xs
xsm
sm
md
lg

เหตุประท้วงสังหารทูตอเมริกันที่ลิเบีย (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: วิกเตอร์ คอตเซฟ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Perfect storm over Libya
By Victor Kotsev
13/09/2012

วาระความต้องการอันทรงพลังของกลุ่มต่างๆ หลายหลาก ได้มาบรรจบกันอย่างไม่คาดหมายภายใต้สถานการณ์ที่แสนจะตึงเครียด จนทำให้เกิดเหตุการณ์โจมตีสถานกงสุลสหรัฐฯในเมืองเบงกาซี กระทั่งตัวเอกอัครราชทูตอเมริกันประจำลิเบียเสียชีวิต และไม่ว่าพวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯจะพูดจาแถลงไปอย่างไรก็ตามที การโจมตีคราวนี้น่าที่จะส่งผลสะท้อนกลับอย่างรุนแรงต่อนโยบายของสหรัฐฯในลิเบียและในตะวันออกกลาง อีกทั้งกำลังปรับเปลี่ยนสิ่งซึ่งกำลังอภิปรายถกเถียงกันอยู่ในทำเนียบขาว

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

เหตุการณ์โจมตีที่ทำให้ คริสโตเฟอร์ สตีเวนส์ เอกอัครราชทูตอเมริกันประจำลิเบียเสียชีวิตคราวนี้ เป็นเสมือนกับตบหน้าฉาดใหญ่ใส่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้ซึ่งออกมาประกาศให้คำมั่นอย่างเป็นลางบอกเหตุว่า พวกที่กระทำการครั้งนี้จะต้องได้รับ “ความยุติธรรม” อย่างสาสม ขณะที่ปฏิกิริยาจาก ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศของเขา ส่อแสดงให้เห็นว่าเธออยู่ในอาการช็อก โดยในการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน เธอกล่าวว่า “ชาวอเมริกันจำนวนมากกำลังถามกัน –ที่จริง ดิฉันก็ได้ถามตัวเองด้วยเช่นกัน— ว่าเรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ... เรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไรในประเทศซึ่งพวกเราช่วยเหลือปลดปล่อยให้หลุดออกจากแอก เกิดขึ้นมาได้อย่างไรในเมืองซึ่งพวกเราช่วยเหลือปกปักรักษาให้รอดพ้นจากการถูกทำลายล้าง”

เอียน แบล็ก (Ian Black) บรรณาธิการด้านตะวันออกกลางของ การ์เดียน (Guardian) หนังสือพิมพ์รายวันของอังกฤษ พูดออกมาอย่างตรงไปตรงมายิ่งกว่านี้อีก เขาเขียนว่า “ถ้าหากมูอัมมาร์ กัดดาฟี ยังคงมีชีวิตอยู่ เขาคงจะระเบิดเสียงหัวเราะอย่างขมขื่น เมื่อรับทราบข่าวที่ว่าเอกอัครราชทูตสหรัฐฯในลิเบียถูกสังหารในเมืองเบงกาซี (เมืองที่เป็นฐานของพวกกบฎลิเบียซึ่งสามารถโค่นล้มระบอบการปกครองของเขาลงไปในที่สุด โดยที่ได้รับความช่วยเหลือจากฝ่ายอเมริกันและยุโรป)” แบล็กเขียนต่อไปว่า “ (อดีตประธานาธิบดีอียิปต์) ฮอสนี มูบารัค (ผู้ซึ่งถูกโค่นล้มในปีที่แล้วเช่นเดียวกัน โดยที่มีรายงานว่าได้รับไฟเขียวความเห็นชอบจากฝ่ายอเมริกัน) ซึ่งยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลของเรือนจำ คงจะคำรามออกมาด้วยความสะใจระคนตรอมตรมว่า ‘กูบอกมึงแล้ว’ ภายหลังเกิดการโจมตีสถานเอกอัครราชทูตอเมริกันที่มีสภาพเหมือนป้อมปราการอันแข็งแกร่งในกรุงไคโร”

ทางด้านรอมนีย์ ก็รีบกระโจนพรวดเข้าคว้าฉวยสิ่งที่เขาเห็นเป็นโอกาสที่จะวิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีโอบามา ถึงแม้ปรากฏว่าทัศนะความคิดเห็นของรอมนีย์เองจะกลายเป็นหัวข้อโต้แย้งกันอย่างดุเดือดขึ้นมา

สิ่งหนึ่งซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้สะท้อนออกมาให้เห็น ก็คืออันตรายของการที่โอบามาเดินนโยบายเข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันโดยตรงกับมวลชนชาวอาหรับ –และกับขบวนการภราดรภาพมุสลิม ซึ่งถือเป็นตัวแทนของแวดวงชาวอาหรับตามท้องถนนในพื้นที่จำนวนมากของภูมิภาคแถบนั้น ในอีกด้านหนึ่ง เหตุการณ์คราวนี้ก็เพิ่มความเข้มแข็งให้แก่ฐานะของนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู แห่งอิสราเอล ผู้ซึ่งได้เปิดศึกทางวาจากับโอบามาอย่างดุเดือดเข้มข้นตั้งแต่ช่วงหลายๆ วันก่อนหน้านั้น รวมทั้งเขายังโจมตีไม่เห็นด้วยกับนโยบายตะวันออกกลางของทางทำเนียบขาวเรื่อยมา ถึงแม้ความเห็นที่ไม่ตรงกันและทำให้เกิดความบาดหมางกันล่าสุดระหว่างโอบามากับเนทันยาฮู จะเป็นเรื่องการจัดการกับอิหร่าน แต่ก็มีรายงานว่าฝ่ายอิสราเอลแสดงท่าทีวิตกกังวลในเรื่องวิธีการที่โอบามาใช้มารับมือกับพัฒนาการซึ่งเกิดขึ้นในอียิปต์และลิเบียในระยะเวลาปีเศษที่ผ่านมาอีกด้วย และข้อโต้แย้งในเรื่องอิหร่าน กับเรื่องอียิปต์-ลิเบียนี้ ก็เป็นที่เข้าใจกันอย่างกว้างขวางว่ามีความเกี่ยวข้องโยงใยกันอยู่

ข้อสังเกตเกี่ยวกับท่าทีความเห็นของฝ่ายอิสราเอลนี้ เมื่อบวกเข้ากับการที่โปรดิวเซอร์ผู้สร้างภาพยนตร์เรื่อง “อินโนเซนซ์ ออฟ มุสลิมส์” (Innocence of Muslims) ซึ่งก่อให้เกิดการความขัดแย้งอย่างรุนแรง ออกมาระบุพูดถึงตัวเองว่าเป็น “ชาวยิวอเมริกัน” กำลังกลายเป็นประเด็นของการคาดเดาและข่าวลือสะพัดในอีกกระแสหนึ่ง ทั้งนี้มีการตั้งสมมุติฐานกันว่าบางกลุ่มบางฝ่ายที่หนุนหลังสิทธิข้อเรียกร้องของอิสราเอล (หรือไม่ก็พวกคริสเตียนผู้ยึดมั่นเคร่งครัดในคัมภีร์ไบเบิล (evangelical Christian) ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นพวกสนับสนุนอิสราเอลและคัดค้านโอบามาด้วยเหตุผลผิดแผกแตกต่างกันนานาของตนเอง และก็มีรายงานเช่นกันว่าเกี่ยวข้องพัวพันกับการสร้างหนังเรื่องนี้ด้วย) อาจจะทำภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นมาด้วยเจตนาที่จะยั่วยุให้เกิดการประท้วงคัดค้านอันรุนแรงขึ้นมา ด้วยความมุ่งหมายที่จะเปิดเผยให้เห็นจุดอ่อนในนโยบายการต่างประเทศของโอบามา ถ้าหากความต้องการของผู้สร้างภาพยนตร์เรื่อง“อินโนเซนซ์ ออฟ มุสลิมส์” เป็นเช่นนี้จริงๆ แล้ว พวกเขาก็ประสบความสำเร็จยิ่งกว่าที่พวกเขาคาดหวังเอาไว้มากมายนัก

ในข้อเขียนอันเฉียบแหลมคมคายที่ใช้ชื่อเรื่องว่า “Terry Jones, asymmetrical warrior” ซึ่งเผยแพร่อยู่ใน Asia Times Online, September 13, 2010 เดวิด โกลด์แมน (David Goldman) เพื่อนผู้เขียนเรื่องส่งเอเชียไทมส์ออนไลน์เช่นเดียวกับผม ได้อรรถาธิบายให้เห็นว่า ทำไม “คนบ้าคนหนึ่งที่กำลังถือไม้ขีดก้านหนึ่งและคัมภีร์อัลกุรอานเล่มหนึ่ง จึงสามารถที่จะสร้างความเสียหายให้แก่โลกมุสลิมได้มากกว่าพวกมือระเบิดฆ่าตัวตายมากมายเต็มคันรถบัสหนึ่งเสียอีก” เช่นเดียวกัน ในกรณีล่าสุดนี้ก็เห็นได้อย่างกระจ่างแจ่มแจ้งว่า “คนบ้า” คนหนึ่งสามารถสร้างความเสียหายทำนองเดียวกันให้เกิดขึ้นแก่พวกที่พยายามหาทางผูกตัวเองเป็นพันธมิตรกับมวลชนชาวอาหรับตามท้องถนน

อย่างไรก็ดี ยังจำเป็นที่เราจะต้องตั้งสติขบคิดพิจารณาอย่างรอบคอบระแวดระวังเอาไว้บ้างอีกนั่นแหละ เนื่องจากมีรายงานข่าวออกมาในช่วงหลังๆ ซึ่งบ่งชี้ว่า แซม เบซิล (Sam Bacile) โปรดิวเซอร์ของหนังเรื่องนี้ที่ว่ากันว่าเป็นชาวยิวอเมริกันและผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์ในแคลิฟอร์เนียนั้น อย่างดีที่สุดก็เป็นเพียงนามแฝงของใครคนหนึ่ง และอย่างเลวที่สุดก็คือเป็นชื่อที่กุขึ้นมาโดยสิ้นเชิง นอกจากนั้น มันยังอาจจะเป็นการปฏิบัติการประเภทมุ่งให้ร้ายป้ายสี ด้วยความตั้งใจที่จะสร้างความย่ำแย่เสื่อมเสียให้แก่รัฐบาลอิสราเอลก็เป็นไปได้

และนี่เองนำเรามาสู่จุดสรุปสุดท้าย นั่นก็คือ ผู้ที่ได้รับประโยชน์อย่างใหญ่หลวงที่สุดจากกรณีนี้ เมื่อจำแนกแยกแยะกันเป็นแต่ละรายไป เห็นจะได้แก่ ระบอบปกครองซีเรียของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด นั่นเอง

อัสซาดกำลังโต้แย้งว่า เขากำลังต่อสู้กับ “พวกผู้ก่อการร้าย” ในประเทศของเขา แล้วอะไรล่ะจะสามารถวาดภาพให้เห็นจริงตามคำอธิบายเช่นนี้ได้ดีไปกว่าความผันผวนหมุนกลับ 180 องศาอย่างน่าตื่นใจที่เกิดขึ้นในลิเบีย ซึ่งพวกนักวิเคราะห์ต่างชาติจำนวนมากเคยมองกันว่า มันคือเรื่องราวความสำเร็จที่สมควรนำมาใช้ซ้ำรอยในประเทศซีเรียของเขาอีกคำรบหนึ่ง ขณะที่ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานใดๆ ที่เชื่อมโยงรัฐบาลซีเรียเข้ากับภาพยนตร์เรื่องนี้ หรือเหตุการณ์การโจมตีสำนักงานการทูตอเมริกัน แต่แน่นอนว่าเราสามารถมองเห็นแรงจูงใจอย่างชัดเจน เพราะเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นมานั้น ทำให้กระแสเรียกร้องให้นานาชาติเข้าแทรกแซงต่อต้านระบอบอัสซาด ต้องกระทบกระเทือนเสียหายอย่างรุนแรงทีเดียว

ไม่ว่าพวกเจ้าหน้าที่อเมริกันจะพูดจาว่าอย่างไรก็ตามที การโจมตีสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลสหรัฐฯเช่นนี้ น่าที่จะก่อให้เกิดผลสะท้อนกลับอย่างสาหัสร้ายแรงต่อนโยบายของสหรัฐฯในลิเบียและในตะวันออกกลาง แน่นอนทีเดียวว่า มันจะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนท่าทีอันสุขุมละเอียดอ่อนของการอภิปรายถกเถียงกันภายในคณะรัฐบาลโอบามา โดยที่การเปลี่ยนแปลงนี้อาจจะไม่ได้ออกมาในลักษณะอันสุขุมละเอียดอ่อนเอาเลยก็เป็นได้

ในเวลาเดียวกัน เรื่องราวของภาพยนตร์เรื่อง “อินโนเซนซ์ ออฟ มุสลิมส์” ก็อาจจะไม่ใช่ยุติลงอย่างง่ายๆ อันที่จริงแล้ว จากเหตุการณ์โจมตีครั้งนี้อาจจะกลายเป็นสาเหตุทำให้ชาวมุสลิมทั่วโลกบังเกิดความสนอกสนใจหนังเรื่องนี้ และจุดประกายให้เกิดความรุนแรงขยายตัวลามปามออกไปอีก เรื่องเช่นนี้เคยมีตัวอย่างมาแล้วในเหตุการณ์ที่สืบเนื่องจากการ์ตูนภาพล้อเลียนศาสดามุฮัมมัดซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ของเดนมาร์กเมื่อปี 2005 ในคราวนั้นกว่าที่กระแสการประท้วงจะแพรกระจายบานปลายออกไปอย่างเต็มที่ก็เมื่อเวลาล่วงเข้าสู่ปี 2006 และลงท้ายทำให้มีผู้คนเสียชีวิตไปกว่า 200 คน

กล่าวโดยรวมแล้ว ในปัจจุบันเรายังคงมีคำถามมากกว่าคำตอบ ทั้งในกรณีการโจมตีสำนักงานการทูตอเมริกันในลิเบีย และภาพยนตร์เรื่องที่จุดชนวนให้เกิดการประท้วงคัดค้านทั้งในลิเบียและที่อื่นๆ ในตะวันออกกลาง ทว่าการที่นักการทูตระดับสูงสุดของอเมริกันถูกสังหารเสียชีวิตเป็นศพแรกนับตั้งแต่ปี 1979 เป็นต้นมาเช่นนี้ ไม่น่าที่จะผ่านพ้นไปโดยไม่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาสะท้อนกลับ สำหรับภูมิภาคตะวันออกกลางที่กำลังปะจุพลังเอาไว้อย่างเต็มที่อยู่แล้ว วิกฤตการณ์คราวนี้สามารถที่จะลุกลามแผ่กว้างจนกระทั่งควบคุมเอาไว้ไม่อยู่ และบานปลายเลยล้ำแม้กระทั่งจินตนาการของพวกที่วางแผนเรื่องนี้ขึ้นมาในตอนแรก

**หมายเหตุ**

[1] ดูเรื่อง US officials: Attack on consulate in Libya may have been planned, Washington Post, September 12, 2012.
[2] ดูเรื่อง US ambassador to Libya killed in Benghazi attack, , Reuters, September 12, 2012.
[3] ดูเรื่อง THE ATTACK ON THE US CONSULATE WAS A PLANNED TERRORIST ASSAULT AGAINST US AND LIBYAN INTERESTS, Quilliam, September 12, 2012.
[4] ดูเรื่อง Romney under friendly fire for his response to embassy attack in Libya, - election.html, Yahoo! News, September 13, 2012.
[5] ดูเรื่อง What We Know About 'Sam Bacile,' The Man Behind The Muhammad Movie, NPR, September 12, 2012.

วิกเตอร์ คอตเซฟ เป็นนักหนังสือพิมพ์และนักวิเคราะห์การเมือง ซึ่งตั้งฐานอยู่ในเทลอาวีฟ
กำลังโหลดความคิดเห็น