xs
xsm
sm
md
lg

วอชิงตันเล็งช่องโหว่‘ยุทธศาสตร์’ของปักกิ่ง (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: เยนส์ คัสต์เนอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Gaps in China's area-denial strategy
By Jens Kastner
07/05/2012

กองทัพอากาศสหรัฐฯจัดการซ้อมรบในแถบอะแลสกาเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งได้เห็นเครื่องบินขับไล่ใช้เทคโนโลยีสเตลธ์ เปิดช่องทางสำหรับให้เครื่องบินทิ้งระเบิด เข้าปฏิบัติการที่สมมุติว่าเป็นการบดขยี้ยุทธศาสตร์ต่อต้านการเข้ามา/ปฏิเสธไม่ให้เข้าพื้นที่ (anti-access/area-denial strategy) อันเป็นหลักการที่เชื่อกันว่าจีนยึดถืออยู่ อีกทั้งปักกิ่งยังกำลังดำเนินการตามยุทธศาสตร์นี้ด้วยการเพิ่มกำลังอาวุธอันซับซ้อนทันสมัยซึ่งอิงอยู่กับการรักษาชายฝั่ง ขณะที่การซ้อมรบของอเมริกันที่มีชื่อรหัสว่า “ยุทธการชิมิชังกา” คราวนี้ ตอกย้ำให้เห็นความบกพร่องอย่างร้ายแรงของฝ่ายสหรัฐฯในเรื่องฮาร์ดแวร์ แต่ไม่ว่าเรื่องนี้หรือเรื่องอันตรายที่อาจจะเกิดความสูญเสียอย่างขนานใหญ่ ก็ดูจะไม่อาจหยุดยั้งไม่ให้วอชิงตันเดินหน้าในการพัฒนาวิธีการที่จะตอบโต้ยุทธศาสตร์ของฝ่ายจีน

ถึงแม้การซ้อมรบของกองทัพอากาศสหรัฐฯที่บริเวณมลรัฐอะแลสกาเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งใช้รหัสว่า “ยุทธการชิมิชังกา” จะทำให้มองเห็นจุดอ่อนข้อบกพร่องอย่างร้ายแรงของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในเรื่องการขาดแคลนเครื่องบินขับไล่เทคโนโลยนีสเตลธ์ล่าสุด ตลอดจนเครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่นอัปเกรด กระนั้นก็ตามที ผู้เชี่ยวชาญหลายๆ คนที่เอเชียไทมส์ออนไลน์ไปสัมภาษณ์มา ต่างเชื่อว่า ความได้เปรียบที่สหรัฐฯมีเหนือล้ำจีนเสมอมานั้น ยังไม่ได้จางหายไปไหน

ตามความเห็นของ โอลิเวอร์ บรอยเนอร์ (Oliver Braeuner) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนและความมั่นคง ของสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศแห่งสต็อกโฮล์ม (Stockholm International Peace Research Institute) แนวคิดที่บอกว่าเขตพื้นที่ซึ่งได้รับการพิทักษ์คุ้มครองตามยุทธศาสตร์ต่อต้านการเข้ามา/ปฏิเสธไม่ให้เข้าพื้นที่ ของจีน อยู่ในสภาพที่ถึงขั้นกองทัพสหรัฐฯล่วงล้ำเข้าไปไม่ได้แล้วนั้น เป็นความคิดที่เกินเลยจากความเป็นจริงไปมาก

บรอยเนอร์ชี้ว่า “สหรัฐอเมริกายังคงเป็นมหาอำนาจทางทหารอันดับหนึ่งของโลก และในปี 2011 ก็ยังคงเป็นผู้ใช้จ่ายงบประมาณทางทหารในราว 41% ของการใช้จ่ายทางทหารทั่วทั้งโลก”

เขาบอกด้วยว่า สหรัฐฯยังสามารถที่จะมอบหมายให้พวกพันธมิตรของตนในภูมิภาคแถบนี้ ช่วยแบกรับแบ่งเบางานบางส่วนไปอีกด้วย

“จากการออกมาประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ที่ว่า ‘แกนกลางจะอยู่ที่เอเชีย’ (pivot to Asia) วอชิงตันก็กำลังหวนกลับมายืนยันอีกครั้งหนึ่งถึงพันธะผูกมัดที่ตนเองมีต่อความมั่นคงระดับภูมิภาคในย่านเอเชีย-แปซิฟิก อย่างไรก็ดี ในการปฏิบัติตามแนวทางนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะพึ่งพาอาศัยเฉพาะเพียงแสนยานุภาพทางทหารของสหรัฐฯเท่านั้น” บรอยเนอร์กล่าว “เป็นไปได้อย่างมากทีเดียวว่า มันจะหมายความว่าในอนาคตข้างหน้า พวกพันธมิตรในภูมิภาคของอเมริกาจะต้องเข้ามารับความผิดชอบเรื่องความมั่นคงด้วยตัวพวกเขาเองมากขึ้นด้วย”

สำหรับ สตีฟ จาง (Steve Tsang) ผู้อำนวยการของสถาบันนโยบายจีน (China Policy Institute) แห่งมหาวิทยาลัยนอตติงแฮม (University of Nottingham) คิดว่า ปักกิ่งกำลังหลงทิศหลงทางเสียแล้ว เมื่อดูจากการประเมินของพวกเขาในเรื่องสมรรถนะของยุทธศาสตร์ต่อต้านการเข้ามา/ปฏิเสธไม่ให้เข้าพื้นที่ ของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน

“การมีขีปนาวุธนำวิถีต่อต้านเรือ (ดีเอฟ-21ดี) มาใช้ในการปฏิบัติการนั้น ในทางเป็นจริงแล้วจะไม่ใช่เรื่องที่มีความสำคัญถึงขั้นเป็นตายเหมือนกับที่คนจำนวนมากในปักกิ่งคิดกันหรอก กองทัพเรือและกองทัพอากาศสหรัฐฯย่อมจะต้องคาดหมายเอาไว้แล้วว่าจะประสบความสูญเสียอย่างสำคัญ ถ้าหากสหรัฐฯต้องเข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันในการประจันหน้าทางการทหารกับคู่แข่งขันรายที่อยู่ใกล้ๆ กับเพื่อนมิตรของอเมริกัน” จางชี้

เขากล่าวต่อไปว่า การที่เรือรบลำใหญ่ๆ เป็นต้นว่า เรือบรรทุกเครื่องบิน มีโอกาสที่จะประสบความเสียหายหนัก หรือกระทั่งถึงขั้นจมหายไปเลย ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้กองทหารสหรัฐฯถึงขั้นเปลี่ยนใจและยุติการปฏิบัติตามคำสั่งจากคณะผู้นำทางการเมืองของพวกเขาแต่อย่างใด

ตามความเห็นของจาง สหรัฐฯนั้นมีแผนการเตรียมไว้แล้วในการรับมือกับสมรรถนะเรื่องต่อต้านการเข้ามา/ปฏิเสธไม่ให้เข้าพื้นที่ของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ขณะที่อาวุธที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดในขณะนี้น่าจะเป็นพวกเรือดำน้ำของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน เขามองว่าในปัจจุบัน ฝ่ายจีนกับฝ่ายอเมริกันเหมือนกำลังเล่นเกมไล่กวดแข่งขันกัน โดยที่ต่างฝ่ายต่างจะมีการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องไม่หยุดหย่อน ในขณะที่เทคโนโลยีต่างๆ มีการวิวัฒนาการไปเรื่อยๆ

“แม้กระทั่งสิ่งที่เรียกว่า ‘ตัวเปลี่ยนเกม’ ก็ยังไม่ใช่เท่ากับเป็นอะไรบางอย่างที่จะทำให้เกมนี้ยุติลงไป” จางบอก

“หลักการนี้ยังคงเป็นจริงอยู่ แม้กระทั่งหลังจากที่กองทัพปลดแอกประชาชนสามารถสาธิตให้เห็นได้แล้วว่า ขีปนาวุธนำวิถีต่อต้านเรือของตนนั้นมีความแม่นยำ, ทรงประสิทธิภาพ, และสามารถในการยุทธการได้ โดยที่สหรัฐฯก็คงจะดำเนินการตอบโต้ด้วยการหาวิธีซึ่งจะลดความเสี่ยงที่มีต่อทรัพย์สินของตนให้อยู่ในระดับต่ำที่สุด และหันไปเสาะแสวงหายุทธวิธีและระบบอาวุธที่แตกต่างออกไป”

ทางด้าน เจมส์ โฮล์มส์ (James Holmes) รองศาสตราจารย์ของวิทยาลัยการสงครามนาวีสหรัฐฯ (US Naval War College) ก็พูดในทำนองเดียวกันว่า ถึงแม้การเข้าไปปฏิบัติการในพื้นที่ห้ามเข้าของจีนอาจจะมีอันตรายมาก แต่ก็ยังไม่ถึงกับกลายเป็นภารกิจฆ่าตัวตายสำหรับกองทหารสหรัฐฯ

“ในประวัติศาสตร์ กำลังทางนาวีมักต้องยอมเสี่ยงเข้าปฏิบัติการภายในเขตพื้นที่ซึ่งปืนจากชายฝั่งยิงมาถึงอยู่เสมอ ตั้งแต่ในยุคของเรือใบ มันก็มีกระสุนปืนใหญ่ที่ระดมยิงออกมาจากเชิงเทินของป้อมปราการ” โฮล์มส์ ระบุ

“ทุกวันนี้ พวกขีปนาวุธนำวิถีต่อต้านเรือ และอาวุธชนิดอื่นๆ ที่ใช้เพื่อต่อต้านการเข้ามา ควรที่จะถูกมองว่าเป็นสิ่งเดียวกันนั่นเอง เพียงแต่เป็นเวอร์ชั่นที่ขยายพิสัยทำการออกไปมากมายเหลือเกิน”

โฮล์มส์มองว่า อาวุธเหล่านี้ควรต้องถือเป็นปัญหาท้าทายที่ร้ายแรง หากแต่ไม่ใช่ “เพราะว่าพวกประเทศอย่างจีนและอย่างอิหร่านของโลก สามารถที่จะลั่นกุญแจไม่ให้กองทัพสหรัฐฯเข้าไปยังพื้นที่บางแห่งบางบริเวณในแผนที่” แต่เป็นเพราะอาวุธเหล่านี้สามารถทำให้ความหาญกล้าที่จะเข้าสู่พื้นที่เหล่านี้ ต้องจ่ายราคาค่าตอบแทนที่แพงลิบลิ่วเหลือเกิน

“ถ้าหากว่าพวกผู้กำหนดนโยบายของสหรัฐฯไม่มีความพร้อมที่จะจ่ายราคาค่างวดขนาดนั้น พวกเขาก็ไม่น่าที่จะส่งกองกำลังเข้ามาด้วยวิธีที่เป็นอันตรายได้ในช่วงเวลาแห่งการสู้รบกัน เรามาระบุชื่อผู้เล่นรายหลักที่จะใช้วิธีต่อต้านการเข้ามาก็ยังได้ ซึ่งก็คือจีนนั่นแหละ พวกเขากำลังวางเดิมพันว่า วอชิงตันจะตีราคามูลค่าของไต้หวัน ว่าไม่อาจเทียบเท่ามูลค่าของกองทัพเรือภาคพื้นแปซิฟิกของสหรัฐฯ”

นอกจากนั้น โฮล์มส์ยังอธิบายให้ฟังถึงแนวความคิดซึ่งกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในสหรัฐฯ ที่เรียกกันว่า “การสร้างสมดุลนอกชายฝั่ง” (offshore balancing) ตามการแจกแจงของโฮล์มส์ แนวความคิดนี้เสนอว่าสหรัฐฯสามารถที่จะปลดเกษียณออกจากบรรดาพันธะผูกมัดทั้งหลายที่มีอยู่ในอาณาบริเวณยูเรเชีย ด้วยการนำเอาพันธะผูกมัดเหล่านี้ไปมอบหมายให้แก่ชาติต่างๆ ซึ่งจะเข้ามาถ่วงดุลมหาอำนาจใหญ่รายใดก็ตามที่หาทางจะเข้าครอบงำภูมิภาคนั้นๆ โดยที่สหรัฐฯจะหวนกลับคืนมาก็เพียงเมื่อเหล่ามหาอำนาจระดับท้องถิ่น ไม่สามารถที่จะดึงรั้งต่อกรกับผู้ที่ทำท่าจะทำตัวเป็นเจ้าโลกเท่านั้น”

เขาชี้ต่อไปว่า การดึงให้บรรดาพันธมิตรของสหรัฐฯเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเช่นนี้ ย่อมหมายถึงการติดอาวุธให้แก่พวกเขาด้วย ทว่าแพกเกจอาวุธที่เหมาะสมควรจะเป็นอย่างไร ยังเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณากันต่อไป

โฮล์มส์กล่าวปิดท้ายด้วยน้ำเสียงอันมั่นอกมั่นใจว่า “แน่นอนทีเดียวว่าเรากำลังทำงานเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ เกี่ยวกับหลักการและยุทธวิธี เพื่อที่จะเอาชนะความท้าทายของยุทธศาสตร์ต่อต้านการเข้ามา/ปฏิเสธไม่ให้เข้าพื้นที่ ทั้งนี้สิ่งที่ต้องทำ ก็คือ การหาวิธีทำให้ราคาค่างวดของการเข้าพื้นที่ ลดต่ำลงมาจนอยู่ในระดับที่เราสามารถยอมรับได้”

สำหรับ จอห์น ไพก์ (John Pike) ผู้อำนวยการของ โกลบอลซีเคียวริตีดอตโออาร์จี (GlobalSecurity.org) หน่วยงานคลังสมองของสหรัฐฯ เขาชี้ว่าการที่กองทัพสหรัฐฯกำลังแสดงท่าทีเหมือนไม่ค่อยสนอกสนใจขีปนาวุธต่อต้านเรือรบของจีน คือการบอกกล่าวเรื่องราวออกมาอย่างชัดเจนแล้ว

“ระบบอาวุธพื่อการป้องกันที่สำคัญมากระบบหนึ่ง ซึ่งสามารถใช้ในการต่อต้านจรวดร่อนต่อต้านเรือ ก็คือ ระบบปืน ซีไอดับเบิลยูเอส โกลคีปเปอร์ (CIWS Goalkeeper gun system เป็นระบบปืนที่ยิงจากเรือเพื่อต่อต้านขีปนาวุธและกระสุนนำวิถีซึ่งพุ่งเข้ามาโจมตี)” ไพก์ แจกแจง

“ถ้าหากคุณรู้สึกวิตกกังวลอย่างเต็มที่ว่าจะถูกโจมตีแน่ๆ คุณก็อาจจะติดตั้งอาวุธนี้เพิ่มเข้าไปให้เรือแต่ละลำ แต่นี่ยังไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย ตรงกันข้าม ในอดีตในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองนั้น กองทัพเรือสหรัฐฯมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับกามิกาเซ่ (นักบินกองทัพญี่ปุ่นที่พร้อมพลีชีพด้วยการขับเครื่องบินเข้าพุ่งชนเรือรบ) ดังนั้น ก็มีการติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยานให้แก่เรือต่างๆ เพื่อให้สามารถป้องกันตัวได้อย่างเต็มที่”

**หมายเหตุผู้แปล**

[1] ชิมิชังกา (Chimichanga) เป็นชื่ออาหารเม็กซิกันชนิดหนึ่ง (ข้อมูลจาก Wikipedia)
[2] เดวิด แอ็กซ์ (David Axe) ใน WiKipedia ระบุว่าเป็นผู้สื่อข่าวด้านการทหารชาวอเมริกัน ซึ่งเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับการทหารและความขัดแย้งในปัจจุบัน และมีผลงานเป็นหนังสือเล่มแล้วหลายเล่ม สำหรับ โนอาห์ แชชต์แมน (Noah Shachtman) ในเว็บไซต์ noahshachtman.com ได้เขียนแนะนำตัวเองว่า เป็นบรรณาธิการผู้ร่วมเขียนบทความ (contributing editor) ให้แก่นิตยสารไวเออร์ด และเป็นบรรณาธิการของบล็อกด้านความมั่นคงแห่งชาติของไวเออร์ดที่ใช้ชื่อว่า “DANGER ROOM” เขาเขียนบทความเกี่ยวกับเทคโนโลยีและความมั่นคงแห่งชาติ ลงตีพิมพ์ในสิ่งพิมพ์ชั้นนำจำนวนมาก
[3] นิตยสารไวเออร์ด (wired) เป็นนิตยสารอเมริกันรายเดือน และมีการจัดทำฉบับออนไลน์พร้อมกันไปด้วย เนื้อหามุ่งเน้นรายงานผลกระทบของเทคโนโลยีใหม่ๆ ตลอดจนเทคโนโลยีที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา ซึ่งมีต่อวัฒนธรรม, เศรษฐกิจ, และการเมือง (ข้อมูลจาก WiKipedia)
[4] เหตุการณ์คราวนี้เรียกกันว่า วิกฤตช่องแคบไต้หวันครั้งที่ 3 หรือ วิกฤตช่องแคบไต้หวันปี 1995-96 สืบเนื่องจากจีนโกรธกริ้วรัฐบาลไต้หวันภายใต้ประธานาธิบดีหลี่ เติ้งฮุย ว่ากำลังเปลี่ยนนโยบายจากการรับรองว่ามีเพียงจีนเดียว จึงได้ดำเนินการทดสอบยิงขีปนาวุธในน่านน้ำรอบๆ ไต้หวัน รวมทั้งในช่องแคบไต้หวันด้วย รวมแล้ว 3 ระลอกภายในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 21 กรกฎาคม 1995 ถึง 23 มีนาคม 1996 ต่อมาในเดือนมีนาคม 1996 ประธานาธิบดีบิลล์ คลินตัน จึงออกคำสั่งให้หมู่เรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส อินดีเพนเดนซ์ (USS Independence) และหมู่เรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส นิมิตซ์ (USS Nimitz) เคลื่อนเข้าไปในช่องแคบไต้หวัน จากเหตุการณ์คราวนี้ มีส่วนสำคัญที่ทำให้จีนเร่งปรับปรุงยกระดับแสนยานุภาพทางทหารของตน (ข้อมูลจาก WiKipedia)

เยนส์ คัสต์เนอร์เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่พำนักอยู่ในกรุงไทเป
กำลังโหลดความคิดเห็น