xs
xsm
sm
md
lg

ยุทธศาสตร์ในแอฟริกาของจีน‘ชนะ’ของสหรัฐฯ (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: เบรนดัน โอไรลีย์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

China’s winning strategy in Africa
By Brendan O'Reilly
14/08/2012

เสียงป่าวร้องที่ว่า การผงาดขึ้นมาของจีนในแอฟริกามีค่ามีความหมายเท่ากับการดำเนินลัทธิอาณานิคมแผนใหม่ และกำลังทำให้ชาวแอฟริกาไม่พอใจนั้น เอาเข้าจริงแล้วก็เป็นเพียงความคิดที่ปรากฏอยู่ในสมองของพวกนักวิเคราะห์ชาวตะวันตกเป็นสำคัญ แท้ที่จริงแล้วมีความผิดแผกแตกต่างกันอย่างชัดแจ้งระหว่างนโยบายการต่างประเทศของปักกิ่งกับของวอชิงตัน และไม่มีสถานที่ใดเลยที่เรื่องเช่นนี้จะมองเห็นได้อย่างกระจะตายิ่งกว่าในกาฬทวีปอีกแล้ว กล่าวคือ ผลประโยชน์ของจีนนั้นเป็นเรื่องของเศรษฐกิจล้วนๆ ขณะที่สหรัฐฯยังคงมุ่งสาละวนอยู่กับการมีฐานะครอบงำในทางการทหาร

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

การแข่งขันกันระหว่างจีนกับสหรัฐฯกำลังขยายตัวเลยไกลออกไปจากจุดร้อนแรงที่ทะเลจีนใต้ในปัจจุบันมากมายนัก ในขณะที่เศรษฐกิจของจีนเติบโตขึ้นมาอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง การจับกลุ่มรวมตัวเป็นพันธมิตรกันใหม่ในระดับทั่วโลกก็กำลังปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนมากขึ้นๆ ภูมิภาคต่างๆ ที่เคยตกอยู่ในความครอบงำของฝ่ายตะวันตกมาหลายศตวรรษ เวลานี้กำลังเคลื่อนเข้าไปในวงโคจรของจีน กลายเป็นการท้าทายฐานะของอเมริกาที่นั่งอยู่ยอดบนสุดของโลกที่ครั้งหนึ่งเคยมีขั้วอำนาจอยู่เพียงขั้วเดียวเท่านั้น

แนวโน้มเช่นนี้มีหลักฐานให้เห็นประจักษ์ได้มากมายเป็นพิเศษในแอฟริกา สหรัฐฯในเวลานี้กำลังหาทางตอบโต้จีนซึ่งเดินหน้าบุกเข้าไปในกาฬทวีปนี้ทั้งทางเศรษฐกิจและทางการเมือง นโยบายต่อแอฟริกาทั้งของสหรัฐฯและของจีนจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญ ไม่เพียงในฐานะของตัวมันเองเท่านั้น หากยังเป็นเพราะนโยบายเหล่านี้ยังทำหน้าที่บ่งบอกให้เห็นถึงความผิดแผกแตกต่างกันอย่างสำคัญ ในยุทธศาสตร์การต่างประเทศและโลกทัศน์โดยทั่วไปของมหาอำนาจทั้งสองรายนี้อีกด้วย

รัฐมนตรีต่างประเทศ ฮิลลารี รอดแนม คลินตัน ของสหรัฐฯนั้น พยายามเร่งรีบตั้งคำถามขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่จีนมีอยู่กับแอฟริกา พร้อมกับเน้นย้ำให้เห็นสิ่งที่เธอระบุว่าเป็นความผิดแผกแตกต่างกันในนโยบายต่อแอฟริกาของสหรัฐฯและของจีน ระหว่างที่เธอไปเยือนเซเนกัล (จุดแวะจุดแรกในเที่ยวการตระเวนเยือนแอฟริกาของเธอ) *1* เธอได้กล่าวยกย่องโปรโมต “โมเดลแห่งความเป็นหุ้นส่วนกันอย่างยั่งยืนที่เป็นการเพิ่มมูลค่า แทนที่จะสกัดเอามูลค่าออกไป” เธอยังพูดต่อไปโดยให้คำมั่นสัญญาว่า “อเมริกาจะยืนหยัดปกป้องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนที่เป็นคุณค่าระดับสากลต่อไป แม้กระทั่งในเวลาที่มันอาจจะดูสะดวกง่ายดายกว่าที่จะทำเป็นเบือนหน้าหนีไปอีกทางหนึ่ง และคอยใส่ใจแค่ประคับประคองให้ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ยังคงทะลักไหลหลั่งออกมาไม่ขาดสาย” [1]

คำพูดต่างๆ เหล่านี้เป็นที่เข้าใจกันอย่างกว้างขวางว่า คือการฟาดกระหน่ำอย่างชนิดแทบไม่มีการปิดบังอำพรางเลย ต่อความพยายามทั้งหลายทั้งปวงของฝ่ายจีนในภูมิภาคแถบนี้ ทางด้านสื่อมวลชนของจีนก็ได้แสดงปฏิกิริยาตอบโต้กลับอย่างฉับไว โดยบอกว่าคำพูดของคลินตันเป็นเพียง “การเล่นงานคนอื่นโดยไม่เป็นธรรม” บทบรรณาธิการชิ้นหนึ่งของสำนักข่าวซินหวาของทางการจีน ซึ่งใช้ชื่อเรื่องว่า “แผนกโลบายของสหรัฐฯที่มุ่งหว่านโปรยความไม่ลงรอยกันระหว่างจีนกับแอฟริกาจักต้องล้มเหลวอย่างแน่นอน” (US plot to sow discord between China, Africa is doomed to fail) เขียนเอาไว้ดังนี้:

“ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับแอฟริกาที่กำลังเฟื่องฟูเป็นอย่างมาก มีที่มาที่ไปทั้งจากมิตรภาพที่เก่าแก่ยาวนานของพวกเขา และจากความต้องการในการพัฒนาที่ส่งเสริมเพิ่มเติมให้แก่กันและกัน การที่จีนให้ความเคารพและความสนับสนุนอย่างจริงใจต่อเส้นทางการพัฒนาต่างๆ ของบรรดาประเทศแอฟริกาเป็นสิ่งที่ได้รับการยกย่องและได้รับการต้อนรับตลอดทั่วทั้งทวีปนี้ การมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างฉันมิตรและเอื้อประโยชน์ให้แก่กันและกันระหว่างจีนกับแอฟริกา ทำให้การพูดจาส่อเสียดให้เกิดการแตกแยกของคลินตันกลายเป็นการพูดโกหกอย่างชัดแจ้ง” [2]

จำเป็นที่เราจะต้องจัดการกลั่นกรองคำโฆษณาชวนเชื่อทั้งหลายของทั้งสองฝ่ายเหล่านี้ เพื่อให้ได้ความจริงอย่างชนิดไร้อคติซึ่งอยู่เบื้องหลังแรงจูงใจต่อแอฟริกาทั้งของสหรัฐฯและของจีน
ทั้งสองประเทศต่างเคลื่อนไหวแสดงบทบาทต่างๆ อยู่ในแอฟริกาก็เพื่อส่งเสริมสนับสนุนสิ่งที่แต่ละฝ่ายเห็นว่าเป็นผลประโยชน์แห่งชาติของตนเอง แต่ขณะที่สหรัฐฯพูดเน้นไปที่เรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย เรื่องการต่อต้านการก่อการร้ายและความมั่นคงต่างหากคือสิ่งที่มีลำดับความสำคัญสูงสุดในวาระของอเมริกา ในเวลาเดียวกัน “ปฏิสัมพันธ์ฉันมิตร” ที่จีนมีอยู่กับบรรดารัฐแอฟริกานั้น ก็เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในทางเศรษฐกิจแทบจะทั้งหมดทีเดียว

ตัวเลขอย่างหยาบๆ เปิดเผยให้เราทราบว่า จีนกำลังสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลอยู่ในแอฟริกา การค้าขายระหว่างแอฟริกากับจีนในปีที่แล้วพุ่งพรวดขึ้นมาเป็นกว่า 3 เท่าตัวของเมื่อปี 2006 และผ่านทะลุระดับ 166,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ [3]

เกินกว่าครึ่งหนึ่งของตัวเลขนี้ มาจากการส่งออกของแอฟริกาไปยังจีน โดยมีมูลค่า 93,000 ล้านดอลลาร์ สินค้าส่งออกของแอฟริกาส่วนใหญ่แล้วเป็นพวกวัตถุดิบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันปิโตรเลียม และทองแดง ส่วนสินค้าที่แอฟริกานำเข้าจากจีนนั้นจำนวนมากเป็นพวกสินค้าผู้บริโภคและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับทางด้านการลงทุน ตามข้อมูลตัวเลขของปักกิ่ง ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา จีนได้ไปทำการลงทุนเชิงพาณิชย์ในแอฟริกาเป็นมูลค่า 15,000 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2009 จีนสามารถแซงหน้าสหรัฐฯกลายเป็นคู่ค้าหมายเลขหนึ่งของแอฟริกาไปเรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม บทบาทความเคลื่อนไหวของจีนในแอฟริกายังขยายตัวเลยไกลไปจากการค้าขายอันคึกคักในด้านทรัพยากรธรรมชาติและสินค้าอุตสาหกรรมมากมายนัก เมื่อเดือนที่แล้ว ณ เวทีการประชุมว่าด้วยความร่วมมือระหว่างแอฟริกากับจีน (Forum on Africa-China Cooperation) ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 ฝ่ายจีนได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะปล่อยเงินกู้แก่รัฐบาลของรัฐแอฟริกาต่างๆ เป็นจำนวน 20,000 ล้านดอลลาร์ ตัวเลขนี้ก็เป็นการเดินตามแบบแผนในการประชุมเช่นนี้ครั้งก่อนๆ นั่นคือ แดนมังกรเพิ่มเงินกู้ขึ้นไปให้อีกครั้งละเท่าตัว กล่าวคือ จากปี 2006 จีนให้สัญญาที่จะให้เงินกู้ 5,000 ล้านดอลลาร์ แล้วพอถึงปี 2009 ก็มีการทำความตกลงกันในวงเงินกู้ระดับ 10,000 ล้านดอลลาร์ ก่อนจะมาเป็น 20,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ ทางด้านสายสัมพันธ์ระหว่างแอฟริกากับจีนในระดับสูงขึ้นไปจากรัฐบาลของแต่ละชาติ ก็มีความเหนียวแน่นมั่นคงขึ้นอีก จากการที่จีนทำการก่อสร้างสำนักงานใหญ่ขององค์การสหภาพแอฟริกา (African Union)*2* ขึ้นในที่ตั้งที่กรุงแอดดิสอาบาบา ประเทศเอธิโอเบีย โดยไม่คิดมูลค่าใดๆ

เป็นที่ชัดเจนว่ารัฐบาลจีนก็คาดหวังที่จะได้ดอกผลกำรี้กำไร จากการที่ตนเข้าไปลงทุนอย่างมโหฬารในกาฬทวีป เงินกู้จำนวนมากที่แดนมังกรปล่อยให้แก่แอฟริกานั้น มุ่งเน้นไปที่พวกโครงการทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้ถนนหนทาง, ทางรถไฟ, และท่าเรือใหม่ๆ ในขณะที่เห็นได้กระจะว่าเป็นประโยชน์แก่ชาวแอฟริกาเองนั้น มันก็ยังช่วยอำนวยความสะดวกในการส่งออกทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ จากกาฬทวีปมาสู่แดนมังกรด้วย

เมื่อสำรวจดูบทบาทของจีนในแอฟริกา ก็จะพบว่ามีจุดศูนย์รวมอยู่ที่เรื่องเศรษฐกิจอย่างโดดเด่นอยู่เรื่องเดียว การให้ความสำคัญเน้นหนักอยู่ที่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการมีสายสัมพันธ์ทางการค้าเพิ่มพูนยิ่งๆ ขึ้นกับประเทศอื่นๆ กำลังกลายจุดตัดสินนโยบายการต่างประเทศของแดนมังกร ทั้งนี้ไม่เฉพาะแต่กับแอฟริกาเท่านั้น หากกับตลอดทั่วทั้งโลกทีเดียว คณะผู้นำจีนในปัจจุบันสามารถดำรงความชอบธรรมในการปกครองของตนเอาไว้ได้ ที่สำคัญแล้วก็อยู่ที่ศักยภาพในการสร้างมาตรฐานการครองชีพที่กระเตื้องดีขึ้นเรื่อยๆ ให้แก่พลเมืองของตน และความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจที่กำลังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องของแดนมังกรนั้น จำนวนมากขึ้นอยู่กับความมั่งคั่งร่ำรวยที่สร้างสมขึ้นมาโดยอาศัยการค้าระหว่างประเทศ การที่ปักกิ่งติดต่อสัมพันธ์กับระบอบปกครองที่น่ารังเกียจต่างๆ ในแอฟริกา ไม่ใช่เป็นเพราะมีเจตนาที่จะสบประมาทความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของฝ่ายตะวันตก หากแต่ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตนเองโดยแท้

ในเวลาเดียวกัน พวกตะวันตกที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์ผลกระทบของจีนในแอฟริกา กลับมักจะเพิกเฉยมองข้ามทัศนะความคิดเห็นของชาวแอฟริกาเอง ไม่ต้องสงสัยเลยว่าในแอฟริกาก็มีความวิตกกังวลกันอยู่เหมือนกันเกี่ยวกับการที่จีนปรากฏตัวแสดงบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในกาฬทวีป ณ เวทีการประชุมว่าความร่วมมือระเหว่างแอฟริกากับจีนครั้งที่ 5 ประธานาธิบดี จาค็อบ ซูมา (Jacob Zuma) ของแอฟริกาใต้ ได้แสดงการติติงเล็กๆ เกี่ยวกับความสัมพันธ์จีน-แอฟริกา เอาไว้ดังนี้:

“ความรับผิดชอบของแอฟริกาที่มีต่อการพัฒนาของจีนนั้น สาธิตให้เห็นในรูปของการจัดส่งวัตถุดิบต่างๆ, ผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นๆ, และการถ่ายโอนเทคโนโลยี ... แบบแผนการค้าเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่มีความยั่งยืนในระยะยาว ประสบการณ์ทางเศรษฐกิจที่แอฟริกามีอยู่กับยุโรปในอดีตนั้น บงการให้เราจำเป็นต้องมีความระแวดระวังให้ดี เมื่อย่างก้าวเข้าสู่การเป็นหุ้นส่วนกับระบบเศรษฐกิจอื่นๆ” [4]

ความเคลือบแคลงสงสัยของซูมาเกี่ยวกับแบบแผนทางการค้าระหว่างจีนกับกาฬทวีปนี้ คือตัวแทนของความวิตกห่วงใยร่วมกันในหมู่ผู้นำแอฟริกาบางราย อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ได้หมายความว่า มันเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงทัศนคติต่อต้านจีนโดยทั่วไปที่ปรากฏอยู่ตลอดทั่วทั้งทวีปนี้

เบรนดัน พี โอไรลีย์ เป็นนักเขียนและนักการศึกษาที่มาจากเมืองซีแอตเติล, สหรัฐอเมริกา แต่ปัจจุบันพำนักอยู่ในจีน เขาเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง
The Transcendent Harmony

(อ่านต่อตอน2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น