xs
xsm
sm
md
lg

‘ลาว’หยุดงานก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี

เผยแพร่:   โดย: วิทยุเอเชียเสรี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com
Laos halts Xayaburi dam work
By Radio Free Asia
10/05/2012

ลาวได้ระงับการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีกั้นแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดการโต้แย้งคัดค้านอย่างหนักว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้คนนับล้านๆ คนในอาณาบริเวณนี้ ทั้งนี้ภายหลังการประท้วงอย่างดุเดือดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากประเทศเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงอย่าง กัมพูชาอย่างไรก็ดี เวียงจันทน์ยังคงระบุว่าอาจจะเดินหน้าการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแห่งนี้ต่อไป ภายหลังเสร็จสิ้นการดำเนินการศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว

ลาวได้ระงับการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี บนแม่น้ำโขงแล้ว ทั้งนี้จากการแถลงของเจ้าหน้าที่อาวุโสของรัฐบาลลาวเมื่อวันพุธ(9 พ.ค.)ที่ผ่านมา ภายหลังที่มีเสียงคำรามอย่างโกรธกริ้วจากประเทศเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงอย่าง กัมพูชา ตลอดจนการคัดค้านของพวกกลุ่มรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม

ก่อนหน้านี้ ได้มีการลงนามในข้อตกลงฉบับหนึ่งระหว่างบริษัทหลายๆ แห่ง เกี่ยวกับการก่อสร้างโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแห่งนี้ซึ่งจะเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคมปีนี้ ถึงแม้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission หรือ MRC) ที่มี 4 ชาติในภูมิภาคแถบนี้เป็นสมาชิก และทำหน้าที่บริหารจัดการการพัฒนาต่างๆ ตามแนวแม่น้ำที่มีความสำคัญที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สายนี้ ยังไม่ได้เห็นชอบให้เดินหน้าโครงการก็ตามที

“ไม่มีการก่อสร้างต่อไปแล้ว หยุดแล้ว เลื่อนไปก่อน” สีทอง ชิตโยธิน (Sithong Chitgnothin) อธิบดีกรมการหนังสือพิมพ์ กระทรวงการต่างประเทศลาว บอกกับวิทยุเอเชียเสรีภาคภาษาลาวเมื่อวันที่ 9 พ.ค. โดยเชื่อกันว่านี่คือการแถลงอย่างเป็นทางการครั้งแรกของรัฐบาลลาวว่าการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุลีจะระงับกันไปก่อน

เขากล่าวด้วยว่า ลาวจะยึดมั่นในข้อตกลงต่างๆ ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ซึ่ง 4 ชาติสมาชิกประกอบด้วย ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม, และไทย

“ข้อตกลงของ 4 ชาติสมาชิก MRC ยังเป็นไปตามนั้น และรัฐบาลลาวจะปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว” อธิบดีสีทอง กล่าวต่อ

ทั้งนี้ บรรดาชาติสมาชิกของ MRC ได้มีมติครั้งสำคัญเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วว่า ไม่ควรเดินหน้าโครงการเขื่อนไซยะบุรี จนกว่าจะมีการศึกษาประเมินเรื่องผลกระทบให้มากขึ้น

การตัดสินใจคราวนี้ ยังเป็นไปตามข้อเสนอแนะที่ออกมาก่อนหน้านั้นของคณะผู้เชี่ยวชาญที่ทำการศึกษาเรื่องนี้ โดยบรรดาผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้แนะนำให้ระงับการสร้างเขื่อนบนสายน้ำสายหลักของแม่น้ำโขงทั้งหมดเป็นเวลา 10 ปี (เขื่อนไซยะบุรีเป็นโครงการสร้างเขื่อนแห่งแรกในสายน้ำหลักของแม่น้ำโขงตอนล่าง) เนื่องจากมีความจำเป็นที่จะต้องทำการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบของเขื่อนเหล่านี้ที่อาจถึงขั้นสร้างความหายนะทั้งในทางสิ่งแวดล้อมและทางเศรษฐกิจ-สังคม

แต่แล้วในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ช. การช่าง บริษัทรับเหมาก่อสร้างของไทยได้แถลงว่า บริษัทได้ลงนามในสัญญาที่มีมูลค่า 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กับ บริษัท ไซยะบุรี เพาเวอร์ (Xayaburi Power Co.) เพื่อก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแห่งนี้ที่จะมีกำลังความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 1,290 เมกะวัตต์ ปรากฏว่าพอข่าวแพร่กระจายออกไป ก็ถูกประท้วงต่อต้านในทันทีจากพวกกลุ่มรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่จะใช้กระแสไฟฟ้าเกือบทั้งหมดที่จะผลิตได้จากเขื่อนแห่งนี้

ตามสัญญาที่ลงนามไป บริษัท ช. การช่าง กำหนดวันที่จะเริ่มการก่อสร้างเขื่อนในเดือนมีนาคม 2012 ถึงแม้ในการทำความตกลงกันในที่ประชุม MRC เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วว่า ระบุให้เลื่อนเรื่องเขื่อนแห่งนี้ไปก่อนจนกว่าจะมีการศึกษาเพิ่มเติมแล้ว

พวกกลุ่มรณรงค์ด้านสิ่งแดนล้อมที่กำลังเฝ้าติดตามเขื่อนแห่งนี้แจ้งว่า การก่อสร้างเบื้องต้นในบริเวณรอบๆ สถานที่ที่จะสร้างเขื่อน เป็นต้นว่า ถนนหนทาง และสิ่งปลูกสร้างเพื่อสนับสนุนงานก่อสร้างทั้งหลาย ได้เริ่มลงมือกันแล้ว ทว่าพวกเจ้าหน้าที่ลาวยืนยันว่า การก่อสร้างตัวเขื่อนนั้นยังไม่ได้เริ่มขึ้นมาแต่อย่างใด

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กัมพูชายังแสดงความไม่พอใจของตนเอาไว้ในหนังสือฉบับหนึ่งซึ่งส่งถึงทางผู้แทน MRC ฝ่ายลาว โดยที่มีเนื้อหาคัดค้านการลงมือก่อสร้างเบื้องต้นทั้งหลาย พร้อมกับเตือนลาวว่าต้องไม่ยินยอมให้เดินหน้าสร้างเขื่อนแห่งนี้

หนังสือฉบับดังกล่าวออกมา หลังจากที่ก่อนหน้านั้นกัมพูชายังได้ข่มขู่ว่า จะฟ้องร้องลาวในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หากเวียงจันทน์ยังคงเดินหน้าสร้างเขื่อนไซยะบุรีต่อไป

ตั้งแต่ที่ก่อตั้ง MRC ขึ้นมาเมื่อปี 1995 ชาติสมาชิกทั้ง 4 ก็ได้ตกลงกันเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ที่จะปรึกษาหารือกันและบอกกล่าวแจ้งข่าวให้กันและกันทราบเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรของแม่น้ำโขง ทว่าองค์กรแห่งนี้ไม่ได้มีอำนาจที่จะบังคับให้บรรดาสมาชิกต้องยึดมั่นทำตามสิ่งที่ได้ตกลงกันเอาไว้ ดังในกรณีการสร้างเขื่อนไซยะบุรีของลาวนี้

**ข้อตกลง**

เมื่อวันอังคารที่ 8 พฤษภาคม โฆษกของ MRC ก็ได้ออกมาแถลงย้ำว่า ชาติสมาชิกของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง มีความเห็นพ้องต้องกันให้ระงับโครงการนี้เอาไว้ก่อนจนกว่าจะมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม

“ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างทั้ง 4 ต่างยังคงมีความคิดเห็นสอดคล้องต้องกัน นั่นคือ โครงการนี้จำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งก็เหมือนดังเช่นโครงการอื่นๆ ทั้งหมดที่สร้างขึ้นในแม่น้ำโขง” สุรศักดิ์ กล้าหาญ (Surasak Glahan) เจ้าหน้าที่ด้านประชาสัมพันธ์ผู้หนึ่งของสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ในกรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว กล่าวกับ วิทยุเอเชียเสรี

“ถึงแม้มีการทำสัญญากัน แต่การก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีจะต้องหยุดไปก่อน จนกว่าผลการศึกษาครั้งใหม่จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์” สุรศักดิ์บอก พร้อมกับเสริมด้วยว่า บรรดาชาติสมาชิก MRC กำลังปรึกษาหารือในระหว่างกัน ในเรื่องที่ว่าจะทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมกันอย่างไร

พวกที่คัดค้านโครงการนี้ แสดงความวิตกห่วงใยว่า เขื่อนแห่งนี้ ซึ่งจะขัดขวางการอพยพโยกย้ายไปวางไข่ของประชากรปลาในทางน้ำสำคัญที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ ไม่เพียงอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้คนหลายล้านคนในภูมิภาคซึ่งพึ่งพาอาศัยแม่น้ำสายนี้ทั้งในการหาอาหารและการดำเนินชีวิตของพวกเขาเท่านั้น แต่ยังจะเป็นการแผ้วถางทางให้แก่โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำโครงการอื่นๆ บนแม่น้ำสายนี้อีกด้วย

ปัจจุบันมีเขื่อนอื่นๆ อีกอย่างน้อย 11 แห่งที่มีการเสนอให้สร้างขึ้นบนสายน้ำสายหลักของลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง นอกเหนือไปจากเขื่อน 5 แห่งซึ่งสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วในบริเวณแม่น้ำโขงตอนบนในพื้นที่ที่เป็นอาณาเขตของประเทศจีน

ในจำนวน 11 เขื่อนนี้มีอยู่ 6 เขื่อนที่เสนอให้สร้างขึ้นในลาว ทั้งนี้ประเทศลาวซึ่งแถลงแสดงความหวังว่า ตนเองจะกลายเป็น “แบตเตอรี” ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น วางแผนสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขึ้นตามแม่น้ำสายต่างๆ ของตนรวมแล้วมากกว่า 70 แห่ง

ข้อเขียนชิ้นนี้จัดทำขึ้นจากรายงานข่าวของสถานีวิทยุเอเชียภาคภาษาลาว โดยที่มี Max Avary แปลเป็นภาษาอังกฤษ และ Rachel Vandenbrink เขียนเป็นรายงานฉบับภาษาอังกฤษ สำหรับ วิทยุเอเชียเสรี (Radio Free Asia หรือ RFA) นั้น ก่อตั้งขึ้นโดยรัฐบัญญัติที่ผ่านรัฐสภาสหรัฐฯ อีกทั้งได้รับความสนับสนุนทางการเงินเป็นบางส่วนในรูปเงินให้เปล่าจากรัฐบาลสหรัฐฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น