เอเอฟพี - สหรัฐฯเมื่อวันศุกร์(23) เสนอชื่อ จิมยองคิม ประธานกลุ่มมหาวิทยาลัยไอวีลีกอันทรงเกียรติ ดำรงตำแหน่งประธานธนาคารโลกต่อจากนายโรเบิร์ต โซลลิค ประธานคนปัจจุบันซึ่งจะหมดวาระสิ้นเดือนมิถุนายน โดยเขาต้องแข่งขันกับเหล่าผู้สมัครจากประเทศกำลังพัฒนา
"นี่คือเวลาของศาสตรจารย์นักพัฒนาที่จะก้าวขึ้นมานำองค์กรเพื่อการพัฒนาใหญ่ที่สุดของโลก" โอบามา แถลงโดยมี จิมยองคิม ศาสตรจารย์ชาวสหรัฐฯเชื้อสายเกาหลีใต้ซึ่งเวลานี้ควบเก้าอี้อธิการบดีมหาวิทยาลัยดาร์ทมัธอีกหนึ่งตำแหน่งยืนอยู่ข้างๆ
"จิมได้ทำงานเป็นกว่า 2 ทศวรรษเพื่อปรับปรุงภาวะการณ์ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก" ปธน.โอบามากล่าว อ้างถึงงานด้านต่อสู้กับเอชไอวีหรือเอดส์และงานต่างๆในองค์การอนามัยโลก "เวิลด์แบงก์เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่มีอำนาจมากที่สุดที่เรามี ในการลดความยากจนและเพิ่มมาตรฐานการดำรงชีวิตทั่วโลก และประสบการณ์ส่วนตัวของนายจิมและระยเวลาหลายปีในการทำงานทำให้เขาเป็นผู้ที่เหมาะสมในการชิงตำแหน่งนี้"
สำหรับประวัติโดยสังเขปของนายคิมนั้น เกิดเมื่อปี 1959 จากนั้นเขาและครอบครัวได้ย้ายมาอยู่ในสหรัฐตั้งแต่อายุ 5 ขวบ โดยเขาสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยบราวน์ในปี 1982 และได้รับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดในปี 1992
ระหว่างการแถลงนั้น โอบามา ยังขนาบข้างด้วยทิโมธี ไกธ์เนอร์ รัฐมนตรีคลังและนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศ ซึ่งเคยมีข่าวว่าอยู่การพิจารณาเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งนี้เช่นกัน แม้ว่าเธอย้ำมาตลอดว่าไม่สนใจเก้าอี้ตัวนี้ก็ตาม
การที่สหรัฐฯเลือกเสนอชื่อ คิม ลงชิงเก้าอี้ธนาคารผู้ปล่อยกู้ด้านการพัฒนาที่มีสมาชิกทั้งหมด 187 ชาติ ส่งผลให้เขากลายเป็นตัวเต็งสำหรับการได้รับเลือกให้นั่งเก้าอี้สูงสุดของสถาบันแห่งนี้อันเนื่องจากข้อตกลงอย่างไม่เป็นทางการระหว่างสหรัฐฯกับยุโรป โดยบอร์ดธนาคารโลกมักให้ความเห็นชอบผู้ที่สหรัฐเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธาน ขณะที่ยุโรปก็จะผูกขาดตำแหน่งกรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)
ข้อเท็จจริงดังกล่าวจุดชนวนไม่พอใจจากชาติกำลังพัฒนาและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่ต้องการตัวแทนสะท้อนถึงอิทธิพลของพวกเขาต่อเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งนี้ผู้ได้รับเลือกจะเข้ามาดำรงตำแหน่งแทน นายโรเบิร์ต โซลลิค ประธานคนปัจจุบันที่แถลงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ว่าจะสละเก้าอี้ตัวนี้หลังหมดวาระสิ้นเดือนมิถุนายน ขณะที่เส้นตายการเสนอชื่อจะหมดเขต 22.00 จีเอ็มที.ของวันศุกร์(23)ตรงกับเมืองไทยเวลา 05.00 น.