เอเอฟพี - ธนาคารโลกเมื่อวันจันทร์ (16) เลือก “จิม ยอง คิม” นายแพทย์สหรัฐฯ เชื้อสายเกาหลี เป็นประธานคนต่อไป มติที่ไม่น่าประหลาดใจเท่าใดนัก แม้ตำแหน่งที่ผูกขาดไว้สำหรับตัวเลือกของอเมริกานี้จะถูกท้าทายอย่างหนักอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
เหล่าคณะกรรมการบริหารของธนาคารมีมติเลือก คิม ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขและวิชาการวัย 52 ปี เหนือนายเอ็นโกซี โอคอนโจ-ไอเวียลา รัฐมนตรีคลังไนจีเรีย ซึ่งโต้แย้งว่าธนาคารผู้ปล่อยกู้รายใหญ่ของโลกจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงภายใต้การนำโดยตัวแทนจากชาติกำลังพัฒนา
คิม เวลานี้ทำหน้าที่ประธานกลุ่มมหาวิทยาลัยไอวีลีกอันทรงเกียรติและดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยดาร์ธมัธ จะเข้ามาสืบทอดตำแหน่งของนายโรเบิร์ต โซลลิค ประธานคนปัจจุบันและอดีตนักการทูตสหรัฐฯ ที่แถลงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ว่าจะสละเก้าอี้ตัวนี้หลังหมดวาระสิ้นเดือนมิถุนายน
ทั้งนี้ เหล่าผู้จัดการของธนาคารแสดงความชมเชยและขอบคุณผู้สมัครทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น คิม โอคอนโจ-ไอเวียลาและโฮซ่ อันโตนิโอ โอคัมโป นักเศรษฐศาสตร์ชาวโคลอมเบีย ที่ประกาศถอนตัวเมื่อวันศุกร์ (13)
“พวกเขาคือผู้สมัครที่ควรค่าต่อการพิจารณาถึงบทบาทของประธานและทิศทางในอนาคตของกลุ่มเวิลด์แบงก์” ธนาคารโลกระบุในถ้อยแถลง “ผู้เสนอตัวในรอบสุดท้ายล้วนแต่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศสมาชิกที่ต่างกันไป นั่นสะท้อนถึงความสามารถอันสูงยิ่งของผู้สมัครเหล่านั้น”
สหรัฐฯ เสนอชื่อ คิม เหนือ 11 ตัวเต็งเหล่านายธนาคาร และนักการทูตที่ได้รับการคาดหมายก่อนหน้านี้ ตัวเลือกที่สร้างความประหลาดใจอย่างยิ่งเพราะว่าเขาไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันนัก ยกเว้นในแวดวงสาธารณสุขโลก ขณะที่บางส่วนวิพากษ์วิจารณ์ว่าเขาไม่มีภูมิหลังในด้านพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับผู้ที่จะเข้ามาบริการองค์กรที่มีรากฐานในการวิเคราะห์เศรษฐกิจ
แต่ทาง คิม เป็นนายแพทย์และนักมานุษยวิทยาซึ่งมีดีกรีริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มีประวัติแข็งแกร่งในด้านโครงการพัฒนาต่างๆ ต่อสู้กับโรคร้ายอย่างเอชไอวี/เอดส์ และวัณโรคในประเทศยากจน
เขาบอกหลังจากได้รับเลือกตั้งว่าตนเองมีความสามารถในการทำงานร่วมกับนักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ สำหรับการบริหารงานธนาคารที่้มีเจ้าหน้าที่มากถึง 9,000 คน
ไม่เป็นที่ประหลาดใจนักที่ คิม ได้รับเลือกเป็นประธานธนาคารโลก เนื่องจากสหรัฐฯ ผูกขาดการเลือกประธานธนาคารโลกมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี 1944 ขณะที่ประธานกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ก็จะเป็นตัวเลือกจากทางฝั่งยุโรป
เมื่อวันศุกร์ (13) โอคัมโป ถอนตัวออกจากการลงสมัคร โดยบอกว่ากระบวนการสรรหาอิงการเมืองมากเกินไป ขณะที่ โอคอนโจ-ไอเวียลา ก็บอกแบบเดียวกันในการถอนตัวในวันจันทร์ (16)