เอเจนซี - คณะกรรมการบริหารเวิลด์แบงก์ ลงมติเมื่อวันจันทร์ (16) เลือก จิม ยอง คิม ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขสัญชาติอเมริกันที่เกิดในเกาหลี นั่งเก้าอี้ประธานคนใหม่ ปล่อยให้ประเทศกำลังพัฒนาหัวเสียกับกระบวนการสรรหาที่ผูกขาดตำแหน่งนี้ไว้ให้สหรัฐฯเพียงชาติเดียว
คิม ซึ่งได้ปริญญาแพทยศาสตร์และปริญญาเอกทางมานุษยวิทยา ได้ชัยชนะเหนือ เอ็นโกซี โอคอนโจ-ไอวีอาลา รัฐมนตรีคลังไนจีเรียที่ได้รับการยอมรับนับถืออย่างกว้างขวาง เมื่อเขาได้การสนับสนุนของพันธมิตรของวอชิงตันในยุโรปตะวันตก ญี่ปุ่น และแคนาดา ตลอดจนถึงประเทศตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่บางราย
ขณะที่ โฮเซ อันโตนิโอ โอคัมโป อดีตขุนคลังโคลอมเบีย ถอนตัวจากการแข่งขันเมื่อวันศุกร์ (13) โดยให้เหตุผลว่า กระบวนการสรรหาอิงการเมืองมากเกินไป
โอคอนโจ-ไอวีอาลา แสดงความยินดีกับคิม และสำทับว่า การแข่งขันนำมาซึ่ง “ชัยชนะสำคัญ” สำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่ผลักดันให้พวกตนมีสิทธิ์มีเสียงมากขึ้นทั้งในธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กระนั้น ยังต้องใช้ความพยายามให้มากขึ้นในการยุติ “ธรรมเนียมปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม" ที่รับประกันว่า วอชิงตันจะได้ครอบครองตำแหน่งผู้นำเวิลด์แบงก์
กระนั้น ครั้งนี้ก็ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ธนาคารโลกที่การผูกขาดตำแหน่งนี้ของแดนอินทรีถูกท้าทาย
มีรายงานการตัดสินใจของคณะกรรมการบริหาร 25 คนของธนาคารโลกคราวนี้ไม่เป็นเอกฉันท์ โดยที่พวกชาติเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่แตกแยกกัน โดยบราซิลและแอฟริกาใต้ ลงคะแนนให้ โอคอนโจ-ไอวีอาลา ขณะที่แหล่งข่าวสามรายแย้มว่า จีนและอินเดียสนับสนุน คิม
คิม วัย 52 ปี ซึ่งนั่งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยดาร์ตมัธ อยู่ จะเข้ารับตำแหน่งประธานเวิลด์แบงก์ในวันที่ 1 กรกฎาคม หลังจากโรเบิร์ต เซลลิก ประธานคนปัจจุบัน สิ้นสุดวาระ
คิมให้สัญญาว่า จะปรับเปลี่ยนธนาคารโลกให้สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยทำให้แน่ใจว่า ธนาคารโลกนำเสนอผลลัพธ์ที่มีพลังยิ่งขึ้นในการสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืน ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกกับการแก้ปัญหาที่อิงกับหลักฐานมากกว่าอุดมคติ รับฟังเสียงของประเทศกำลังพัฒนา และดึงความเชี่ยวชาญและประสบการณ์จากผู้คนที่ธนาคารโลกให้การสนับสนุนมาใช้
ต่างจากประธานธนาคารโลกคนก่อนๆ คิมไม่ใช่นักการเมือง นายธนาคาร หรือนักการทูต การทำงานของเขาในอดีตที่มีชื่อเสียงมาก คือการนำระบบสาธารณสุขไปถึงประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งเคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายเอชไอวี/เอดส์ ขององค์การอนามัยโลก (ฮู)
คิมยังเป็นผู้ก่อตั้งพาร์ตเนอร์ส อิน เฮลธ์ ที่มุ่งเน้นโครงการสาธารณสุขชุมชนสำหรับประเทศยากจน และมีส่วนในการจัดตั้งโกลบัล เฮลธ์ ดิลิฟเวอรี โปรเจ็กต์
ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาบางคนวิจารณ์ตัวเลือกของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นี้ว่า ขาดความน่าเชื่อถือด้านเศรษฐศาสตร์และการเงินซึ่งจำเป็นต่อการตอบสนองความต้องการของประเทศที่มีรายได้ปานกลางที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งแม้ยังต้องฝ่าฟันความยากจน แต่ต้องการวิธีการที่สร้างสรรค์ในการระดมทุนเพื่อการพัฒนา
ขณะเดียวกัน แม้อเมริกายืนยันว่า กระบวนการสรรหาคราวนี้เปิดกว้างและโปร่งใส แต่ประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่หลายแห่งตั้งข้อสงสัยว่า ผู้สมัครอาจได้รับการประเมินจากเรื่องสัญชาติ มากกว่าความชอบธรรม ตามที่ชาติสมาชิกได้เคยตกลงกันไว้เมื่อปี 2010
ทั้งนี้ เมืองลุงแซมผูกขาดเก้าอี้บิ๊กบอสเวิลด์แบงก์มาตั้งแต่องค์กรแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่ยุโรปยึดเก้าอี้กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟ