xs
xsm
sm
md
lg

“อียิปต์”เลือกตั้งประธานาธิบดีขณะ“ทหาร”เร่งรวบอำนาจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้มีสิทธิออกเสียงชาวอียิปต์ กำลังหย่อนบัตรลงคะแนน ณ หน่วยเลือกตั้งแห่งหนึ่งของกรุงไคโร ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบสองและรอบตัดสินเมื่อวันอาทิตย์(17) ท่ามกลางความเคลื่อนไหวของฝ่ายทหารซึ่งถูกมองว่ากำลังมุ่งมั่นจะกุมอำนาจเอาไว้ต่อไปไม่ยอมปล่อย ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ชนะได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ก็ตามที
เอเอฟพี - ชาวอียิปต์ไปหย่อนบัตรเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์(17)เป็นวันที่ 2 และวันสุดท้าย เพื่อชี้ขาดว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศ ระหว่างนายกรัฐมนตรีคนสุดท้ายในยุคของจอมเผด็จการ ฮอสนี มูบารัค กับนักการเมืองนิยมอิสลาม ท่ามกลางความเคลื่อนไหวต่างๆ ของกองทัพที่หวังจะรวมศูนย์อำนาจเอาไว้ที่ตนเองต่อไป ก่อนหน้าผลการเลือกตั้งขั้นสุดท้ายจะปรากฏออกมา

อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ อาเหม็ด ชาฟิก ผู้ทำหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรีให้แก่อดีตประธานาธิบดีมูบารัค จวบจนกระทั่งถึงวันท้ายๆ แห่งการลุกฮือของประชาชนซึ่งโค่นล้มจอมเผด็จการผู้นี้ลงไปในที่สุด กำลังชิงชัยแย่งตำแหน่งประมุขของประเทศกับ โมฮัมเหม็ด มูร์ซี ผู้สมัครของขบวนการภราดรภาพมุสลิม (มุสลิมบราเธอร์ฮูด) ในการเลือกตั้งรอบสอง หลังจากที่รอบแรก ไม่มีผู้สมัครคนใด ได้ชัยชนะเด็ดขาด

“ชาฟิกคือคนที่ใช่ สำหรับช่วงระยะนี้ของประเทศเรา” ออสมาน ลูกจ้างรัฐบาลวัย 55 ปี กล่าวแสดงความเห็น

ทว่า มารวัน อาเดล ผู้มีอาชีพเป็นครูและกำลังยืนอยู่ถัดจากเขาไป ณ จัตุรัสตอห์รีร์ ของกรุงไคโร กลับสนใจที่จะกล่าวย้ำว่า จัตุรัสซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของการลุกขึ้นสู้ของประชาชนในปีที่แล้ว จะต้องดำรงคงอยู่ต่อไปและคอยสร้างแรงกดดันกองทัพอย่างต่อเนื่อง

“เราพร้อมที่จะก่อการกบฎครั้งใหม่ขึ้นมาอีก” เขาบอก

ด้านนอกของหน่วยเลือกตั้งหลายๆ หน่วย มีผู้คนเข้าแถวกันเป็นแถวเล็กๆ เพื่อรอที่จะใช้สิทธิ โดยที่หน่วยเลือกตั้งเปิดในเวลา 13.00 น. วันอาทิตย์ (เวลาเมืองไทย) และให้ลงคะแนนกันไปได้จนกระทั่งถึงเวลา 02.00 น.วันจันทร์ (เวลาเมืองไทย)

อย่างไรก็ดี การเลือกตั้งคราวนี้บังเกิดขึ้นท่ามกลางภูมิหลังของความปั่นป่วนผันผวนทางนิติบัญญัติและทางการเมือง โดยที่กลุ่มภราดรภาพมุสลิมกำลังเตรียมตัวอยู่บนเส้นทางแห่งการประจันหน้ากับคณะผู้นำทางทหารที่ยังคงเป็นผู้ครองอำนาจตัวจริง หลังจากที่ฝ่ายทหารยืนยันว่า สภาผู้แทนราษฎรที่ฝ่ายอิสลามิสต์ครองเสียงข้างมากอยู่นั้น ได้ถูกยุบเลิกไปแล้ว

ความเคลื่อนไหวดังกล่าว ทำให้อียิปต์ซึ่งก็กำลังอยู่ในระยะผ่านอันสับสนอลหม่านภายหลังการขับไล่มูบารัคในปีที่แล้ว ยิ่งชุลมุนวุ่นวายหนักขึ้นไปอีก โดยที่คาดหมายได้ว่าประธานาธิบดีคนใหม่จะต้องขึ้นรับตำแหน่งในสภาพที่ไม่มีทั้งรัฐสภา และก็ไม่มีรัฐธรรมนูญ

“ประธานาธิบดีคนใหม่จะเข้าไปรับตำแหน่งในทำเนียบประธานาธิบดี ท่ามกลางสูญญากาศทางนิติบัญญัติและทางการเมืองอันชวนให้ต้องรู้สึกหวาดผวา” นักวิเคราะห์การเมือง ฮัสซัน นาเฟีย เขียนเอาไว้ใน อัล-มัสรี อัล-ยูม หนังสือพิมพ์แนวอิสระ

ตอนที่มูบารัคหมดอำนาจลงไปนั้น ฝ่ายทหารได้ตั้งองค์กรสูงสุดของพวกตนที่ใช้ชื่อว่า สภาสูงสุดของกองทัพ (SCAF) และองค์กรแห่งนี้เองที่เป็นผู้มีอำนาจปกครองตัวจริง ถึงแม้ฝ่ายทหารระบุว่าเมื่อมีการเลือกตั้งรัฐสภาและประธานาธิบดี ก็จะถ่ายโอนอำนาจให้ ทั้งนี้ เมื่อสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับการเลือกตั้งในปีที่แล้ว เริ่มต้นทำหน้าที่ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา SCAF ก็ยอมส่งมอบอำนาจนิติบัญญัติ

อย่างไรก็ตาม ในวันพฤหัสบดี(14) ศาลรัฐธรรมนูญสูงสุดของอียิปต์มีคำตัดสินว่า มาตราหลายๆ มาตราของรัฐบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรนั้น เป็นโมฆะ และดังนั้นสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเลือกตั้งตามตัวบทมาตราเหล่านี้ ก็กลายเป็นโมฆะต้องถูกยุบเลิกไปด้วย

จากนั้นในวันเสาร์(16) SCAF ก็ได้ส่งหนังสือถึงรัฐสภาแจ้งว่า องค์กรแห่งนี้ถูกยุบเลิกแล้ว และห้ามสมาชิกสภาเข้าไปในอาคารรัฐสภาอีก

ขณะเดียวกัน พวกผู้สังเกตการณ์ต่างชี้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญสูงสุดยังตัดสินด้วยว่า กฎหมายมาตราที่กำลังเป็นภัยคุกคามทำให้อดีตนายกรัฐมนตรีชาฟิก อาจหมดสิทธิที่จะลงแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคราวนี้ เป็นกฎหมายที่ไม่ถูกต้องและเป็นโมฆะ

คำตัดสินเช่นนี้ เมื่อบวกกับการที่กระทรวงยุติธรรมมีมติเร็วๆ นี้ว่า กองทัพมีสิทธิที่จะจับกุมพลเรือน จึงทำให้พวกนักวิเคราะห์ต่างเชื่อว่า เหล่านี้คือแผนการของฝ่ายทหารที่มุ่งมั่นจะรักษาอำนาจเอาไว้ต่อไป

“ชัยชนะในการเลือกตั้งของชาฟิก ไม่เพียงแต่จะรับประกันว่า SCAF จะมีคนของตนเองคนหนึ่งอยู่ในตำแหน่งสูงสุดของอำนาจฝ่ายบริหารเท่านั้น แต่ยังจะทำให้ SCAF มีบทบาทอันทรงอิทธิพลยิ่งในกระบวนการสร้างสถาบันทางการเมืองอื่นๆ ของระบอบปกครองใหม่นี้ด้วย” นักวิเคราะห์ นาเฟีย กล่าว

สำหรับพวกนักเคลื่อนไหวต่างออกมากล่าวหาว่า SCAF กำลังกระทำการ “ต่อต้านการปฏิวัติ”

“มาตรการต่างๆ ที่ออกมาเป็นชุดคราวนี้ แสดงให้เห็นว่า SCAF ซึ่งเป็นหัวโจกของการต่อต้านการปฏิวัติ มีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวที่จะนำเอาระบอบปกครองเก่ากลับคืนมา โดยที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีก็เป็นเพียงการแสดงอย่างหนึ่งเท่านั้น” คำแถลงร่วมของ 6 พรรคการเมืองและขบวนการทางการเมือง ระบุ

ในอีกด้านหนึ่ง สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวฝ่ายทหารหลายๆ รายระบุว่า SCAF จะเป็นผู้ทำหน้าที่ควบคุมเรื่องนิติบัญญัติและงบประมาณต่อไป ในภาวะที่ไม่มีรัฐสภา ถึงแม้ประเทศกำลังเตรียมตัวที่จะประกาศชื่อประธานาธิบดีคนใหม่อยู่แล้วก็ตาม

แหล่งข่าวฝ่ายทหารหลายรายบอกอีกว่า SCAF ยังกำลังเตรียมที่จะออกสิ่งที่เรียกว่า “คำประกาศรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม “

แหล่งข่าวเหล่านี้ระบุว่า ในคำประกาศรัฐธรรมนูญนี้ นอกจากจะมีการรับรองให้อำนาจในการออกกฎหมายและอำนาจในเรื่องงบประมาณแผ่นดิน ตกมาอยู่ในมือของ SCAF แล้ว ยังจะมีมาตราว่าด้วยการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ตลอดจนจะมีการระบุให้ประธานาธิบดีคนใหม่ต้องสาบานตนต่อศาลรัฐธรรมนูญสูงสุด แทนที่สาบานต่อรัฐสภา เพราะถึงอย่างไรสภาผู้แทนราษฎรก็ถูกยุบไปแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น