รอยเตอร์/เอเอฟพี/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - กลุ่มภราดรภาพมุสลิม หรือ “มุสลิม บราเธอร์ฮูด” องค์กรด้านการเมืองที่ใหญ่ที่สุดของชาวมุสลิมในอียิปต์ ออกมาประกาศในวันนี้ (18) อ้าง ผู้สมัครของตน คือ โมฮาเหม็ด มอร์ซี อิซา อัล อัยยัต เป็นฝ่ายคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยได้คะแนนเสียงร้อยละ 52 หรือมากกว่าครึ่งหนึ่ง
กลุ่มภราดรภาพมุสลิมอ้างว่านายมอร์ซี วัย 60 ปี ประธานพรรคฟรีดอม แอนด์ จัสติซ ปาร์ตี้ (เอฟเจพี) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ทางกลุ่มก่อตั้งขึ้น เป็นฝ่ายได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเสรีครั้งแรกของอียิปต์หลังสิ้นยุคการปกครองของฮอสนี มูบารัค โดยระบุมอร์ซีได้คะแนนเสียงราวร้อยละ 52.5 ส่วนคู่แข่ง คือ นายอาเหม็ด ชาฟิค อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพอากาศและอดีตนายกรัฐมนตรีคนสุดท้ายของระบอบมูบารัค วัย 70 ปีได้คะแนนร้อยละ 47.5 ขณะที่การนับคะแนนเสร็จสิ้นไปแล้วราว ร้อยละ 98 ของหน่วยเลือกตั้งกว่า 13,000 แห่งทั่วประเทศ
ด้านทีมงานหาเสียงของพรรคเอฟเจพีเปิดเผยผ่านทวิตเตอร์อย่างเป็นทางการของพรรคโดยระบุว่า นายมอร์ซีกำลังจะได้กลายเป็นประธานาธิบดีคนแรกของอียิปต์ที่มาจากการเลือกตั้งเสรีของประชาชนอย่างแท้จริง
ขณะที่นายมอร์ซีออกมาให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่กรุงไคโร เมืองหลวงของประเทศ แสดงความขอบคุณชาวอียิปต์ที่ให้ความไว้วางใจเลือกเขามาทำหน้าที่ประธานาธิบดี พร้อมยืนยันจะร่วมมือกับทุกฝ่ายในการนำพาประเทศชาติไปสู่อนาคตที่ดีขึ้นหลังอียิปต์ต้องกลายสภาพเป็นดินแดนแห่งความวุ่นวาย นับตั้งเกิดการลุกฮือของประชาชนเพื่อโค่นล้มอำนาจของอดีตประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัคเมื่อปีที่แล้ว
อย่างไรก็ดี มะห์มุด บาราเกห์ หนึ่งในหัวหน้าทีมงานหาเสียงของอาเหม็ด ชาฟิค ออกแถลงการณ์คัดค้านการประกาศชัยชนะของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมและนายมอร์ซีในวันนี้ (18) เช่นกัน โดยระบุว่าเป็นความพยายามของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมที่ต้องการจะ “ปล้นชัยชนะ” ของนายชาฟิคในการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์นี้ พร้อมยืนยัน นายชาฟิค เป็นผู้ที่มีคะแนนนำในการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ดี การเลือกตั้งประธานาธิบดีหนนี้มีขึ้นท่ามกลางความปั่นป่วนทางนิติบัญญัติ หลังจากที่คณะผู้นำทางทหารภายใต้ชื่อสภาสูงสุดของกองทัพ (SCAF) ซึ่งยังคงเป็นผู้ครองอำนาจตัวจริงออกมายืนยันว่า สภาผู้แทนราษฎรที่ฝ่ายอิสลามิสต์ครองเสียงข้างมากอยู่นั้นได้ถูกยุบเลิกไปแล้วส่งผลให้ประธานาธิบดีคนใหม่ที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนจะต้องขึ้นรับตำแหน่งในสภาพที่อียิปต์ไม่มีทั้งรัฐสภา และไม่มีแม้แต่รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุด
ทั้งนี้ เมื่อวันพฤหัสบดี (14) ศาลรัฐธรรมนูญสูงสุดของอียิปต์มีคำตัดสินว่าหลายมาตราของรัฐบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรนั้นเป็นโมฆะและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลให้สภาผู้แทนราษฎรซึ่งเลือกตั้งตามตัวบทมาตราเหล่านี้ต้องกลายเป็นโมฆะและถูกยุบเลิกไปด้วย