เอเจนซีส์ - รัฐมนตรีคลังทั่วโลกใช้ที่ประชุมคณะกรรมการวางนโยบายของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กดดันยุโรปให้ใช้ประโยชน์จากการมี “กันชนการเงินใหม่” เดินหน้าการปฏิรูปที่คั่งค้างเพื่อยุติวิกฤตหนี้ที่คุกคามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะเดียวกันประเทศกำลังพัฒนายืนกรานต้องการมีส่วนร่วมในคณะกรรมการบริหารของไอเอ็มเอฟกองทุนฯ มากขึ้น
มาตรการสองขั้นซึ่งประกอบด้วยการที่ชาติสมาชิกตกลงอัดฉีดเงินรวม 430,000 ล้านดอลลาร์ให้แก่ไอเอ็มเอฟในวันศุกร์ (20) ที่ผ่านมา และการตัดสินใจของผู้นำยุโรปตั้งแต่เมื่อ 3 สัปดาห์ที่แล้วในการอัดฉีดเงินเข้ากองทุนต้านวิกฤตของตนเอง 1 ล้านล้านดอลลาร์ ต่างเสริมส่งกันในวัตถุประสงค์เพื่อให้ความมั่นใจกับนักลงทุนว่า ไอเอ็มเอฟจะมีเงินในการสนับสนุนประเทศที่ประสบปัญหาการเงิน
กระนั้น ในวันเสาร์ (21) ที่ประชุมของคณะกรรมการวางนโยบายของไอเอ็มเอฟก็ระบุว่า แม้ตลาดการเงินโลกกลับสู่ความสงบหลังจากวิกฤตกรีซบรรเทาลง แต่ยูโรโซนที่ประกอบด้วยสมาชิก 17 ชาติยังต้องดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อลดภาระหนี้ภาครัฐ ผลักดันแผนการปฏิรูปเชิงรุก และฟื้นเสถียรภาพระบบการเงิน
ธาร์มัน ชันมูการัตนัม รัฐมนตรีคลังสิงคโปร์ ในฐานะประธานคณะกรรมการวางนโยบายของไอเอ็มเอฟ แจงว่า หากยูโรโซนนิ่งนอนใจ ปัญหาหนี้จะกลับมา การเติบโตตกต่ำ และคุกคามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
คณะกรรมการวางนโยบายของไอเอ็มเอฟ กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ในระดับพอประมาณ แต่ยังมีความเสี่ยงสูง และประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้า โดยเฉพาะยูโรโซนต้องดำเนินมาตรการต่อไปเพื่อฟื้นการขยายตัวอย่างเข้มแข็ง
ปัจจุบัน ยูโรโซน อันเป็นเขตเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก เผชิญภาวะถดถอยแบบอ่อนๆ ซึ่งก็ส่งผลกระทบต่อคู่ค้าการส่งออกอย่างจีนและชาติเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯก็อยู่ในภาวะ ชะลอตัวลง
ไอเอ็มเอฟและผู้นำทางการคลังจากทั่วโลกย้ำว่า โลกจะไม่สามารถหลุดพ้นวงจรอุบาทว์จากวิกฤตหนี้ได้ เว้นแต่การเติบโตกลับแข็งแกร่งขึ้นและนักลงทุนเชื่อมั่นในเศรษฐกิจอีกครั้ง โดยธาร์แมนเชื่อว่า เศรษฐกิจโลกจะกลับมาเติบโตตามปกติภายใน 2-3ปี ซึ่งเร็วกว่าที่เคยคาดไว้
ทางด้านสหรัฐฯ ก็ได้เพิ่มแรงกดดันให้ยุโรปพยายามสร้างปราการต่อต้านการติดเชื้อทางการเงิน โดยทิโมธี ไกธ์เนอร์ รัฐมนตรีคลังแดนอินทรี กล่าวกับคณะกรรมการวางนโยบายของไอเอ็มเอฟว่า ความสำเร็จในการรับมือวิกฤตขั้นตอนต่อไปจะชี้ความเต็มใจและความสามารถของยุโรปและธนาคารกลางยุโรป ในการใข้เครื่องมือที่ยืดหยุ่นและก้าวร้าวขึ้นเพื่อสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ ดำเนินการปฏิรูป
แต่วูล์ฟกัง ชะออยเบิล รัฐมนตรีคลังเยอรมนีโต้กลับโดยชี้ปัญหาหนี้ของอเมริกาที่เลวร้ายลงและใกล้ถึงจุดเดือดปลายปีนี้เมื่อแผนการลดภาษีและการวางแผนลดงบประมาณก้อนใหญ่อาจฉุดเศรษฐกิจเมืองลุงแซมเข้าสู่ภาวะถดถอย และการเลือกตั้งประธานาธิบดีปลายปีนี้ทำให้เกิดการคุมเชิงทางการเมืองเกี่ยวกับแผนงบประมาณ ขณะที่ญี่ปุ่นที่มีหนี้สาธารณะสูงถึง 230% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ต้องการแผนการงบประมาณที่เชื่อถือได้เช่นเดียวกัน
ขณะเดียวกัน คณะกรรมการวางนโยบายไอเอ็มเอฟย้ำว่า การจัดสรรงบประมาณของชาติต่างๆ ต้องมีความสมดุลเพื่อหลีกเลี่ยงการลดการใช้จ่ายมากเกินไปซึ่งบ่อนทำลายการเติบโตและทำให้การขาดดุลเลวร้ายลง พร้อมเรียกร้องให้ธนาคารกลางประเทศสำคัญตรึงดอกเบี้ยระดับต่ำไว้ และใช้นโยบายกระตุ้นทางการเงินไปพร้อมกัน ตราบเท่าที่การเติบโตยังอ่อนแอและเงินเฟ้ออยู่ภายใต้การควบคุม
นอกจากนี้ คณะกรรมการ ยังเรียกร้องให้สมาชิกให้สัตยาบันรับรองแผนการเพิ่มตัวแทนของชาติเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ ในคณะกรรมการบริหารของกองทุนที่เสนอไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2010 โดยบราซิลยืนกรานว่า จะอัดฉีดเงิน 15,000 ล้านดอลลาร์ให้ไอเอ็มเอฟหลังจากมาตรการปฏิรูปนี้บรรลุผลแล้วเท่านั้น
อย่างไรก็ดี การปฏิรูปนี้ไม่มีแนวโน้มได้รับอนุมัติภายในการประชุมไอเอ็มเอฟเดือนตุลาคม เนื่องจากรัฐสภาสหรัฐฯ ไม่น่าจะตกลงกันได้ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ปลายปี อันจะทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับชาติเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่คุกรุ่นยิ่งขึ้น