xs
xsm
sm
md
lg

รายงานชี้จำนวน “เศรษฐีเอเชีย” พุ่งแซงหน้าอเมริกาในปี 2011 แต่ความมั่งคั่งยังเป็นรอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธนบัตรสกุลเงินเอเชีย
รอยเตอร์ - ภูมิภาคเอเชียมีจำนวนมหาเศรษฐีแซงหน้าอเมริกาเหนือเป็นครั้งแรกในปีที่แล้ว ขณะที่ความมั่งคั่งโดยรวมกลับลดลงเล็กน้อย และยังเป็นรองกลุ่มเศรษฐีในอเมริกา บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ Capgemini และ RBC Wealth Management รายงานวันนี้(19)

ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีบุคคลผู้มีความมั่งคั่งสูง (High Net Worth Individual) ซึ่งครอบครองทรัพย์สินตั้งแต่ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯขึ้นไปอยู่ถึง 3.37 ล้านคน เมื่อเทียบกับ 3.35 ล้านคนในอเมริกาเหนือ และ 3.17 ล้านคนในยุโรป

มหาเศรษฐีเอเชียซึ่งกระจุกตัวอยู่ในญี่ปุ่นถึงร้อยละ 54, ในจีนร้อย 17 และกว่าร้อยละ 5 ในออสเตรเลีย มีมูลค่าทรัพย์สินรวมราว 10.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2011 ซึ่งลดลงเล็กน้อยจาก 10.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อปี 2010 ขณะที่กลุ่มเศรษฐีอเมริกาเหนือที่มีจำนวนน้อยกว่า กลับมีความมั่งคั่งรวมถึง 11.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

รายงานความมั่นคั่งประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งจัดทำโดย Capgemini และ RBC Wealth Management ได้รับความสนใจจากนักบริหารสินทรัพย์, ผู้แทนจำหน่ายทรัพย์สินชั้นเยี่ยม, ผู้จำหน่ายสินค้าฟุ่มเฟือย และภาคธุรกิจอื่นๆที่ต้องการทราบว่า มหาเศรษฐีทั่วโลกมีการลงทุนหรือใช้จ่ายทรัพย์สินที่มีอยู่อย่างไร

เศรษฐีเอเชียส่วนใหญ่สร้างความมั่งคั่งจากธุรกิจของตระกูล รวมถึงทรัพย์สินอื่นๆ

“เรายังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงมากนักในด้านการกำหนดวิธีบริหารสินทรัพย์ (portfolio management)” แคลร์ โซวาโนด์ รองประธาน Capgemini แถลงต่อสื่อมวลชน

ระดับความมั่งคั่งลดลงอย่างชัดเจนในช่วงปีที่แล้ว ทั้งในฮ่องกง (20.1%) อินเดีย (18%) และเพิ่มขึ้นมากที่สุดในไทย (9.3%) และอินโดนีเซีย (5.3%) ส่วนที่ญี่ปุ่นและจีนเพิ่มขึ้นแบบไม่หวือหวา เพียง 2.3% และ 1.8% ตามลำดับ

วิกฤตหนี้สินยุโรปและแนวโน้มอื่นๆของเศรษฐกิจโลกคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความมั่งคั่งในเอเชียลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า แต่ “ภูมิภาคนี้ก็ยังเผชิญปัจจัยท้าทายภายใน เช่น ภาวะเงินเฟ้อ, การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้าลง และการไหลออกของเงินทุน”

“แม้กระนั้นก็ตาม เอเชียแปซิฟิกยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตมากกว่าภูมิภาคอื่น และคาดว่าจำนวนผู้มีความมั่งคั่งสูงและมูลค่าสินทรัพย์โดยรวมจะขยับสูงขึ้นเรื่อยๆ” รายงานระบุ

บุคคลร่ำรวยในเอเชียเริ่มแสวงหาแหล่งทำเงินในต่างประเทศที่ไม่ไกลจากบ้าน เช่น สิงคโปร์และฮ่องกง เป็นต้น เพื่อจะสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆอย่างกว้างขวาง, ผลประโยชน์ด้านภาษี ตลอดจนข้อมูลลับเฉพาะทางการเงิน (financial confidentiality)

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคในการบริหารความมั่งคั่งในต่างแดนก็มีอยู่ไม่น้อย อาทิ การขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะความสามารถ, ความสามารถในการทำกำไรที่ลดลง และต้นทุนในการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และข้อจำกัดด้านบริการต่างๆ ซึ่งเป็นผลมาจากระเบียบปฏิบัติที่เข้มงวดขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น