xs
xsm
sm
md
lg

‘กัมพูชา’กดดัน‘ลาว’ให้ระงับงานสร้าง‘เขื่อนไซยะบุรี’

เผยแพร่:   โดย: วิทยุเอเชียเสรี

Cambodia pressures Laos to halt work on Xayaburi dam
By Radio Free Asia
02/05/2012

กัมพูชากำลังเรียกร้องให้ลาวยุติงานก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งจะเป็นเขื่อนกั้นน้ำเขื่อนแรกในบริเวณแม่น้ำโขงตอนล่าง โดยขอให้ทางการเวียงจันทน์ยึดมั่นปฏิบัติตามข้อตกลงต่างๆ ที่ได้ทำกันไว้ในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ขณะเดียวกัน ก็ได้เกิดการชุมนุมประท้วงขึ้นในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นชาติที่นำเอากระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเขื่อนแห่งนี้ไปใช้มากที่สุด

กัมพูชาได้ส่งหนังสือประท้วงอย่างเป็นทางการถึงลาว เรียกร้องให้ระงับการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีในทันที ทั้งนี้ตามเนื้อหาในคำแถลงของเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของฝ่ายกัมพูชาเมื่อสิ้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน กระแสคัดค้านโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำโครงการนี้ ก็กำลังเป็นไปอย่างคึกคักในประเทศไทย

ลิม เคียน ฮอร์ (Lim Kean Hor) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรน้ำและอุตุนิยมวิทยาของกัมพูชา อีกทั้งเป็นผู้แทนของกัมพูชาในคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission หรือ MRC) องค์กรระดับระหว่างรัฐบาลของ 4 ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง (กัมพูชา, ลาว, เวียดนาม, ไทย) ได้ส่งหนังสือถึง หนูลิน สินบันดิต (Noulinh Sinbandhit) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของลาว และผู้แทนของลาวใน MRC มีเนื้อหาเรียกร้องให้หยุดการก่อสร้างเขื่อนแห่งนี้เอาไว้ก่อน ในขณะที่กำลังมีการศึกษาประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมกันอยู่

“จุดยืนของกัมพูชาก็คือ ลาวควรต้องระงับการสร้างเขื่อนแห่งนี้ ในขณะที่กำลังมีการดำเนินการศึกษาเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” รัฐมนตรีกัมพูชาผู้นี้ระบุในคำแถลงฉบับดังกล่าว ทั้งนี้ตามรายงานของ ซีอีเอ็น (CEN) หนังสือพิมพ์ออนไลน์ของกัมพูชา

ลิม เคียน ฮอร์ เร่งเร้าให้ลาวยึดมั่นปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาต่างๆ ที่ได้ให้ไว้ในระหว่างการประชุมซัมมิตของ MRC ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งบรรดาชาติสมาชิกต่างเห็นพ้องต้องกันในหลักการว่า จำเป็นต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปอีกเกี่ยวกับผลกระทบอันจะเกิดจากเขื่อนแห่งนี้ ก่อนที่จะดำเนินการก่อสร้าง

หนังสือของกัมพูชาฉบับนี้ปรากฏออกมาภายหลังจากที่หลายสัปดาห์ก่อนหน้านั้น ซิน นินี (Sin Niny) รองประธานคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติของกัมพูชา ได้แถลงข่มขู่ว่า กัมพูชาจะยื่นฟ้องลาวต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หากลาวยังคงอนุญาตให้สร้างเขื่อนแห่งนี้ ซึ่งจะกลายเป็นเขื่อนกั้นลำน้ำโขงสายหลักเขื่อนแรกในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง โดยที่มิได้รับความเห็นชอบเป็นฉันทามติจากชาติอื่นๆ ในภูมิภาค

ทั้งนี้ตั้งแต่ที่มีการตกลงกันในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาให้ระงับการก่อสร้างไว้ก่อน ปรากฏว่า บริษัท ช. การช่าง จำกัด อันเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างของไทย ได้แถลงว่า ตนเองได้ลงนามในสัญญาหลายฉบับเพื่อที่จะทำการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีแล้ว โดยจะเริ่มงานก่อสร้างในวันที่ 15 มีนาคม

ตั้งแต่ที่ก่อตั้ง MRC ขึ้นมาเมื่อปี 1995 ชาติสมาชิกทั้ง 4 ก็ได้ตกลงกันเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ที่จะปรึกษาหารือกันและบอกกล่าวแจ้งข่าวให้กันและกันทราบเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรของแม่น้ำโขง ทว่าองค์กรแห่งนี้ไม่ได้มีอำนาจที่จะบังคับให้บรรดาสมาชิกต้องยึดมั่นทำตามสิ่งที่ได้ตกลงกันเอาไว้

**กระแสประท้วงในไทย**
ขณะเดียวกันในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นผู้ซื้อกระแสไฟฟ้าเกือบทั้งหมดที่ผลิตได้จากโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในลาวแห่งนี้ ปรากฏว่ากระแสคัดค้านเขื่อนแห่งนี้กำลังทวีความคึกคักมากขึ้น โดยที่พวกตัวแทนจากบรรดาจังหวัดริมฝั่งโขงของไทย ได้จัดการชุมนุมประท้วงขึ้นที่ด้านนอกของการประชุม MRC นัดหนึ่ง ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดภูเก็ตเมื่อสิ้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ทั้งนี้ผู้ประท้วงจำนวนราว 30 คนที่เป็นตัวแทนของสมาชิกชุมชนริมฝั่งโขงใน 8 จังหวัดของประเทศไทยที่ตั้งอยู่ติดแม่น้ำโขง ได้ไปชุมนุมกันที่บริเวณด้านนอกสถานที่จัดการประชุม แม่โขง 2 ริโอ (Mekong2Rio) ของ MRC อันเป็นการประชุมระดับระหว่างประเทศว่าด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรสายน้ำที่ไหลข้ามพรมแดนหลายๆ ประเทศ

การประท้วงของกลุ่มนี้บังเกิดขึ้นหลังจากมีการชุมนุมคัดค้านครั้งใหญ่กว่านี้อีกที่บริเวณด้านนอกของสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพฯของบริษัท ช. การช่าง และของพวกธนาคารไทยที่ปล่อยเงินกู้สนับสนุนให้แก่โครงการนี้

ผู้ประท้วงเหล่านี้มีความวิตกห่วงใยว่า เขื่อนไซยะบุรี ซึ่งจะขัดขวางการอพยพเดินทางไปวางไข่ของประชากรปลาในทางน้ำสายสำคัญที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สายนี้ จะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างหนักแก่ชีวิตผู้คนนับล้านๆ ในภูมิภาคแถบนี้ ผู้ซึ่งต้องพึ่งพาอาศัยแม่น้ำโขงทั้งในการหาอาหารและการดำเนินชีวิตของพวกเขา นอกจากนั้น เขื่อนแห่งนี้ยังจะกลายเป็นการแผ้วถางทางให้เกิดโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแห่งอื่นๆ ตามลำน้ำสายนี้ขึ้นมาอีก

ปัจจุบัน มีการเสนอขอสร้างเขื่อนอื่นๆ บนสายน้ำหลักของแม่น้ำโขงตอนล่าง อย่างน้อยที่สุด 11 แห่งแล้ว นอกเหนือไปจากเขื่อน 5 แห่งซึ่งสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วในบริเวณแม่น้ำโขงตอนบนในพื้นที่ที่เป็นอาณาเขตของประเทศจีน

กลุ่มผู้ประท้วงที่ภูเก็ต ได้รับอนุญาตให้พบปะเป็นเวลาสั้นๆ กับ ฮันส์ กุตต์มานน์ (Hans Guttman) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ MRC ผู้ซึ่งบอกกับผู้ประท้วงว่า เวลานี้มีเพียงการทำงานก่อสร้างเบื้องต้นเท่านั้นที่เริ่มต้นขึ้นในบริเวณรอบๆ เขตการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี และคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงจะพิจารณารับฟังความวิตกห่วงใยของบรรดาประชาชนชาวท้องถิ่น ทั้งนี้ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น ของไทย

หนึ่งวันก่อนหน้าการประท้วงในประเทศไทย ตัวแทนจากกลุ่มภาคประชาสังคมกว่า 130 กลุ่ม ได้ร่วมกันออกคำแถลงฉบับหนึ่งที่มีเนื้อหาสนับสนุนรายงานของนักวิชาการด้านพลังงาน ซึ่งเสนอให้ประเทศไทยดำเนินแผนการพัฒนาพลังงานทางเลือก อันจะทำให้ไม่ต้องอาศัยกระแสไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี

รายงานฉบับดังกล่าวที่จัดทำโดย ชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน (Chuenchom Sangasri Greacen) และ คริส กรีเซน (Chris Greacen) 2 ผู้เชี่ยวชาญเรื่องพลังงานไทย ได้ยื่นเสนอต่อ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานของไทยเมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา โดยที่เสนอแนะให้ประเทศไทยเสาะแสวงหาแหล่งพลังงานอื่นๆ ที่สร้างผลกระทบก่อความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเขื่อนไซยะบุรี

รายงานฉบับนี้ที่ใช้ชื่อเรื่องว่า “แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า 2012 และกรอบโครงเพื่อปรับปรุงความสามารถในการให้ตรวจสอบได้และยกระดับการดำเนินงานของการวางแผนภาคพลังงานไฟฟ้า” (Power Development Plan (PDP) 2012 and a Framework for Improving Accountability and Performance of Power Sector Planning) ได้วิพากษ์วิจารณ์แผนการของประเทศไทยในเรื่องการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงาน รวมทั้งเสนอแนะหนทางต่างๆ ที่จะทำให้ลดการใช้พลังงานลงได้

“ถ้าเราสามารถลงทุนในเรื่องฮาวทู ในการบริหารจัดการการใช้พลังงาน, ในเรื่องพลังงานที่ยั่งยืน, และในเรื่องประสิทธิภาพทางการผลิตแล้ว ไม่เพียงราคาของกระแสไฟฟ้าจะลดต่ำลงมาได้เท่านั้น แต่เรายังสามารถหลีกเลี่ยง ... การนำเข้าพลังงานซึ่งผลิตมาจากประดาเขื่อนที่ส่งผลกระทบมากๆ อย่างเช่นเขื่อนไซยะบุรีได้ด้วย” ชื่นชม สง่าราศี กรีเซน บอกกับวิทยุเอเชียเสรี

เธอระบุว่า กระบวนการวางแผนด้านพลังงานของประเทศไทยมีข้อบกพร่องผิดพลาดอย่างมาก และประเทศไทยควรที่จะหันไปลงทุนในด้านมาตรการเพื่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและในเรื่องพลังงานทางเลือกมากกว่า

“เรามีทางเลือกที่ดีกว่าหนทางที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน” นักวิชาการผู้นี้กล่าว “ตามนโยบายเรื่องการประหยัดพลังงาน เราควรต้องลงทุนเพิ่มมากขึ้นในด้านการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ดีขึ้นกว่าเดิม, หรือในเรื่องมาตรฐานของอาคารต่างๆ แทนที่จะเน้นไปที่การสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ๆ หรือการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบมากมายต่อสิ่งแวดล้อม”

หมายเหตุผู้แปล
เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ทางการลาวได้ออกมาแถลงว่า ได้ระงับการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีแล้ว โดยจะรอผลการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม

ข้อเขียนชิ้นนี้จัดทำขึ้นจากรายงานข่าวของสถานีวิทยุเอเชียภาคภาษาเขมรและภาคภาษาลาว โดยที่มี Samean Yun and Somnet Inthapannha แปลเป็นภาษาอังกฤษ และ Rachel Vandenbrink เขียนเป็นรายงานฉบับภาษาอังกฤษ สำหรับ วิทยุเอเชียเสรี (Radio Free Asia หรือ RFA) นั้น ก่อตั้งขึ้นโดยรัฐบัญญัติที่ผ่านรัฐสภาสหรัฐฯ อีกทั้งได้รับความสนับสนุนทางการเงินเป็นบางส่วนในรูปเงินให้เปล่าจากรัฐบาลสหรัฐฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น