xs
xsm
sm
md
lg

‘จีน’ก้าวย่างไปบนเส้นทางสายใหม่ใน‘ลิเบีย’

เผยแพร่:   โดย: เจี่ยน จวินโป

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

China treads new path in Libya
By Jian Junbo
16/06/2011

ขณะที่วิกฤตในลิเบียยังคงยืดเยื้อไม่มีทีท่าจะคลี่คลาย จีนก็ได้ละทิ้งนโยบายของตนที่จะไม่เข้าแทรกแซงอะไรทั้งสิ้น ด้วยการหันมาพยายามหาทางแสดงบทบาทเป็นผู้สร้างสันติภาพ โดยผ่านการติดต่อกับทั้งสองฝ่ายในความขัดแย้งคราวนี้ แน่นอนทีเดียวว่าในการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ปักกิ่งต้องการที่จะปกป้องรักษาการลงทุนอันมากมายมหาศาลของตนในประเทศแอฟริกาเหนือแห่งนี้ แต่พร้อมกันนั้นแดนมังกรก็ต้องการที่จะเรียนรู้วิธีการในการก้าวขึ้นเป็นผู้เล่นซึ่งมีความรับผิดชอบในเวทีระหว่างประเทศด้วย

ลอนดอน – สัญญาณหลายประการในระยะหลังๆ นี้บ่งชี้ให้เห็นว่า ปักกิ่งกำลังเปลี่ยนแปลงนโยบายที่ตนมีต่อลิเบีย โดยเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ออกจะสุขุมละเอียดอ่อน ทั้งนี้อาจจะเนื่องจากรู้สึกว่าวิกฤตการณ์ในชาติแอฟริกาเหนือรายนี้ยังน่าจะดำเนินไปอย่างไม่มีทีท่ายุติลง ดังนั้นจีนจึงควรที่จะคำนึงถึงความปลอดภัยเอาไว้ก่อน ด้วยการหาทางหนีทีไล่หลายๆ ทาง เพื่อป้องกันและลดทอนความเสี่ยงทั้งหลายที่อาจจะบังเกิดขึ้นได้

ตามรายงานของสื่อมวลชนภาครัฐของจีน เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ณ กรุงปักกิ่ง รัฐมนตรีต่างประเทศ หยาง เจี๋ยฉือ ของจีน ได้พบปะกับ อับเดลาติ โอเบดิ (Abdelati Obeidi) เลขาธิการของคณะกรรมการใหญ่แห่งประชาชนเพื่อการติดต่อกับต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งลิเบีย (General People's Committee for Foreign Liaison and International Cooperation of Libya) อีกทั้งยังกำลังทำหน้าที่เป็นผู้แทนพิเศษของระบบปกครองแห่งตริโปลีในการเยือนประเทศจีนด้วย ข่าวบอกว่าทั้งสองฝ่ายได้ “หารือกันถึงสถานการณ์ปัจจุบันในลิเบีย และแลกเปลี่ยนทัศนะกันเกี่ยวกับหนทางแก้ไขวิกฤตคราวนี้”

อย่างไรก็ดี ในวันถัดมานั้นเอง เฉิน เสี่ยวตง (Chen Xiaodong) ผู้อำนวยการกองเอเชียตะวันตกเฉียงเหนือและแอฟริกา ของกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้กล่าวในการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนจีนว่า จีนมีเจตนารมณ์ที่จะรักษาการติดต่อกับ สภาเพื่อการเปลี่ยนผ่านอำนาจแห่งชาติลิเบีย (National Transitional Council of Libya) ซึ่งตั้งฐานอยู่ที่เมืองเบงกาซี อันเป็นกลุ่มกบฎที่กำลังสู้รบกับระบอบปกครองตริโปลีของ พ.อ.มูอัมมาร์ กัดดาฟี (Muammar Gaddafi)

เฉินกล่าวต่อไปว่า เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์นี้ ปักกิ่งจึงมีความปรารถนาที่จะเชื้อเชิญผู้แทนของกลุ่มกบฎลิเบียกลุ่มนี้มาเยือนประเทศจีน นอกจากนั้น เขาเน้นว่าเพื่อแผ้วถางทางไปสู่หนทางแก้ไขวิกฤตที่ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องนี้ด้วยวิถีทางการเมือง จีนจึงได้ใช้ความพยายามเพิ่มมากขึ้นในการชักชวนโน้มน้าวทุกๆ ฝ่ายในความขัดแย้งนี้ให้เริ่มต้นเปิดการเจรจากัน

ตามคำแถลงของโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนนั้น แท้ที่จริงตั้งแต่ก่อนหน้าที่คณะผู้แทนของตริโปลีจะไปเยือนปักกิ่งเสียอีก จาง ฉือเหลียง (Zhang Zhiliang) เอกอัครราชทูตจีนประจำกาตาร์ ก็ได้พบปะหารือกับ มุสตาฟา อับเดล จาลิล (Mustafa Abdel Jalil) ประธานของสภาเพื่อการเปลี่ยนผ่านอำนาจ ของฝ่ายเบงกาซี

ยิ่งกว่านั้น หลี่ เหลียนเหอ (Li Lianhe) อัครราชทูตที่ปรึกษา (minister-counselor) ของสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำอียิปต์ ยังได้เดินทางไปเยือนเบงกาซีมาแล้ว “โดยจุดมุ่งหมายหลักก็เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ทางด้านมนุษยธรรม ตลอดจนสภาพความเป็นไปของบรรดาบริษัทแห่งรัฐของจีนในพื้นที่ดังกล่าว” ในเวลาเดียวกัน เขายังได้ติดต่อสร้างสายสัมพันธ์กับพวกผู้นำของสภาเพื่อการเปลี่ยนผ่านอำนาจอีกด้วย

ถ้อยแถลงและการกระทำดังกล่าวเหล่านี้ของบรรดาเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของจีน เป็นการส่งสัญญาณให้เห็นว่า ปักกิ่งกำลังทำการปรับเปลี่ยนอย่างสุขุมละเอียดอ่อน ในนโยบายของตนที่มีต่อลิเบีย ในมิติอย่างน้อยที่สุด 2 มิติด้วยกัน นับแต่ที่องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization หรือ นาโต้) ได้เริ่มต้นนำการปฏิบัติการโจมตีทางอากาศถล่มใส่ระบอบปกครองกัดดาฟีในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

มิติแรก ปักกิ่งในเวลานี้ต้องการที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันในวิกฤตลิเบียในลักษณะเชิงรุกมากขึ้น และกำลังละทิ้งจุดยืนแต่ไหนแต่ไรมาของตนที่จะยืนยันวางตัวเป็นคนดูเฉยๆ เท่านั้น มิติที่สอง แดนมังกรต้องการที่จะติดต่อกับทั้ง 2 ฝ่าย นั่นคือระบอบปกครองตริโปลี และกลุ่มกบฎที่เป็นปรปักษ์กัน ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งเมื่อมองในทางปฏิบัติ มันก็คือการยกเลิกหลักการที่ปักกิ่งยึดมั่นมาอย่างยาวนาน ที่ว่าจะไม่เข้าแทรกแซงใดๆ ในกิจการภายในของประเทศอื่น

ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเหล่านี้ สามารถที่จะมองเห็นและเข้าใจได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ด้วยการย้อนกลับไปพิจารณาดูการค่อยๆ ปรับเปลี่ยนจุดยืนของจีนที่มีต่อวิกฤตลิเบียคราวนี้

ในเดือนมีนาคม จีนซึ่งมีฐานะเป็นสมาชิกถาวรรายหนึ่งของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council หรือ UNSC) ได้ลงมติงดออกเสียง แทนที่จะออกเสียงคัดค้านซึ่งจะเท่ากับเป็นการใช้สิทธิยับยั้ง ต่อญัตติฉบับที่ 1973 ของ UNSC โดยที่ญัตติดังกล่าวเปิดทางให้มีการใช้กำลังเพื่อบังคับให้เกิดเขตห้ามบิน (no-fly zone) ขึ้นในลิเบีย เหตุผลสำคัญที่ทำให้ปักกิ่งออกเสียงเช่นนี้ ก็เพราะไม่ต้องการไปละเมิดบรรดารัฐสมาชิกของสันนิบาตอาหรับ (League of Arab States) และของสหภาพแอฟริกา (African Union) ซึ่งต้องการให้ญัตติฉบับนี้ผ่านออกมาบังคับใช้

อย่างไรก็ตาม เพียงไม่นานต่อมาจีนก็ตระหนักว่าตนเองได้สูญเสียเกียรติภูมิไประดับหนึ่งในสายตาของพวกประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกอาหรับ เนื่องจากการงดออกเสียงของแดนมังกรกลายเป็นการกระตุ้นส่งเสริมให้โลกตะวันตกเข้าไปดำเนินการแทรกแซงในลิเบีย (ซึ่งถึงอย่างไรก็มีฐานะเป็นรัฐอธิปไตย) ด้วยการหนุนหลังพวกกบฎ ดังนั้น จีนจึงต้องแสดงการคัดค้านอย่างแข็งขันต่อการที่นาโต้นำการปฏิบัติการโจมตีทิ้งระเบิดถล่มลิเบีย ตั้งแต่ที่การปฏิบัติการเช่นนี้เริ่มต้นขึ้นไม่นานนัก

ครั้นเมื่อความขัดแย้งระหว่างฝ่ายตริโปลี กับฝ่ายเบงกาซีที่ได้รับการสนับสนุนจากนาโต้ มีสภาพกลายเป็นศึกชักกะเย่อที่ดูไม่มีทางยุติลงได้ง่ายๆ จีนก็ได้หันมาใช้ท่าทีเงียบเฉยเป็นส่วนใหญ่ โดยที่มีการส่งเสียงในลักษณะถ้อยคำโวหารบ้าง และในลักษณะภาษาทางการทูตบ้างเป็นครั้งคราว

เวลานี้ท่าทีเช่นนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ด้วยการที่ปักกิ่งแสดงความต้องการที่จะเล่นบทบาทเป็นผู้สร้างสันติภาพ โดยที่จะทำบทบาทนี้ได้ปักกิ่งจำเป็นที่จะต้องมีการติดต่อกับทั้งสองฝ่าย –พร้อมๆ กันนั้นก็จะต้องไม่แสดงออกให้เป็นที่เข้าใจไปได้ว่ากำลังเข้าข้างยืนอยู่กับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

เหตุผลสำคัญที่สุดสำหรับการปรับเปลี่ยนนโยบายเช่นนี้ ก็คือจีนต้องการที่จะรักษาผลประโยชน์แห่งชาติของตนเอาไว้ในระดับสูงสุด นั้นคือจะต้องวางตัวเองให้อยู่ในฐานะที่สามารถติดต่อกับใครก็ตามที่ลงท้ายแล้วกลายเป็นผู้ชนะในลิเบีย ทั้งนี้เนื่องจากปักกิ่งมีการลงทุนอย่างมากมายมหาศาลอยู่ในลิเบีย ส่วนใหญ่ในภาคพลังงานและภาคการก่อสร้าง

บริษัทรับเหมาจัดทำโครงการของจีนบางราย เป็นต้นว่า บรรษัทไชน่า เกอโจวป้า คอร์ป (China Gezhouba Corp) ตลอดจน บริษัทการก่อสร้างทางรถไฟและโลหะการแห่งประเทศจีน (China Railway Construction and Metallurgical Co) ต่างมีโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ในลิเบีย บริษัทจีนส่วนใหญ่นั้นถ้าไม่ถอนตัวออกไปจากลิเบีย ก็ยุติการดำเนินงานเอาไว้ก่อน ขณะที่ชาวจีนจำนวนมากก็ถูกสั่งให้อพยพออกมาจากประเทศนั้นแล้ว

ผู้ทำหน้าที่โฆษกให้แก่ แซดทีอี คอร์ป (ZTE Corp) บริษัทผลิตอุปกรณ์ด้านการสื่อสารโทรคมนาคมที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของจีน แถลงว่า ลูกจ้างพนักงานของบริษัทรวม 88 คนได้ถูกอพยพออกมาจากลิเบียแล้ว ทั้งนี้ แซดทีอี คอร์ป นับเป็นผู้จัดส่งอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดในลิเบีย และตั้งแต่ปี 1999 เป็นต้นมา ได้ลงทุนไปในประเทศนี้แล้วเป็นมูลค่ารวม 3,000 ล้านหยวน (457 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)

การที่ปักกิ่งหันมาใช้นโยบายป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในทุกๆ ด้านเช่นนี้ ถือว่าเป็นการละเมิดหลักการการไม่แทรกแซงที่เคยยึดถืออยู่ ทว่าไม่มีเหตุผลใดๆ เลยที่จะรีบด่วนสรุปว่า นี่เป็นสัญญาณแสดงให้เห็นว่าจีนกำลังจะละทิ้งหลักการนี้อย่างสิ้นเชิง ทั้งนี้นี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกด้วยที่แดนมังกรกระทำเช่นนี้

ก่อนที่วิกฤตการณ์ดินแดนดาร์ฟูร์ (Darfur) ในซูดานจะได้รับการแก้ไขนั้น จีนได้มีการติดต่ออย่างแข็งขันกับพวกกลุ่มกบฎในซูดานใต้ และกระทั่งได้ลงนามในข้อตกลงทางเศรษฐกิจหลายฉบับกับกลุ่มเหล่านี้ รวมทั้งจัดตั้งหน่วยงานขึ้นแห่งหนึ่งในเมืองจูบา (Juba) เมืองหลวงของซูดานใต้ ขณะเดียวกันจีนก็ยังคงรับรองระบอบปกครองกรุงคาร์ทูม ว่าเป็นผู้มีอำนาจอันชอบด้วยกฎหมายของซูดาน

แน่นอนทีเดียวว่าจีนสามารถที่จะช่วยเหลือหาหนทางแก้ไขวิกฤตในลิเบีย เนื่องจากมีการติดต่อเชื่อมโยงอยู่กับทั้งสองฝ่าย และจะยังคงประสานงานร่วมมือกับพวกมหาอำนาจตะวันตก ในฐานะที่แดนมังกรเป็นสมาชิกถาวรรายหนึ่งของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

กระนั้นจีนก็ยังต้องเรียนรู้อีกมากในเรื่องการบริหารจัดการกับสถานการณ์ระหว่างประเทศที่เต็มไปด้วยความสลับซับซ้อน ขณะที่ในเวลาเดียวกันนั้นก็จะต้องยึดมั่นอยู่กับหลักการหรือปรัชญาในทางการทูตของตน สำหรับในแง่นี้แล้ว จีนยังคงเป็นมือใหม่หัดขับ และมีอะไรที่จะต้องศึกษามากมายก่อนที่จะเติบโตกลายเป็นผู้เล่นที่มีความรับผิดชอบและละเอียดอ่อนในเวทีระหว่างประเทศ

ดร.เจี่ยน จวินโป เป็นรองศาสตราจารย์ของสถาบันการระหว่างประเทศศึกษา (Institute of International Studies Institute of International Studies) แห่งมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น (Fudan University) มหานครเซี่ยงไฮ้, ประเทศจีน ปัจจุบันเขาเป็นผู้เยี่ยมเยียนทางวิชาการ (academic visitor) ณ ลอนดอน สคูล ออฟ อีโคโนมิกส์ แอนด์ โพลิติคอล ซายซ์ (London School of Economics and Political Science) สหราชอาณาจักร
กำลังโหลดความคิดเห็น