงานในปัจจุบัน ก็มีแต่จะเพิ่มต้นทุนของธุรกิจเช่นเดียวกัน

ไซเอด ฟาซล์-อี-ไฮเดอร์ (http://www.syedfazlehaider.com) เป็นนักวิเคราะห์ด้านการพัฒนาในปากีสถาน เขาเขียนหนังสือเอาไว้หลายเล่ม รวมทั้งเรื่อง The Economic Development of Balochistan (ปี 2004) สามารถติดต่อเขาทางอีเมลได้ที่ sfazlehaider05@yahoo.com
กำลังโหลดความคิดเห็น