xs
xsm
sm
md
lg

คนจีนฮือต้านญี่ปุ่นทำปักกิ่ง‘กลืนไม่เข้าคายไม่ออก’ (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: อู่ จง

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes)

Beijing faces protests dilemma
By Wu Zhong
18/09/2012

กระแสการประท้วงต่อต้านญี่ปุ่นในระยะไม่กี่วันที่ผ่านมา ซึ่งปะทุขึ้นทั่วทั้งประเทศจีน โดยที่หลายๆ แห่งเป็นไปอย่างรุนแรงนั้น บังเกิดขึ้นในช่วงเวลาครบรอบเหตุการณ์ที่ญี่ปุ่นเข้ารุกรานและยึดครองภาคตะวันออกเฉียงเหนือของแดนมังกรเมื่อปี 1931 พอดิบพอดี เวลานี้รัฐบาลจีนกำลังเผชิญภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกว่า จะลงมือใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามสยบความไม่สงบภายในประเทศดี หรือจะยินยอมปล่อยให้นโยบายการต่างประเทศของตนถูกครอบงำโดย “เจตนารมณ์ของประชาชน” ซึ่งกำลังต้องการเผชิญหน้าทางทหารกับญี่ปุ่น ตลอดจนกับประเทศเพื่อนบ้านที่พิพาทช่วงชิงดินแดนในทะเลอยู่กับแดนมังกรรายอื่นๆ ทางเลือกทั้งสองนี้ล้วนแต่ไม่เป็นที่พึงปรารถนาของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในช่วงจังหวะเวลาแห่งการถ่ายโอนอำนาจสู่คณะผู้นำชุดใหม่เช่นขณะนี้

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

ฮ่องกง – การประท้วงต่อต้านญี่ปุ่นอย่างใหญ่โตตามท้องถนน ปะทุขึ้นตามเมืองใหญ่ต่างๆ หลายสิบแห่งของจีนในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ภายหลังจากรัฐบาลแดนอาทิตย์อุทัยประกาศเข้าซื้อหมู่เกาะเล็กๆ ในทะเลจีนตะวันออก ที่ญี่ปุ่นกับจีนพิพาทแย่งชิงกรรมสิทธิ์กันอยู่ (โดยที่ในจีนเรียกชื่อว่า หมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ ส่วนในญี่ปุ่นขนานนามว่า เซงกากุ) จากเจ้าของผู้ครอบครองที่เป็นเอกชนชาวญี่ปุ่น ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะทำให้ดินแดนนี้กลายเป็นทรัพย์สินของประเทศ และประเด็นปัญหานี้กลายเป็นปัญหาระดับชาติ สื่อมวลชนญี่ปุ่นพูดถึงการลุกฮือคัดค้านระลอกนี้ว่า เป็นการชุมนุมเดินขบวนต่อต้านญี่ปุ่นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ที่ประเทศทั้งสองได้ปรับความสัมพันธ์ระหว่างกันให้เป็นปกติเมื่อ 40 ปีก่อนเป็นต้นมาทีเดียว

ในวันอังคาร (18 ก.ย. 2012) อันเป็นวันเผยแพร่ข้อเขียนชิ้นนี้ทางเอเชียไทมส์ออนไลน์นั้น ตรงกับวาระครบรอบปีที่ 81 ของกรณีแมนจูเรีย 18 กันยายน (September 18 Manchuria Incident) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ญี่ปุ่นบุกรุกรานและยึดครองดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนในปี 1931 เป็นที่คาดหมายกันว่าจะเกิดการประท้วงตามเมืองต่างๆ ของจีนเพิ่มมากขึ้น ขณะที่มีรายงานข่าวว่าโรงงานบางแห่งในจีนที่ญี่ปุ่นไปลงทุนไว้ ได้ประกาศปิดทำการในวันดังกล่าว เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ให้ต้องประสบกับความยุ่งยากที่อาจเกิดขึ้น (หมายเหตุผู้แปล: ในวันอังคารที่ 18 กันยายน กระแสการประท้วงต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศจีนได้พุ่งสูงขึ้นตามที่คาดหมายกัน รายละเอียดอ่านได้จากรายงานข่าวเรื่อง “จีนจัดพิธีรำลึก 81 ปี ญี่ปุ่นบุกจีน 'จิ่ว อี ปา' กลางกระแสชิงเกาะเตี้ยวอี๋ว์” ใน “มุมจีน” ของ “ผู้จัดการออนไลน์ http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9550000115025 แต่พอถึงวันพุธที่ 19 กันยายน เหตุการณ์ก็สงบลง เมื่อทางการจีนออกมาตรการต่างๆ เพื่อปรามไม่ให้มีการประท้วงต่อไป ดูรายละเอียดที่เรื่อง “China clamps down on anti-Japan protests, tensions high” ในเว็บไซต์เผยแพร่ของสำนักข่าวรอยเตอร์ http://www.reuters.com/article/2012/09/19/china-japan-idUSL4E8KJ1HN20120919?type=marketsNews )

การที่ประชาชนจีนบังเกิดความโกรธกริ้วต่อความเคลื่อนของญี่ปุ่นที่นำเอาหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์เข้าไปเป็นทรัพย์สินของชาติเช่นนี้ เป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจได้อย่างไม่ยากเย็น ชาวจีนต่างเชื่อว่าหมู่เกาะแห่งนี้เป็นของจีนมาตั้งแต่ “โบราณกาล” และถือว่าความเคลื่อนไหวตามอำเภอใจฝ่ายเดียวของโตเกียวที่เปลี่ยนแปลงสถานะเดิมของหมู่เกาะเล็กๆ แห่งนี้ คือการจงใจยั่วยุ อีกทั้งยังกลายเป็นเครื่องเตือนใจสดๆ ร้อนๆ ถึงความทรงจำร่วมกันของชาวจีนทั้งมวลเกี่ยวกับการถูกดูหมิ่นเหยียดหยามและความทุกข์ยากเดือดร้อนแสนสาหัสในอดีต อันมีต้นตอมาจากการรุกรานของญี่ปุ่นในครั้งกระโน้น

พรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้นอาจจะไม่ถึงกับไม่พอใจที่ได้เห็นการลุกฮือของอารมณ์ความรู้สึกรักชาติเช่นนี้ อย่างน้อยที่สุดก็น่าจะมีความยินดีอยู่ในระดับหนึ่งทีเดียว ในระยะเวลาไม่กี่สิบปีหลังๆ มานี้ พรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งเป็นผู้บริหารปกครองสาธารณรัฐประชาชนจีนตั้งแต่ปี 1949 เป็นต้นมา ได้อุทิศทุ่มเทความพยายามอย่างมากมายมหาศาลเพื่อทำให้เยาวชนแดนมังกรบังเกิดความรักชาติ ด้วยความหวังว่ามันจะเป็นแนวคิดที่เข้ามาเติมเต็ม “ช่องว่างทางอุดมการณ์” ซึ่งพวกมาร์กซิสต์เคร่งลัทธิเชื่อกันว่าได้ถูกละเลยทอดทิ้งไป เพื่อแผ้วถางทางให้แก่การปฏิรูปเศรษฐกิจและการเปิดประตูประเทศ ตามการผลักดันของ เติ้ง เสี่ยวผิง เมื่อราวๆ 3 ทศวรรษที่แล้ว

นอกจากนั้นในทางปฏิบัติ การประท้วงต่อต้านญี่ปุ่นอาจจะช่วยหันเหความสนใจของประชาชนชาวจีนให้ออกไปจากความวิตกกังวลในเรื่องการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวลง ตลอดจนปัญหาภายในประเทศอย่างอื่นๆ มิหนำซ้ำประชาชนจีนอาจจะถึงกับให้ความสนับสนุนปักกิ่งด้วยซ้ำ เพื่อให้ใช้จุดยืนที่หนักแน่นดุดันยิ่งขึ้นในกรณีพิพาททางดินแดนที่มีอยู่กับญี่ปุ่นและกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ อีกหลายราย แน่นอนทีเดียวว่า สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะสัมฤทธิ์ผลก็ต่อเมื่อการชุมนุมประท้วงตามท้องถนนซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากลัทธิรักชาติที่กำลังเติบใหญ่ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ นั้น ยังคงเป็นไปอย่างมีเหตุมีผล, สงบสันติ, และเคารพกฎหมาย

โชคร้ายที่การชุมนุมประท้วงตามเมืองใหญ่ๆ จำนวนหนึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้แปรเปลี่ยนกลายเป็นเหตุการณ์ที่เต็มไปด้วยรุนแรง ซึ่งทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยหวนระลึกไปถึงเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า “กบฏนักมวย” (ภาษาจีนเรียกว่า อี้เหอถวน Yihetuan ส่วนภาษาอังกฤษรู้จักเหตุการณ์นี้ในชื่อ Boxer Rebellion) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อตอนเปลี่ยนผ่านจากคริสต์ศตวรรษที่ 19 เข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยในบางที่บางแห่ง ผู้ชุมนุมประท้วงถึงขนาดหันเหความโกรธกริ้วของพวกตนมายังรัฐบาลจีนและกองทัพจีน ด้วยการกล่าวประณามรัฐบาลและกองทัพว่า กำลัง “อ่อนแอเกินไป” ในการจัดการกรณีพิพาททางดินแดนทั้งหลายที่มีอยู่กับประเทศอื่นๆ

มีรายงานว่าการประท้วงได้กลับกลายเป็นการจลาจลในหลายๆ เมือง เป็นต้นว่า เซินเจิ้น, กว่างโจว, และตงกวน ซึ่งเป็น 3 เมืองใหญ่ในมณฑลกวางตุ้ง ตลอดจนที่เมืองฉางซา ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลหูหนาน และเมืองซีอาน ที่เป็นเมืองหลวงของมณฑลส่านซี รวมทั้ง ชิงเต่า ที่เป็นเมืองท่าใหญ่ในมณฑลซานตง

จากคลิปวิดีโอข่าวที่รายงานข่าวของโทรทัศน์ฮ่องกงนำมาออกอากาศเมื่อวันอาทิตย์(16 ก.ย.) ผู้ชมได้เห็นกลุ่มผู้ประท้วงในเมืองตงกวนกำลังทุบทำลายประตูและหน้าต่างของภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นหลายต่อหลายแห่ง ถึงแม้กิจการเหล่านี้ทั้งหมดต่างเป็นของนักลงทุนชาวจีน คนจีนที่เป็นเจ้าของภัตตาคารเหล่านี้รายหนึ่งพยายามที่จะหยุดยั้งพวกแก๊งอันธพาลที่ฮือกันเข้ามา ด้วยการโบกธงชาติสาธารณรัฐประชาชนจีนที่เป็นธงแดงประดับดาว 5 ดวง พร้อมกับตะโกนว่า “ผมเป็นคนจีน! ผมก็เป็นพวกรักชาตินะ!” ทว่าไร้ผล ลงท้ายเขาก็ต้องสั่งให้พวกพนักงานของเขาใช้สิ่วสกัดเอาแผ่นป้ายเครื่องหมายธุรกิจซึ่งฉาบซีเมนต์ติดแน่นอยู่บนผนังอาคารออกไป ท่ามกลางเสียงไชโยโห่ร้องของพวกผู้ประท้วงที่กำลังเฝ้าดูอยู่ มีรายงานด้วยว่าชายชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งถูกทำร้ายขณะอยู่บนถนน

มีคนจีนที่เป็นเจ้าของภัตตาคารญี่ปุ่นแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง ร้องทุกข์คร่ำครวญเอาไว้ใน “เว่ยโป๋” หรือมินิบล็อกของเขาว่า ในทุกวันนี้บ่อยครั้งที่มีคนบางคนเดินเข้าไปในร้านแล้วสั่งอาหารมารับประทาน แต่พอเสร็จสรรพคิดเงินแล้วกลับไม่ยอมจ่าย เมื่อเรียกร้องให้ชำระเงิน “พวกเขาก็จะนำเอาธงชาติออกมาโชว์ พูดว่าพวกเขาจะไม่จ่ายเงินหรอก เพราะพวกเขาไม่ต้องการกลายเป็น ‘คนขายชาติ’”

ในกรุงปักกิ่งเช่นเดียวกัน มีแผ่นประกาศติดอยู่ตามเสาไฟฟ้าในท้องถนนบางแห่ง รับสมัครทีมผู้ชาย “ใจถึงกล้าข่มขืน” เพื่อออกปฏิบัติการข่มขืนผู้หญิงชาวญี่ปุ่น ทั้งนี้ตามรายงานของหนังสือพิมพ์อีโคโนมิกไทมส์ (Economic Times) ของฮ่องกง

ถึงแม้ในทางเป็นจริงแล้ว ผลิตภัณฑ์แบรนด์ญี่ปุ่นจำนวนมากนั้น เวลานี้ก็ผลิตออกมาจากโรงงานในแดนมังกรนั่นเอง ทว่าพวกผู้ชุมนุมประท้วงไม่เพียงเรียกร้องให้คว่ำบาตรไม่ซื้อไม่ใช้สินค้าญี่ปุ่นเท่านั้น หากยังทุบทำลายข้าวของทั้งหลายที่ติดแบรนด์ญี่ปุ่นอีกด้วย

ในเมืองซีอาน ผู้ชุมนุมประท้วงร่วมๆ 10,000 คน ได้ออกมาเดินขบวนตามท้องถนนในวันเสาร์ (15 ก.ย.) พวกเขาบุกเข้าไปในโรงแรมระดับ 4 ดาวแห่งหนึ่งเพื่อทุบทำลายข้าวของสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ โดยกล่าวหาว่าสิ่งเหล่านี้มีไว้เพื่อรับรองแขกผู้มาเยือนชาวญี่ปุ่น ตามเส้นทางที่พวกเขาเคลื่อนผ่าน พวกเขายังได้ทำลายร้านรวงหลายแห่งที่กำลังขายโทรศัพท์มือถือแบรนด์ญี่ปุ่น ตลอดจนภัตตาคารขายอาหารญี่ปุ่น และเมื่อพวกเขาเห็นรถยนต์แบรนด์ญี่ปุ่นคันหนึ่งขับผ่านมา ก็กรูกันเข้าไปขวางให้จอด แล้วทุบตัวถังตลอดจนทำลายกระจกรถ จากนั้นก็ยื่นธงชาติสีแดง 5 ดาวแก่คนขับรถคันดังกล่าว ตามรายงานของพวกสื่อมวลชนฮ่องกง มีรถยนต์แบรนด์ญี่ปุ่นอย่างน้อยที่สุดสิบกว่าคันถูกพบเห็นว่าถูกทำลายเสียหายหนักในวันนั้น ส่วนที่เมืองชิงเต่า พวกผู้ประท้วงถึงขั้นวางเพลิงเผาโชว์รูมขายปลีกแห่งหนึ่งของบริษัทกว่างโจว โตโยต้า มอเตอร์ จำกัด (Guangzhou Toyota Motor Co.) กันทีเดียว

ที่เมืองฉางซา กลุ่มผู้ประท้วงได้บุกเข้าไปปล้นชิงข้าวของในห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง ถึงแม้ห้างแห่งนี้ได้ปิดทำการไปก่อนแล้วเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ประสบความยุ่งยาก ข้าวของที่มีค่าทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นต้นว่า นาฬิกาโรเล็กซ์ และผลิตภัณฑ์แบรนด์กุชชี่ ต่างถูกโจรกรรมไป มีผู้ประท้วงบางคนกระทั่งวางเพลิงเผาสถานที่หลายแห่งตามท้องถนน ในเวลาต่อมา มีชาวเน็ตผู้หนึ่งโพสต์ข้อความโอ่อวดบนอินเทอร์เน็ตว่า เขาช่าง “โชคดี” มากที่คว้านาฬิกาโรเล็กซ์มาได้ “ฟรีๆ” 1 เรือน

อู่ จง เป็นบรรณาธิการด้านจีนของเอเชียไทมส์ออนไลน์

(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น