เอเอฟพี - เขตปกครองตนเองหมู่เกาะคุก (Cook Islands) ของนิวซีแลนด์ประกาศจัดตั้งเขตอนุรักษ์ทางทะเลขนาดใหญ่ที่สุดในโลกผ่านเวทีประชุมกลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก (พีไอเอฟ) เมื่อวานนี้(28) โดยมีขนาดใหญ่ประมาณ 2 เท่าของประเทศฝรั่งเศส
นายกรัฐมนตรี เฮนรี ปูนา แห่งหมู่เกาะคุก เปิดเผยว่า เขตอนุรักษ์ทางทะเลแห่งใหม่ซึ่งมีพื้นที่ราวๆ 1.065 ล้านตารางกิโลเมตร “เป็นเขตอนุรักษ์ในประเทศเดียวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยจะมีการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรในมหาสมุทรแบบบูรณาการ”
การปกป้องมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งเป็นระบบนิเวศทางทะเลที่ยังบริสุทธิ์แห่งท้ายๆของโลกนั้น ถือเป็นภารกิจครั้งสำคัญของหมู่เกาะคุก ซึ่งนอกจากจะเป็นไปเพื่อความกินดีอยู่ดีของชาวเกาะคุกเองแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติด้วย ปูนา ระบุ
“อุทยานทางทะเลแห่งนี้จะเสนอแนวทางที่จำเป็นต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยสร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เช่น การท่องเที่ยว, การประมง และการสำรวจทรัพยากรกลางทะเลลึก กับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในมหาสมุทร”
เมื่อเดือนมิถุนายน รัฐบาลออสเตรเลียประกาศจัดตั้งเครือข่ายเขตอนุรักษ์ทางทะเล ซึ่งกินพื้นที่รวมถึง 3.1 ล้านตารางกิโลเมตร หรือกว่า 1 ใน 3 ของน่านน้ำออสเตรเลีย ทว่าเขตอนุรักษ์แต่ละแห่งนั้นอยู่กระจัดกระจายกัน ขณะที่เขตอนุรักษ์ของหมู่เกาะคุกซึ่งครอบคลุมน่านน้ำทางตอนใต้ทั้งหมด จัดเป็นเขตอนุรักษ์ทางทะเลแห่งเดียวที่กินพื้นที่กว้างขวางที่สุดในโลก
แม้ว่าเกาะย่อยทั้ง 15 เกาะที่ประกอบรวมเป็นหมู่เกาะคุกจะมีพื้นที่ใหญ่กว่ากรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพียงเล็กน้อย ทว่าท้องทะเลโดยรอบกลับเต็มไปด้วยทรัพยากรที่ทรงคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อม เช่น แนวปะการัง, ทุ่งหญ้าทะเล และปลาหลากหลายสายพันธุ์
หมู่เกาะแปซิฟิกอื่นๆ เช่น สาธารณรัฐคิริบาส และเขตปกครองตนเองโตเกเลาของนิวซีแลนด์ เริ่มประกาศเขตอนุรักษ์ทางทะเลขนาดใหญ่ไปแล้ว ส่วนนิวแคลิโดเนียซึ่งเป็นดินแดนโพ้นทะเลของฝรั่งเศสก็จะจัดตั้งอุทยานทางทะเลซึ่งกินพื้นที่ราว 1.4 ล้านตารางกิโลเมตร ภายในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
มาเรอา ฮัตซิโอโลส ผู้เชี่ยวชาญด้านทะเลและชายฝั่งของธนาคารโลก ชี้ว่า แนวคิดริเริ่มของหมู่เกาะคุกนอกจากจะช่วยปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว ยังเป็นช่องทางสร้างรายได้แก่หมู่เกาะคุกไปในตัว โดยเขตอนุรักษ์จะประกอบด้วยพื้นที่หลักที่ห้ามทำประมงโดยเด็ดขาด และพื้นที่พิเศษที่อนุญาตให้ทำประมงและเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งมาตการเหล่านี้จะช่วยให้สัตว์น้ำที่มีคุณค่าในเชิงพาณิชย์อย่างปลาทูนาสามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้ตามธรรมชาติ