xs
xsm
sm
md
lg

คนจีนฮือต้านญี่ปุ่นทำปักกิ่ง‘กลืนไม่เข้าคายไม่ออก’ (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: อู่ จง

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes)

Beijing faces protests dilemma
By Wu Zhong
18/09/2012

กระแสการประท้วงต่อต้านญี่ปุ่นในระยะไม่กี่วันที่ผ่านมา ซึ่งปะทุขึ้นทั่วทั้งประเทศจีน โดยที่หลายๆ แห่งเป็นไปอย่างรุนแรงนั้น บังเกิดขึ้นในช่วงเวลาครบรอบเหตุการณ์ที่ญี่ปุ่นเข้ารุกรานและยึดครองภาคตะวันออกเฉียงเหนือของแดนมังกรเมื่อปี 1931 พอดิบพอดี เวลานี้รัฐบาลจีนกำลังเผชิญภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกว่า จะลงมือใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามสยบความไม่สงบภายในประเทศดี หรือจะยินยอมปล่อยให้นโยบายการต่างประเทศของตนถูกครอบงำโดย “เจตนารมณ์ของประชาชน” ซึ่งกำลังต้องการเผชิญหน้าทางทหารกับญี่ปุ่น ตลอดจนกับประเทศเพื่อนบ้านที่พิพาทช่วงชิงดินแดนในทะเลอยู่กับแดนมังกรรายอื่นๆ ทางเลือกทั้งสองนี้ล้วนแต่ไม่เป็นที่พึงปรารถนาของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในช่วงจังหวะเวลาแห่งการถ่ายโอนอำนาจสู่คณะผู้นำชุดใหม่เช่นขณะนี้

*ข้อเขียนนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

ในวันอาทิตย์ (16 ก.ย.) ที่เมืองกว่างโจว เมืองหลวงของมณฑลกวางตุ้ง มีผู้ประท้วงต่อต้านญี่ปุ่นจำนวนหลายหมื่นคนออกมาชุมนุมเดินขบวนตามท้องถนนสายต่างๆ พวกเขายังได้หยุดรถยนต์แบรนด์ญี่ปุ่นหลายคันและจัดการทุบทำลายทิ้ง มีบางคนบุกเข้าไปในโรงแรมไวต์ สวอน ริมฝั่งแม่น้ำจูเจียง (White Swan Hotel by the Pearl River) ซึ่งเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว และมีสถานกงสุลญี่ปุ่นประจำกว่างโจวมาเปิดที่ทำการอยู่ด้วย แล้วจัดการทุบทำลายข้าวของและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ของโรงแรม

ที่เมืองเซินเจิ้น นครบนจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งร่ำรวยที่สุดจากการเปิดประตูต้อนรับต่างชาติ อีกทั้งยังตั้งประชิดติดกับฮ่องกง ปรากฏว่าการชุมนุมเดินขบวนต่อต้านญี่ปุ่นเมื่อวันอาทิตย์ (16 ก.ย.) ได้กลายเป็นการจลาจลที่มีความรุนแรงที่สุด ในตอนเช้าวันนั้น ผู้คนจำนวนหลายร้อยคนไปชุมนุมกันที่บริเวณใจกลางเมือง และเริ่มต้นการเดินขบวน พวกเขาพากันตะโกนคำขวัญว่า “ผีญี่ปุ่นจงพินาศ!”, “ไม่ซื้อไม่ใช้สินค้าญี่ปุ่น!”, “หมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์เป็นของจีน!”, “ประกาศสงครามกับญี่ปุ่น!”

เมื่อเวลาผ่านไปมีผู้คนจำนวนเพิ่มมากขึ้นทยอยเข้าร่วมกับพวกเขา และก็มีบางคนเริ่มต้นทุบทำลายประตูและหน้าต่างร้านรวงต่างๆ ที่มีชื่อภาษาญี่ปุ่น ประมาณการกันว่าในตอนที่มีคนเข้าร่วมมากที่สุดนั้น มีผู้เดินขบวนประท้วงกันกว่า 10,000 คนทีเดียว

รัฐบาลท้องถิ่นของนครเซินเจิ้นได้ส่งตำรวจปราบจลาจลออกมารักษาการณ์ แต่แล้วผู้ประท้วงก็เริ่มต้นเข้าเล่นงานตำรวจเหล่านี้ ซึ่งก่อนหน้านั้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้เข้าจับกุมผู้ต้องหา 4 คน เนื่องจากต้องสงสัยว่าเป็นตัวการสร้างความเสียหายให้รถยนต์ส่วนบุคคลแบรนด์ญี่ปุ่นจำนวนมาก ในระหว่างการประท้วงต่อต้านญี่ปุ่นเมื่อกลางเดือนสิงหาคม ซึ่งปะทุขึ้นหลังจากญี่ปุ่นได้จับกุมคุมขังชาวฮ่องกงและมาเก๊าหลายคนที่บุกขึ้นไปบนเกาะๆ หนึ่งของหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในการควบคุมดูแลของฝ่ายญี่ปุ่น

ผู้ประท้วงเมื่อวันอาทิตย์ยังได้เข้าปิดล้อมอาคารที่ทำการของรัฐบาลเซินเจิ้น เรียกร้องให้ทางการปล่อยตัวผู้ต้องหาก่อเหตุทำลายรถยนต์เหล่านั้นในทันที พร้อมกับโยนข้าวของต่างๆ เข้าไปในอาคาร พวกเขาประจันหน้ากับตำรวจ และช่วยกันพลิกรถตำรวจคันหนึ่งตีลังกาเค้เก้ มีอยู่ช่วงหนึ่ง ผู้ประท้วงบางคนถึงกับตะโกนว่า “กองทัพปลดแอกฯจงพินาศ” เนื่องจากไม่พอใจที่กองทัพปลดแอกประชาชนจีนไม่ได้มีการปฏิบัติการใดๆ เมื่อเผชิญกับพฤติการณ์ที่ผู้ประท้วงเห็นว่าเป็นการยั่วยุของฝ่ายญี่ปุ่น

คลิปวิดิโอข่าวของทีวีฮ่องกงแสดงให้เห็นตำรวจจลาจลพยายามที่จะสลายการชุมนุมประท้วงโดยใช้ทั้งแก๊สน้ำตาและเครื่องฉีดน้ำขนาดใหญ่ ทว่าผู้ประท้วงบางรายกลับหยิบเอาระเบิดแก๊สน้ำตาที่ถูกยิงตกมาที่พื้น แล้วขว้างกลับไปยังแถวตำรวจ คนอื่นๆ พยายามบุกเข้าไปจนยึดเครื่องฉีดน้ำมาได้เครื่องหนึ่งและจัดการทุบทำลายเสียหาย จนกระทั่งถึงตอนเย็นค่ำนั่นแหละตำรวจจึงสามารถที่จะควบคุมสถานการณ์เอาไว้ได้

สิ่งหนึ่งซึ่งดูแปลกประหลาดเป็นอย่างยิ่งก็คือ ผู้ชุมนุมประท้วงในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เกือบทั้งหมดเป็นคนในวัยหนุ่มสาว นับแต่ที่จีนกับญี่ปุ่นสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตขั้นปกติกกันในปี 1972 เหล่าผู้นำจีนพยายามกล่าวแสดงความคาดหวังซ้ำแล้วซ้ำอีกที่จะ “ส่งคบเพลิงแห่งมิตรภาพจีน-ญี่ปุ่นต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ไม่ให้ขาดสายจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนรุ่นต่อไป” เวลานี้ความวาดหวังดังกล่าวดูเหมือนจะพังภินท์ไปเสียแล้ว เมื่อพิจารณาจากการที่คนรุ่นหนุ่มสาวชาวจีนกลับกำลังกลายเป็นกองทัพต่อต้านญี่ปุ่นสดๆ ซิงๆ เช่นนี้

เป็นเรื่องที่ดูแปลกประหลาดมากเช่นกันที่ได้เห็นคนหนุ่มสาวชาวจีนเหล่านี้ เลือกหยิบเอาคำขวัญแสนล้าสมัยอย่าง “ไม่ซื้อไม่ใช้สินค้าญี่ปุ่น!” มาใช้ในการประท้วงของพวกเขา เมื่อครั้งที่ประเทศจีนยังยากจนและอ่อนแอ คำขวัญนี้ยังอาจจะดูเป็นเสียงร้องครวญครางอย่างหมดหวังของชาติที่อ่อนแอชาติหนึ่งเมื่อต้องเผชิญหน้ากับผู้รุกรานที่แข็งแรงกว่ามาก แต่ในทางปฏิบัติแล้ว คำขวัญเช่นนี้ไม่เคยได้ผลเลย ยิ่งในยุคโลกาภิวัตน์เช่นในปัจจุบันด้วยแล้ว จีนในทุกวันนี้ย่อมสามารถโอ่อวดได้ว่าตนมีระบบเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก อีกทั้งเป็นศูนย์กลางการผลิตทางอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ แล้วทำไมจึงยังมีใครบางคนอุตส่าห์ร้องคร่ำครวญคำขวัญอย่างนี้กันอีก?

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกผลิตภัณฑ์แบรนด์ญี่ปุ่นจำนวนมากเวลานี้ต่างก็ผลิตจากโรงงานในประเทศจีนกันทั้งนั้น มีรายงานว่ารถยนต์ “แบรนด์ญี่ปุ่น” บางแบรนด์ผลิตในจีนถึงประมาณ 90% ทีเดียว ดังนั้น ถ้าหากการรณรงค์ “ไม่ซื้อไม่ใช้สินค้าญี่ปุ่น” เกิดได้ผลขึ้นมาจริงๆ ก็มีแต่จะทำให้คนงานชาวจีนจำนวนมากมายกลายเป็นคนตกงานเท่านั้นเอง ด้วยเหตุนี้มันจึงดูเหมือนกับเป็นยุทธวิธีโง่ๆ ที่พยายามทำให้ศัตรูบาดเจ็บด้วยวิธีทำให้ตัวเองบาดเจ็บเสียก่อน

หลังจากการประท้วงอย่างรุนแรงในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แคนนอน (Canon) บรรษัทนานาชาติชั้นนำสัญชาติญี่ปุ่นซึ่งมีชื่อเสียงในเรื่องการผลิตพวกผลิตภัณฑ์ถ่ายภาพและเครื่องพิมพ์ ได้ประกาศในวันจันทร์ (17 ก.ย.) ว่า จะหยุดการดำเนินงานของโรงงาน 3 แห่งของตนจากที่มีอยู่ทั้งหมด 4 แห่งในประเทศจีนเอาไว้ชั่วคราว ขณะที่ พานาโซนิค (Panasonic) ยักษ์ใหญ่ด้านสินค้าเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ภายในบ้านของญี่ปุ่น ก็มีรายงานว่าสั่งปิดโรงงานหลายแห่งในจีนเป็นการชั่วคราวเช่นเดียวกัน นอกจากนั้นยังมีข่าวว่านักลงทุนชาวญี่ปุ่นบางรายกำลังพิจารณาที่จะถอนตัวออกจากประเทศนี้โดยสิ้นเชิง

เรื่องที่ดูจะเป็นตลกร้ายก็คือว่า บัตรประจำตัวประชาชนรุ่นล่าสุดที่ทางการแดนมังกรออกให้แก่พลเมืองของตนนั้น ทำขึ้นมาด้วยเทคโนโลยีและเครื่องมืออุปกรณ์ของ ฟูติตสึ-ซีร็อกซ์ (Fujitsu-Xerox) พวกคนหนุ่มคนสาวที่กำลังตะโกนว่า “ไม่ซื้อไม่ใช้สินค้าญี่ปุ่น” จะลองทำให้เป็นตัวอย่างด้วยการทำลายบัตรประจำตัวประชาชนของพวกเขากันก่อนเลยไหม?

การจลาจลที่มากับการชุมนุมประท้วงต่อต้านญี่ปุ่นในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้บรรดาปัญญาชนชาวจีนที่มีเหตุมีผลทั้งหลาย รู้สึกกันว่าเป็นสัญญาณอันตรายที่จะต้องออกมาตักเตือนให้ได้สติ ตัวอย่างเช่น หู ซิงโต (Hu Xingdou) ศาสตราจารย์แห่งสถาบันเทคโนโลยีปักกิ่ง (Beijing Institute of Technology) บอกว่า การจลาจลที่เกิดขึ้นมาแสดงให้เห็นว่าคุณภาพของความเป็นพลเมืองในสังคมจีนนั้นยังย่ำแย่มาก

“ในประเทศจีนนั้นมีแต่ประชาชนที่เอาแต่อ่อนน้อมเชื่อฟัง ไม่เช่นนั้นแล้วก็เป็นพวกอันธพาลกวนเมืองไปเลย แต่ไม่มีพลเมืองที่มีความรับผิดชอบอย่างแท้จริง มวลชนโดยทั่วไปยังคงขาดความสำนึกในเรื่องการเป็นพลเมือง ดังนั้นพวกเขาจึงถูกควบคุมได้อย่างง่ายดายโดยลัทธิชาตินิยมสุดโต่ง และหันไปหาความประพฤติ ‘แบบกบฎนักมวย’” ศาสตราจารย์ผู้นี้บอกกับหนังสือพิมพ์หมิงเป้า (Ming Pao) ที่เป็นหนังสือพิมพ์รายวันภาษาจีนออกในฮ่องกง เขายังกล่าวประณามพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบที่เกี่ยวข้องว่า “ละเว้นการปฏิบติหน้าที่” จากความล้มเหลวไม่สามารถควบคุมป้องกันไม่ให้เกิดการจลาจลได้

ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตามที การเกิดเหตุจลาจลขึ้นมาท่ามกลางการชุมนุมประท้วงต่อต้านญี่ปุ่นเช่นนี้ ได้กลายเป็นการทำลายความถูกต้องชอบธรรมของการประท้วงต่อต้านญี่ปุ่นเอง และสร้างความอับอายขายหน้าให้แก่ประเทศชาติของคนจีน ตลอดจนทำความเสื่อมเสียให้แก่ภาพลักษณ์ที่ว่า จีนเป็นประเทศกำลัง“ก้าวผงาดขึ้นมาอย่างสันติ” อันเป็นภาพที่ปักกิ่งใช้ความพยายามอย่างมากมายเหลือเกินเพื่อสร้างขึ้นมาให้ปรากฏต่อโลก

สิทธิของประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องถูกล่วงละเมิดด้วยพฤติการณ์ที่เป็นอาชญากรรม และทรัพย์สินของพวกเขาก็ได้รับความเสียหาย รัฐบาลจีนจะต้องเปิดการสอบสวนและลงโทษเหล่าร้ายที่กระทำความผิด ตลอดจนหามาตรการต่างๆ ที่จะป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงทำนองนี้ขึ้นมาอีก ลัทธิรักชาติจะต้องไม่ถูกใช้เสมือนกับเป็นเพียงผ้าเตี่ยวที่ใช้ปกปิดอาชญากรรม

นอกจากนั้นยังควรต้องชี้ออกมาให้เห็นกันด้วยว่า ลัทธิรักชาติที่กระตือรือร้นจนเลยเถิดนั้น สามารถที่จะแปรรูปกลายเป็นลัทธิชาตินิยมที่หวาดระแวงต่างชาติและความคิดคับแคบไปได้อย่างง่ายดาย ซึ่งนั่นเป็นดาบสองคมที่มีอันตราย เฉกเช่นกรณีที่เกิดขึ้นในเมืองเซินเจิ้นสะท้อนให้เห็นแล้ว อารมณ์ความรู้สึกต่อต้านญี่ปุ่นนั้นสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงและหันกลับมาเป็นการต่อต้านรัฐบาลจีนเอง

ถ้าหากอารมณ์ความรู้สึกดังกล่าวนี้ยังคงพัดโหมกระพืออย่างรุนแรงต่อไปแล้ว รัฐบาลจีนก็จะต้องเลือกเอาว่า จะเปิดฉากดำเนินการปราบปรามอย่างดุดันเด็ดขาดเพื่อสยบความรุนแรงภายในบ้านเมือง หรือจะยินยอมปล่อยให้นโยบายการต่างประเทศของตนถูก “จี้จับเป็นตัวประกัน” โดย “เจตนารมณ์ของประชาชน” ซึ่งกำลังต้องการการเผชิญหน้าทางทหารกับญี่ปุ่น ... จากนั้นก็กับพวกประเทศเพื่อนบ้านรายอื่นๆ แน่นอนทีเดียวว่า ทางเลือกทั้งสองนี้ล้วนแต่ไม่เป็นที่พึงปรารถนาของพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงจังหวะเวลาแห่งการถ่ายโอนอำนาจสู่คณะผู้นำชุดใหม่เช่นขณะนี้

อู่ จง เป็นบรรณาธิการด้านจีนของเอเชียไทมส์ออนไลน์
กำลังโหลดความคิดเห็น