xs
xsm
sm
md
lg

IMF อัปเกรดแนวโน้มจีดีพีโลกแต่เตือนภัยยูโรโซน-น้ำมันแพง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - ไอเอ็มเอฟปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกทั้งในปีนี้และปีหน้า สืบเนื่องจากสหรัฐฯ ทำท่ากลับกระเตื้องขึ้นมาใหม่ และอันตรายจากยุโรปก็ลดถอยลงแล้ว แต่กระนั้นก็ไม่วายเตือนว่าถ้าวิกฤตหนี้ยุโรปเกิดปะทุขึ้นอีกรอบหนึ่ง หรือราคาน้ำมันยังพุ่งพรวดพราดเพราะความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ การฟื้นตัวที่ยังอยู่ในสภาพเปราะบางอย่างยิ่งของโลกก็จะย่ำแย่ลงอีกครั้ง ขณะเดียวกันไอเอ็มเอฟก็คาดหมายว่าไทยปีนี้จะเติบโต 5.5% และเพิ่มเป็น 7.5% ในปีหน้า

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ในรายงานฉบับสำคัญที่นำออกเผยแพร่เมื่อวันอังคาร (17) ว่า เศรษฐกิจโลกในปีปัจจุบันจะขยายตัว 3.5% และ 4.1% ในปี 2013 เทียบกับตัวเลขคาดการณ์ที่ให้ไว้เมื่อเดือนมกราคมที่อยู่ที่ 3.3% และ 4.0% ตามลำดับ

ในฉบับล่าสุดของรายงานทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ที่จัดทำขึ้นปีละ 2 ครั้ง ไอเอ็มเอฟระบุว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ จากสถานการณ์การเงินโลกที่ดีขึ้น ขณะที่ความกังวลที่มีต่อวิกฤตหนี้ยูโรโซนลดลง กระนั้น เศรษฐกิจโลกยังเปราะบางอย่างมาก

จีนยังคงเป็นผู้ผลักดันสำคัญ โดยคาดหมายว่า เศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลกแห่งนี้จะขยายตัว 8.2% ในปีนี้ และ 8.8% ในปีหน้า

ขณะเดียวกัน การฟื้นฟูบูรณะในญี่ปุ่นและไทยหลังภัยพิบัติธรรมชาติใหญ่ ก็ช่วยส่งเสริมการเติบโตในเอเชียเป็นอย่างดี

ทั้งนี้ รายงานคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเอาไว้ว่า จากปีที่แล้วซึ่งเติบโตเพียง 0.1% จะทำได้ 5.5% ในปีนี้ และเพิ่มเป็น 7.5% ในปีหน้า โดยเป็นที่คาดหมายกันว่า เศรษฐกิจของไทยจะกลับกระเตื้องขึ้นตั้งแต่ครึ่งแรกของปีนี้ ภายหลังย่ำแย่เพราะอุทกภัยในปีที่แล้ว การเติบโตดังกล่าวนี้ได้แรงสนับสนุนจากมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน บวกกับแพกเกจทางการคลังก้อนโตที่จะใช้รับมือกับน้ำท่วม

สำหรับยุโรป ไอเอ็มเอฟยังตั้งข้อสังเกตถึงปฏิบัติการรีไฟแนนซ์พิเศษระยะยาวของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ที่อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบการธนาคารในยูโรโซน การเพิ่มทรัพยากรในการจัดการวิกฤตหนี้ และการปฏิรูปเชิงโครงสร้างเพื่อฟื้นระบบการเงิน

อย่างไรก็ดี รายงานฉบับนี้คาดหมายว่ายูโรโซนยังจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีนี้ โดยจะหดตัวในอัตรา 0.3% สืบเนื่องจากการทรุดตัวอย่างแรงของอิตาลีและสเปน ก่อนที่อัตราเติบโตจะกลับคืนมาเป็นบวกในอัตราจิ๊บๆ เพียงแค่ 0.9% ในปี 2013

ทางด้านสหรัฐฯ ไอเอ็มเอฟคาดว่า จะเติบโต 2.1% ในปีนี้ และ 2.4% ในปีหน้า ปรับสูงขึ้นจากที่คาดไว้เดิมซึ่งอยู่ที่ 1.8% และ 2.2% ตามลำดับ

“ข้อกังวลหลักคือ เศรษฐกิจโลกจะยังอ่อนไหวต่อความเสี่ยงขาลงที่สำคัญ และการฟื้นตัวในประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าจะยังกะปริดกะปรอยต่อไป

“ความท้าทายเหล่านี้เรียกร้องให้มีการดำเนินนโยบายเพิ่มเติม โดยเฉพาะในประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้า รวมถึงการแก้ไขวิกฤตยูโรโซนโดยไม่ชักช้า” รายงานของไอเอ็มเอฟระบุ

ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟเรียกร้องว่า เพื่อทำให้การฟื้นตัวของทั่วโลกมีความมั่นคง บรรดาธนาคารกลางของสหรัฐฯ, ยูโรโซน, และญี่ปุ่น ควรเตรียมพร้อมที่จะใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินมากขึ้นอีก ขณะที่รัฐบาลของชาติเหล่านี้ก็ต้องระมัดระวังในการตัดลดงบประมาณ, รวมทั้งยุโรปควรพิจารณาใช้เงินกองทุนสาธารณะเพื่อเพิ่มเงินทุนของธนาคารต่างๆ

รายงานของไอเอ็มเอฟมองว่า ความกดดันด้านการเงินยังคงผันผวนและลดลงด้วยความเชื่องช้า

เฉพาะปีนี้ปีเดียวภาครัฐและธนาคารในยูโรโซนจะเผชิญความท้าทายในการรีไฟแนนซ์มูลค่าราว 23% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และแบงก์จะต้องลดหนี้ให้ได้ 2.6 ล้านล้านดอลลาร์ภายใน 2 ปีข้างหน้า

“แม้ความกดดันเหล่านี้มีแนวโน้มส่งผลต่อเศรษฐกิจชายขอบของยูโรโซนและตลาดเกิดใหม่ในยุโรปเป็นหลัก แต่จะถ่วงการเติบโตในประเทศสำคัญ ซึ่งอาจทำให้ผลลัพธ์เลวร้ายลงหากเงื่อนไขการระดมทุนเสื่อมถอยลง และผลลัพธ์ที่มีแนวโน้มสูงว่าจะเกิดขึ้นตามมาคือ การระดมทุนตีบตันในภูมิภาคอื่นๆ”

นอกจากนี้ รายงานไอเอ็มเอฟเตือนว่า ราคาน้ำมันอาจสร้างความเสียหายใหญ่หลวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์จากโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านทำให้ซัปพลายน้ำมันโลกติดขัด

ทั้งนี้ น้ำมันครึ่งหนึ่งของอิหร่านส่งออกไปยังประเทศก้าวหน้าในองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ซึ่งหากประเทศอื่นไม่สามารถผลิตชดเชยได้ อาจดันให้ราคาน้ำมันทะยานขึ้นอีก 20-30% และส่งผลกระทบรุนแรงไปทั่วระบบเศรษฐกิจโลกพอๆ กับช่วงที่เศรษฐกิจโลกถดถอยหนักในทศวรรษ 1930

อีกหนึ่งความเสี่ยงที่ต้องจับตาคือ การผิดนัดชำระหนี้แบบไร้ระบบและการที่บางประเทศอาจออกจากยูโรโซน ซึ่งจะทำให้ตลาดการเงินตื่นตระหนก ส่งผลกระทบมโหฬารทางการเมืองซึ่งจะเพิ่มความกดดันต่อเศรษฐกิจในระดับที่รุนแรงกว่าการล่มสลายของเลห์แมน บราเธอร์ส ในปี 2008
กำลังโหลดความคิดเห็น