เชียงราย - กรรมาธิการการเงิน การคลังฯ เปิดห้องดุสิตไอส์แลนด์ฯ จัดสัมมนาเตรียมพร้อมตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเมืองพ่อขุนฯ วางไกลถึงขั้นไม่ใช้ผู้ว่าฯ จาก มท.พร้อมเชิญ “ยงยุทธ ติยะไพรัช” นักการเมืองใหญ่เชียงราย ขึ้นเวทีครั้งแรก หลังติดโทษแบนทางการร่วมหนุนด้วย ขณะที่ ส.ส.เพื่อไทย ชร.ฟันธงปลายปี 55 เกิดแน่
วันนี้ (2 เม.ย.) ที่ห้องประชุมดอยตุง โรงแรมดุสิตไอส์แลนด์รีสอร์ท อ.เมืองเชียงราย นายไชยา พรหมา ประธานคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานเปิดการสัมมนา “การเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษของ จ.เชียงราย เพื่อรองรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” โดยมีภาคธุรกิจเอกชน ผู้บริหารส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ เข้าร่วมประมาณ 500 คน
นายไชยากล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ ต้องการมารับทราบข้อมูลและปัญหาจากคนในพื้นที่ รวมทั้งดูสภาพพื้นที่โดยตรง เบื้องต้นที่ทราบคือ เชียงรายมีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชายแดนสูง โดยมีการเชื่อมโยงการค้ากับพม่า สปป.ลาว และจีนตอนใต้ ได้ทั้งทางบกและทางเรือแม่น้ำโขง มีสนามบินภายในจังหวัด แต่ในอดีตการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจเกิดจากนักธุรกิจมากกว่ารัฐบาลให้การสนับสนุน ต่อมาภาครัฐจึงค่อยเข้าไปสร้างระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ให้ เช่น ท่าเรือแม่น้ำโขง อ.เชียงแสน สะพานแม่น้ำโขง อ.เชียงของ ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ภาคธุรกิจก็ยังมีความเสี่ยงในหลายเรื่อง เช่น การซื้อขายสินค้าชายแดนด้วยเม็ดเงินมูลค่ามหาศาล ซึ่งยังไม่มีระบบธนาคารรองรับ ฯลฯ
ดังนั้น เขตเศรษฐกิจพิเศษจึงเป็นคำตอบในการทำให้การขับเคลื่อนไปได้สะดวกและรองรับการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาค โดยเฉพาะการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปี 2558 เพราะเราจะเป็นตัวถ่วงความเจริญของภูมิภาคนี้ไม่ได้อีกต่อไป โดยเฉพาะเราเป็นประตูหรือ Gate way ของภูมิภาค หากล่าช้าไปก็จะเสียโอกาสทั้งเรื่องการเคลื่อนย้ายทุน การลงทุน ฯลฯ
นายไชยากล่าวอีกว่า จะมีการผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนใน 3 จังหวัดก่อน คือ จ.เชียงราย, อ.แม่สอด จ.ตาก และ จ.กาญจนบุรี โดยกรณีจังหวัดกาญจนบุรีสามารถเชื่อมโยงไปยังท่าเรือทวาย ของพม่า เพียง 146 กิโลเมตร ขณะที่ประเทศไทยไม่ได้มีแผนรองรับใดๆ ไว้เลย ส่วน จ.เชียงราย และ อ.แม่สอด ก็มีความพร้อมอยู่แล้ว
“ต่อไปนี้เราจะให้ความเห็นต่างทางการเมืองมาเป็นตัวถ่วงเรื่องนี้อีกไม่ได้เป็นอันขาด”
นายไชยาบอกว่า แนวทางก็คือ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยการยกกฎหมายและประกาศใช้กฎหมายออกมารองรับกิจกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งยืนยันว่ากฎหมายจะไม่กระทบการปกครอง โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และไม่เกี่ยวกับการเมือง ซึ่งทางกรรมาธิการฯ จะผลักดันกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษให้แล้วเสร็จโดยเร็ว คาดว่าจะเป็นรูปธรรมได้ภายในรัฐบาลชุดนี้
นายไชยายังย้ำกับสื่อมวลชนว่า รูปแบบของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทางคณะกรรมาธิการอาศัยคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบ เพราะเคยมีการนำเสนอเรื่องนี้ในยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ต้องมีการนำมาปรับปรุงใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยกฎหมายก็จะมีการปรับให้ท้องถิ่นมีลักษณะพิเศษ หลีกเลี่ยงความหมายเรื่องผลกระทบต่อความมั่นคง และสามารถครอบคลุมในทุกมิติของเขตดังกล่าวในลักษณะ One Stop Service ทั้งเรื่องการอนุมัติ การดำเนินการ ฯลฯ โดยแต่ละพื้นที่คือ เชียงราย แม่สอด และกาญจนบุรี อาจจะมีการปรับแตกต่างกันออกไป ส่วนผู้บริหารอาจจะเทียบเท่าอธิบดีเข้าไปประจำพื้นที่ด้วย
นายไชยายังบอกอีกว่า ตัวอย่างปัญหากรณีไม่มีเขตเศรษฐกิจพิเศษคือการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เชื่อม อ.เชียงของ กับเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ซึ่งฝั่งลาวมีความร่วมมือกับจีนตั้งเขตเศรษฐกิจ แต่ฝั่งไทยยังไม่รู้ว่าหน่วยงานใดจะเป็นเจ้าภาพ และยังต้องหาทางเวนคืนที่ดินกันอีก ซึ่งกรณีนี้เขตเศรษฐกิจพิเศษสามารถแก้ไขปัญหาให้ได้
“เป้าหมายความสำเร็จคืออยากเห็นเชียงรายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ครอบคลุมทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจชายแดน เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดอาจไม่ได้มาจากกระทรวงมหาดไทย อาจเป็นนักธุรกิจ นายธนาคาร ข้าราชการหน่วยอื่นๆ เพื่อความเหมาะสม” นายไชยากล่าว
ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้มีการเชิญนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ซึ่งถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง 5 ปีในคดียุบพรรคพลังประชาชน ขึ้นกล่าวปราศรัยเรื่อง “ความพร้อมของเชียงราย ในการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดชายแดนของประเทศไทยมองภาพในฐานะประชาชน จ.เชียงราย ” ด้วย
โดยนายยงยุทธระบุว่า ไม่เคยขึ้นเวทีปราศรัย ณ ที่แห่งใดมานานกว่า 6 ปีแล้ว ส่วนปัจจุบันอยู่ในช่วงการปรองดอง ซึ่งต้องมีคนยอมเจ็บ เพราะเราจะหนีจากกันไปไหนไม่ได้ ต้องอยู่ด้วยกันตลอดไป กรณีเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่มีการสัมมนากัน เพราะในนานาชาติก็มีความร่วมมือกันของกลุ่มประเทศต่างๆ เช่น อเมริกา-แม็กซิโก หรือยุโรป ฯลฯ ส่วนประเทศไทยก็มีมูลค่าการค้าชายแดนมหาศาล และมีความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ดังนั้นจึงต้องมีการพัฒนาภายในด้วย
นายยงยุทธกล่าวอีกว่า จ.เชียงรายอยู่ไม่ไกลจากจีนตอนใต้ ที่มณฑลหยุนหนันมีประชากรประมาณ 40 ล้านคน จากทั้งประเทศประมาณ 1,300 ล้านคน ขณะที่เชียงรายเป็นเมืองท่องเที่ยวและ Gate way หากสามารถดึงคนจีนลงมาเที่ยวได้สมมติประมาณ 5 ล้านคนต่อปีก็จะมากกว่าประชากรของจังหวัดที่มีอยู่ราว 1.3 ล้านคนเสียอีก
แต่จุดอ่อนคือเราต้องพัฒนาภายในประเทศเรา ซึ่งลำพังภาคข้าราชการปกติทำไม่ได้ ต้องอาศัยความเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษในการขับเคลื่อน จึงอยากให้ทุกฝ่ายแสดงความเห็น
“ภาพที่เคยมองว่าพูดกันมานานกว่า 5-10 ปีแล้วไม่มีสิ่งใดดีขึ้นนั้นจะได้หมดไป”
นายยงยุทธกล่าวยกตัวอย่างการพัฒนาว่า กรณีการท่องเที่ยวเชียงรายมีห้องพักไม่น่าเกิน 7,000 ห้อง ปัญหาคือหากจะสร้างห้องพักมากก็เสี่ยงต่อการขาดทุน หากสร้างน้อยก็ไม่พอรองรับในฤดูท่องเที่ยว ซึ่งตนเคยสนับสนุนเรื่องกองทุนสร้างโฮมสเตย์ ให้ชาวบ้านสร้างห้องพักที่มีห้องน้ำและสิ่งอำนวยความสะดวก เรื่องรับนักท่องเที่ยวและขายวิถีชีวิตไปพร้อมๆ กันมาแล้ว นอกจากนี้ ยังเคยส่งเสริมการท่องเที่ยวน้ำพุร้อนที่ ต.ป่าตึง อ.แม่จัน แต่มีการปฏิวัติยึดอำนาจรัฐบาลเสียก่อนจึงทำไม่เสร็จ แต่ปัจจุบัน อบต.ป่าตึงก็สามารถทำได้แล้ว เป็นต้น
ด้านนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า คาดหวังว่าอย่างช้าในปลายปี 2555 นี้จะสามารถเปิดใช้เขตเศรษฐกิจพิเศษได้อย่างแน่นอน