เมื่อนิตยสาร “The New Yorker” ฉบับวันที่ 16 เดือนมิถุนายน ค.ศ.1962 เสนอบทความแนะนำหนังสือชื่อ “Silent Spring” ของ Rachel Carson นักชีววิทยาผู้มีผลงานเขียนหนังสือหลายเล่มที่ติดอันดับขายดีของโลก กองบรรณาธิการนิตยสารไม่เคยคิดเลยว่าจะได้รับจดหมายจากผู้อ่านเป็นจำนวนมากเช่นนั้น ซึ่งล้วนแสดงความเห็นในเชิงต่อต้าน เช่น “ถ้าเราเชื่อผู้หญิงคนนี้ พวกเราทุกคนก็จะอดอาหารตาย” บ้างก็ ถามว่า “ใครสำคัญกว่ากันระหว่างลูกหลานของเรากับแมลง” เพราะ Silent Spring ได้บรรยายผลที่จะเกิดตามมาอย่างน่าสะพรึงกลัวเมื่อธรรมชาติถูกมนุษย์ทำลาย
Rachel Carson ได้ตระหนักมาเป็นเวลานานแล้วว่า เท่าที่ผ่านมามนุษย์มิเคยพิทักษ์ และปกป้องธรรมชาติอย่างที่ควรทำเลย เช่น ชอบใช้ยาและสารเคมีในปริมาณมากเกินพอเพื่อฆ่าแมลง โดยการฉีดพ่นสารพิษเหล่านี้ทั้งในอากาศ, บนดิน และในน้ำ จนปลา นก และผึ้งล้วนต้องดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่กำลังเป็นพิษยิ่งขึ้น ตลอดเวลา และเมื่อไม่มีใครสนใจจะศึกษาผลกระทบของสารพิษเหล่านี้ที่มีต่อชีวิตและสุขภาพในระยะยาว ดังนั้น ในอนาคตโลกอาจไม่มีแมลง รวมถึงไม่มีนก ฯลฯ ถ้าโลกไม่มีผึ้งบินตอมดอกไม้ และไม่มีนกส่งเสียงร้องในฤดูใบไม้ผลิ เพราะผึ้งและนกถูกสารพิษฆ่าจนหมดสิ้น โลกก็จะมิเป็นโลกอีกต่อไป
เมื่อผู้อ่านบทความนี้หลายคนตกใจกลัวเหตุการณ์ที่ Carson บรรยาย และรู้สึกไม่พอใจรัฐบาลที่มิได้ทำหน้าที่ปกป้องสิ่งแวดล้อม แต่ก็มีคนหลายคนที่กล่าวขอบคุณ Carson ซึ่งได้เตือนสังคมเกี่ยวกับภัยนี้
ในช่วงเวลานั้นตัว Carson กำลังป่วยเป็นมะเร็ง ดังนั้น คนบางคนจึงอ้างว่า ในส่วนลึกของจิตใจ เธอเป็นนักต่อต้านการใช้ยาฆ่าแมลง และกำลังกล่าวหาว่า สารเคมีทำให้เธอเป็นโรคร้าย บริษัทผลิตภัณฑ์เคมีจึงออกมาโจมตี Carson ส่วนบรรดาบริษัทผลิตภัณฑ์อาหาร และองค์กรเกษตรต่างๆ ก็กังวลว่า ประชาชนจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัท เวลามีคนล้มป่วยและตายเพราะได้บริโภคสารเคมีเข้าไปโดยไม่รู้ตัว ผู้จัดการบริษัทจึงแย้งว่า ถ้าบริษัทไม่ใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อผลิตอาหารให้มากขึ้น สินค้าเกษตรกรรมก็ต้องมีราคาแพงขึ้น และทุกคนจะลำบาก ดังนั้นในสายตาของนายทุน Rachel Carson คือศัตรูผู้จ้องทำลายชาติอเมริกา ด้วยเหตุนี้บริษัทผลิตสารเคมีจึงขอให้สำนักพิมพ์ยกเลิกการพิมพ์หนังสือ “Silent Spring” เสีย
แต่สำนักพิมพ์ไม่ฟังคำทักท้วง และประกาศเดินหน้าจัดพิมพ์หนังสือเพื่อออกวางตลาดในเดือนกันยายนของปีนั้นเอง ด้วยจำนวนขาย 150,000 เล่ม ทำให้ “Silent Spring” เป็นหนังสือติดอันดับขายดีที่สุดของอเมริกาทันที
ความสำเร็จในการขายได้เป็นจำนวนมากเล่มมิได้หมายความว่า Rachel Carson จะไม่ถูกใครโจมตีอีกเลย เพราะหนังสือยิ่งขายดี เธอก็ยิ่งถูกโจมตีมาก เช่น นักวิชาการบางคนกล่าวหาว่า เธอมองปัญหาด้านเดียวแล้วสรุป เธอเป็นคนที่วิตกจริตเกินควร เธอเป็นคนเขียนเสือให้วัวกลัว และเธอเป็นคอมมิวนิสต์ผู้พยายามทำลายอเมริกาโดยการล้มระบบธุรกิจของชาติ ฯลฯ
แต่กลับเป็นว่าเมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ.1963 กระแสความตื่นตัวของสังคมเรื่องการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมได้บังเกิดขึ้นทั่วประเทศ รัฐสภาสหรัฐเริ่มสนใจศึกษาเรื่องมลพิษ และมลภาวะ จึงได้เชิญ Carson มาให้ความเห็นในที่ประชุมของรัฐสภา ซึ่งเธอก็ได้ชี้แจงว่ามนุษย์จะต้องเคารพและพิทักษ์ธรรมชาติ เพื่อการอยู่รอดของมนุษย์เอง
Rachel Carson ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ.1907 ที่ Springdall รัฐ Pennsylvania ในไร่ของครอบครัวซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเมือง Pittsburgh นัก บิดา Robert และมารดา Maria มีลูก 3 คน โดย Rachel Carson เป็นลูกคนสุดท้อง
Maria Carson เคยมีอาชีพเป็นครูมาก่อน เมื่อเธอแต่งงาน เธอจึงต้องลาออกจากอาชีพครูที่เธอรักหันมาสอนหนังสือให้ลูกๆ ที่บ้านแทน เธอมักบอก Rachel ว่า โรงเรียนมิใช่สถานที่เดียวในโลกที่คนจะเรียนหนังสือ Maria จึงปลูกฝังนิสัยรักธรรมชาติให้ Rachel ตลอดเวลา
เมื่อ Rachel อายุหกขวบ เธอได้เข้าเรียนที่โรงเรียน Street School ซึ่งอยู่ใกล้บ้าน เธอชอบอ่านหนังสือมาก จนรู้สึกต้องการเขียนหนังสือให้ผู้อื่นอ่านบ้าง นั่นคือ เธอต้องการจะเป็นนักเขียน และประสบความสำเร็จในการเขียนบทความสั้นๆ ลงในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ในขณะที่มีอายุเพียง 11 ปี ทั้งๆ ที่ได้เงินค่าเขียนเพียงเล็กน้อย แต่เธอก็รู้สึกภูมิใจมาก และเริ่มทยอยเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์นานๆ ครั้ง เฉพาะเวลาเธอมีประเด็นที่เธอต้องการให้สังคมรับรู้ข้อคิดของเธอ
หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมศึกษา เธอได้เข้าเรียนที่ Pennsylvania College for Woman โดยตั้งใจจะเรียนวิชาภาษาอังกฤษเป็นวิชาเอก เพราะเธอประสงค์จะเป็นนักเขียน และครูที่สอนรู้สึกประทับใจในความสามารถด้านการเขียนของเธอมาก แต่เมื่อเธอได้เรียนชีววิทยากับอาจารย์ชื่อ Mary Scott Skinker เธอก็ตกหลุมรักวิชาชีววิทยาทันที และรู้สึกชอบยิ่งกว่าวิชาการประพันธ์เสียอีก เมื่ออาจารย์ Skinker บอกเธอว่า เธอสามารถเป็นทั้งนักชีววิทยา และนักเขียนได้ในคนๆ เดียวกัน โดยเขียนเรื่องที่เกี่ยวกับชีววิทยาที่เธอรู้ดี Rachel Carson จึงรู้สึกไม่ผิดที่ต้องเลือกระหว่างวิชาชีววิทยากับวิชาการประพันธ์ วิชาใดวิชาหนึ่งแต่เพียงวิชาเดียว
Rachel Carson สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้วยคะแนนเกียรตินิยม เมื่ออายุ 22 ปี แล้วเข้าเรียนต่อระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัย John Hopkins ในรัฐ Maryland ด้านชีววิทยาของสัตว์ทะเล เพราะเธอรู้สึกผูกพันกับทะเลที่เธอเห็นมาก เช่น เห็นความสวยงามของฝูงนกทะเลเวลาบินอพยพ เห็นคลื่นซัดฝั่ง เห็นน้ำขึ้น น้ำลง ด้วยอิทธิพลแรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์อย่างสม่ำเสมอเป็นเวลานับล้านๆ ปี เห็นสัตว์ทะเลที่มีรูปร่างแตกต่างจากสัตว์บกโดยสิ้นเชิง จนทำให้โลกทะเลไม่เหมือนกับโลกบกเลยแม้แต่นิดเดียว
ปี 1929 เป็นปีที่เศรษฐกิจโลกตกต่ำมาก บริษัทธุรกิจหลายแห่งล้มละลาย ผู้คนจำนวนมากว่างงาน ครอบครัว Carson ก็ถูกกระทบกระเทือนด้วย Rachel จึงต้องทำงานนอกเวลาหาเงิน และได้งานที่ Institute for Biological Research ภายใต้การนำของศาสตราจารย์ Raymond Pearl ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์ของแมลงหวี่ Pearl เชื่อว่า การวิจัยทุกรูปแบบมีจุดประสงค์จะให้มนุษย์เข้าใจธรรมชาติ เพื่อจะได้นำความรู้ไปปรับปรุงคุณภาพของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด
Rachel ต้องทำงานหนักในห้องปฏิบัติการเพื่อเขียนวิทยานิพนธ์เรื่องไข่และตัวอ่อนของปลาดุก และได้ปรารภกับบิดาและมารดาว่า อาจารย์คงปล่อยให้เธอออกจากห้องปฏิบัติการเมื่อผมบนศีรษะหงอกขาวหมดแล้ว จะอย่างไรก็ตาม Rachel Carson ได้รับปริญญาโทในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1932 เมื่อเธออายุ 25 ปี เมื่อยังไม่มีงานให้ทำ เธอจึงตั้งใจจะเรียนต่อระดับปริญญาเอก
แต่เธอต้องหยุดแผนการเรียนต่อ เพราะบิดาและพี่สาวป่วยหนัก เธอจึงต้องหางานทำ เพื่อเลี้ยงครอบครัวเพราะเมื่อคนทั้งสองเสียชีวิต Rachel ต้องรับภาระเลี้ยงดูมารดาและหลานๆ แต่เพียงผู้เดียว เพราะพี่ชายได้หนีออกจากบ้าน และไม่ให้ความช่วยเหลือใดๆ แก่ครอบครัว Rachel ได้งานที่กรมประมง และมีหน้าที่เขียนบทความเกี่ยวกับปลา เพื่อให้คนฟังวิทยุเข้าใจธรรมชาติของปลา เมื่อบทความที่ใช้เวลาถ่ายทอดนาน 7 นาที มีคนฟังมาก และชื่นชมมาก Rachel จึงเริ่มเขียนบทความที่ค่อนข้างยาวขึ้น และเขียนหนังสือบ้าง รวมถึงส่งบทความไปลงในหนังสือพิมพ์ด้วย โดยที่เนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับทะเล เช่น การประมง การทำฟาร์มหอยนางรม อันตรายของการจับปลาอย่างไร้กฎเกณฑ์ และมลภาวะในทะเล เป็นต้น
ในปี 1941 หลังจากที่ได้ทุ่มเทความพยายามและเวลาค่อนข้างมาก หนังสือเล่มแรกในชีวิตของ Rachel Carson ชื่อ “Under the Sea Wind” ก็ออกวางตลาด เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ไม่มีมนุษย์ มีแต่ปลา นกทะเล และสัตว์ทะเลนานาชนิด ในรูปแบบการเขียนของเธอนั้นสัตว์ทุกตัวมีชื่อ มีปัญหาชีวิต และมีอารมณ์เหมือนคน ดังนั้น ผู้อ่านจึงได้ทั้งความรู้และความสนุกสนานเพลิดเพลิน
ในเดือนธันวาคมของปี 1941 สหรัฐอเมริกาได้ประกาศเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 เหตุการณ์นี้ทำให้หนังสือของ Carson ไม่ได้รับความสนใจมาก แม้จะได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์หนังสือก็ตาม สำหรับหนังสือเล่มที่ 2 ของเธอชื่อ “Food from the Sea” นั้น เธอได้บรรยายธรรมชาติของปลาและสัตว์ทะเลที่เป็นอาหารของคน โดยเน้นให้เห็นว่าระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตในทะเลกำลังมีปัญหา
หลังสงครามโลกครั้งที่ Rachel Carson ได้รับแต่งตั้งเป็นบรรณาธิการขององค์กร Fair and Wildlife Service และเริ่มเขียนหนังสือชุด Conservation in Action เธอจึงต้องเดินทางไปสำรวจป่าทั่วประเทศ และได้เขียนว่า สัตว์ป่าก็เช่นเดียวกับคน คือต้องการที่อยู่อาศัย เธอได้กล่าวถึงการอนุรักษ์ป่า เพื่อให้พืชและสัตว์ป่าสามารถมีชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
เมื่อหนังสือเล่มต่อไปของเธอที่ชื่อ “The Sea Around Us” ได้รับความนิยมติดอันดับเป็นหนังสือขายดีที่สุดในอเมริกา เหตุการณ์นี้ทำให้ Rachel Carson ตัดสินใจจะใช้ชีวิตที่เหลือเป็นนักประพันธ์และนักเขียนสารคดีเท่านั้น เธอก็คิดว่าน่าจะเพียงพอแล้ว และเมื่อหนังสือติดอันดับขายดีเป็นเวลานานถึง 86 สัปดาห์ รายได้จากการเขียนทำให้เธอสามารถลาออกจากราชการมาเป็นนักเขียนเต็มตัว และเขียนหนังสือชื่อ “The Edge of the Sea” เป็นเล่มต่อมา
ในช่วงเวลานี้ Rachel เริ่มครุ่นคิดเรื่องการอนุรักษ์โลกเพื่อเป็นมรดกสำหรับคนรุ่นหลัง เพราะเธอเพิ่งมีหลาน และรู้สึกกังวลว่าโลกในอนาคต เมื่อหลานของเธอเติบใหญ่จะเป็นเช่นไร เธอเริ่มสนใจการสอนเด็กเล็ก ให้รู้จักรักธรรมชาติ ในหนังสือชื่อ “The Sense of Wonder” ที่มีภาพประกอบเป็นจำนวนมากนั้น เธอได้อุทิศหนังสือนี้ให้แก่หลาน
ในปี 1961 Rachel Carson ได้รับจดหมายจากเพื่อนชื่อ Olga Owens Huckins ผู้เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ จดหมายฉบับนั้นได้แจ้งให้เธอทราบว่าในเมืองที่ Huckins อาศัย เจ้าหน้าที่ได้ฉีด DDT ฆ่ายุงไปทั่วเมือง และ Huckins ได้เห็นนกจำนวนมากมายทั้งที่ตายแล้ว และกำลังจะตายอย่างทารุณ แม้แต่ผึ้งและตั๊กแตนก็ล้มตายไม่เหลือ แต่ยุงยังมีชีวิตอยู่ต่อไป
Rachel ซึ่งกำลังกังวลเรื่องยาฆ่าแมลงอยู่แล้ว จึงรู้สึกโกรธและกลุ้มใจมาก และเธอได้ตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใดจึงมีแต่นกและแมลงเท่านั้นที่ตาย แล้วคนล่ะ จะได้รับผลกระทบใดบ้าง Rachel Carson จึงตัดสินใจเขียนความกังวลของเธอให้โลกตระหนัก เธอเริ่มอ่านหนังสือหาความรู้เกี่ยวกับน้ำ อากาศ และพื้นดิน เดินทางไปสัมภาษณ์นักวิทยาศาสตร์ ศึกษามลพิษ และยาฆ่าแมลงชนิดต่างๆ แล้วเริ่มเขียน “Silent Spring”
ในเดือนมกราคม ค.ศ.1962 Rachel Carson เขียนหนังสือ “Silent Spring” จบ เมื่อบรรณาธิการของนิตยสาร The New Yorker ได้อ่านหนังสือนี้ เขากล่าวชมเชยว่า เธอเขียนหนังสือได้ดีเยี่ยม จึงขออนุญาตนำบางส่วนของหนังสือลงพิมพ์ในนิตยสารฉบับวันที่ 16 มิถุนายน ผลที่ตามมาคือ คนอ่านเริ่มวิตกกังวล เพราะ Rachel Carson บอกว่า สารเคมีที่ใช้ฉีดฆ่าแมลงนั้นเป็นอันตรายต่อมนุษย์ และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ทุกชนิด คนที่ต่อต้านเธอคิดว่า เธอไม่เห็นด้วยกับการใช้ยาฆ่าแมลง แต่ในความเป็นจริง เธอต้องการให้นักวิทยาศาสตร์วิจัยเรื่องอันตรายจากยาฆ่าแมลง นอกจากนี้เธอก็ยังเชื่อมั่นว่า มนุษย์สามารถกำจัดสัตว์ที่เป็นอันตรายต่อพืชได้โดยไม่ต้องใช้สารเคมี
เมื่อกระแสความนิยมในหนังสือเกิดขึ้นทั่วประเทศ รัฐบาลสหรัฐจึงตอบสนองความรับผิดชอบโดยการเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัย ให้แก่เยาวชนในอนาคต เช่น กระทรวงเกษตรกล่าวชี้แจงเรื่องภัยที่เกิดจากการกินอาหารปนเปื้อนด้วยสารเคมี กระทรวงมหาดไทยก็เริ่มออกกฎหมายปกป้องคุ้มครองสัตว์ป่า และธรรมชาติแวดล้อม
แม้แต่ประธานาธิบดี John F. Kennedy ก็ได้กล่าวปราศรัยให้ข้าราชการทุกคน สนใจอ่านหนังสือ “Silent Spring” ของ Rachel Carson หลังจากนั้นไม่นาน บริษัทโทรทัศน์ CBS ก็ขอสัมภาษณ์เธอ รายการสัมภาษณ์ครั้งนี้มีผู้เข้าชม 12.5 ล้านคน และคนดูส่วนใหญ่เห็นพ้องกับความคิดของเธอ ในที่สุดวุฒิสภาก็ได้เชิญเธอไปปราศรัย และขอข้อคิดเห็นของเธอเรื่องการควบคุมมลภาวะในรายการสัมภาษณ์ที่ออกอากาศเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ.1963 เธอได้เน้นย้ำว่า คนทุกคนควรได้รับความปลอดภัยในบ้านของตนเอง และไม่ควรได้รับสารพิษใดๆ จากการกระทำของบุคคลอื่น เธอตอบคำถามของวุฒิสมาชิกทุกคำถามอย่างมั่นใจและตรงไปตรงมา ภายในเวลา 40 นาทีและวุฒิสภากับประชาชนก็ได้รับรู้เรื่องภัยและพิษของยาฆ่าแมลง และต่อมาได้ออกกฎหมายควบคุมการใช้ยาฆ่าแมลง และออกกฎหมายกำหนดให้มีการติดฉลากบอกส่วนผสมของยาฉีดบนขวดยาฆ่าแมลงทุกขวดด้วย
ในเดือนธันวาคม ค.ศ.1963 เธอได้รับเหรียญจากสมาคม National Audubon Society ในฐานะผู้มีผลงานโดดเด่นด้านนิเวศวิทยา และอีก 2 วันต่อมา สมาคม American Geographical Society ได้มอบเหรียญเกียรติยศแก่เธอในฐานะที่เป็นผู้ที่ทำให้โลกตระหนักในความสำคัญของการอนุรักษ์ธรรมชาติ และเป็นผู้ที่กล่าวเตือนทุกคนว่า การใช้เทคโนโลยีอย่างไม่มีความรับผิดชอบอาจทำลายโลกได้
เมื่อถึงต้นปี 1964 อาการป่วยของเธอเริ่มทวีความรุนแรง เธอต้องต่อสู้กับความเจ็บปวดและความอ่อนแอของร่างกาย เธอพยายามตอบจดหมายทุกฉบับที่เขียนถึงเธอ และเธอรู้สึกปิติมากเมื่อทราบว่า รัฐบาลได้ผ่านกฎหมายการควบคุมการใช้ยาฆ่าแมลงแล้ว
Rachel รู้ดีว่า ฤดูร้อนของปี 1964 อาจเป็นฤดูร้อนครั้งสุดท้ายของเธอ เพราะเธอกำลังป่วยเป็นมะเร็ง Rachel Carson เสียชีวิตในเวลาเย็นของวันที่ 14 เมษายน ค.ศ.1964 ที่เมือง Sliver Spring หลังจากที่เธอจากไป มลรัฐ Pennsylvania ได้ประกาศให้วันที่ 27 พฤษภาคม (วันเกิดของเธอ) ของทุกปี เป็นวัน Rachel Carson
ในปี 1980 ประธานาธิบดี Jimmy Carter ได้มอบ Presidential Medal of Freedom แก่ Rachel Carson ซึ่งถือเป็นเกียรติสูงสุดสำหรับเธอ ในฐานะเป็นผู้สร้างกระแสความคิดเกี่ยวกับอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กรมไปรษณีย์ยากรก็ได้ออกแสตมป์ที่มีภาพของเธอ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ.1981 เพื่อระลึกถึงเธอซึ่งครั้งหนึ่งเคยตั้งใจจะเป็นนักเขียน แต่ได้กลายมาเป็นผู้ปกป้องโลกที่เธอรัก
อ่านเพิ่มเติมจาก Rachel Carson: Witness for Nature โดย Linda Lear จัดพิมพ์โดย Henry Holt and Company, New York 1997
*********************
เกี่ยวกับผู้เขียน
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน - ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์
ประวัติการศึกษา - ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์