เชียงราย - กรรมาธิการคมนาคม-ส.ส.เพื่อไทย ตั้งธงค้านสร้างถนนเชื่อมเมืองเชียงราย-สะพานข้ามโขง 4 บอกไม่ตรงแนวปฏิบัติผู้ค้าชายแดน แถมเลี่ยงเขตชุมชนทั้งที่ชาวบ้านต้องการให้ตัดถนนเข้าพื้นที่ ถึงขั้นพร้อมยกที่วัดให้ ขณะที่นักวิชาการ ม.ราชภัฏเชียงราย ร่วมซักค้านกระทบ “หนองหลวง” เผยพบทุนรับเหมาอิงรัฐบาลก่อนเอี่ยวงานก่อสร้าง
วันนี้ (27 ม.ค.) ที่ห้องประชุมทรัพย์ล้อม สำนักงานแขวงการทาง จ.เชียงราย คณะกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ได้เดินทางไปศึกษาข้อเท็จจริง โครงการก่อสร้างเส้นทางหลวงสาย อ.เมือง-อ.เชียงของ เพื่อเชื่อมต่อโครงข่ายถนนในประเทศกับสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 และถนน R3a ไทย-สปป.ลาว-จีนตอนใต้
นายเจือ ราชสีห์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ พร้อมคณะได้เชิญกรมทางหลวง สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน นักวิชาการ ร่วมรับทราบความคืบหน้าโครงการก่อสร้าง มี นายธีรพัฒน์ รัติธรรมกุล ผู้จัดการโครงการก่อสร้าง และ นายธีรพจน์ วราชิต ตัวแทนจากบริษัทที่ปรึกษาโครงการ ให้ข้อมูล
นายธีรพจน์ กล่าวว่า หลังไทย จีน สปป.ลาว ได้ร่วมกันก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 ที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย เชื่อมกับเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว-ถนน R3a นั้น กรมทางหลวง ได้ศึกษาแนวก่อสร้างถนนภายในประเทศที่รองรับ โดยเฉพาะถนนสาย อ.เมือง-เชียงของ ซึ่งถนนเดิมคับแคบ ระยะทางไกลกว่า 110 กิโลเมตร ดังนั้น จึงได้ทำการศึกษารูปแบบเอาไว้หลายแบบ
แต่ล่าสุดได้คัดเลือกแบบที่เหมาะสมที่สุดได้แล้วโดยสามารถย่นระยะทางเหลือเพียง 92 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นที่บริเวณบ้านหัวดอย ต.ท่าสาย อ.เมือง ผ่านหนองหลวง อ.เวียงชัย ซึ่งจะมีการก่อสร้างสะพนข้ามหนองน้ำขนาดใหญ่ และเลี่ยงเขตชุมชนใน ต.บ้านต้าตลาด อ.ขุนตาล เพื่อไปเชื่อมกับถนนสาย อ.เทิง-เชียงของ ที่บ้านใหม่พัฒนา ต.ยางฮอม อ.ขุนตาล ที่เป็นถนนสายหลัก 4 ช่องจราจรรอเอาไว้อยู่แล้ว รวมทั้งกำลังศึกษาเพื่อก่อสร้างถนนไปทาง อ.ขุนตาล
รูปแบบถนนสายใหม่จะเป็น 4 ช่องจราจรเขตทางกว้าง 30-60 เมตร ความกว้างช่องจราจร 3.50 เมตร ไหล่ทาง 2.50 เมตร แบ่งเป็น 3 ช่วง รวมงบประมาณทั้งหมดประมาณ 1,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา โครงการได้ศึกษา และพบปะประชาชนจนออกแบบให้เส้นทางเลี่ยงเขตชุมชนหลายพื้นที่ของ อ.ขุนตาล และ อ.พญาเม็งราย ซึ่งหลายแห่งต้องการให้ถนนผ่านหมู่บ้านเพื่อความเจริญแต่หลายแห่งไม่ต้องการ ซึ่งทางโครงการฯ ต้องดูความเหมาะสมเพราะต้องใช้เขตทางกว้าง ขณะที่หลายแห่งกว้างแค่ 10-20 เมตร
ด้าน น.ส.ศิริรัตน์ อิฐรัตน์ ตัวแทนจาก สนข.กล่าวว่า สนข.รับผิดชอบศึกษาความเหมาะสมเรื่องความจำเป็นเรื่องโครงข่ายที่เชื่อมโยงถนน R3a และสะพานแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 ซึ่งมีแผนที่จะเสนอของบประมาณก่อสร้างในปี 2556-2557 นี้ เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าของถนนอาร์สามเอเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมนายรังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ โฆษกคณะกรรมาธิการฯ และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เชียงราย พรรคเพื่อไทย ได้นำทีมคัดค้านในหลายเรื่องทั้งความคุ้มค่า ผลกระทบ ความต้องการชุมชน ฯลฯ โดยระบุว่า ไม่เข้าใจเรื่องแนวคิดการก่อสร้าง ซึ่งเน้นใช้เพื่อประโยชน์ในการขนส่งสินค้าเป็นสำคัญ
ทั้งที่ปัจจุบันผู้ประกอบการค้าชายแดนใช้เส้นทางขนส่งสินค้าจาก อ.เชียงของ-เทิง ไปทาง อ.จุน-ดอกคำใต้ จ.พะเยา เพื่อเชื่อมกับถนนพหลโยธินไปยังกรุงเทพฯ แต่กรมทางหลวงกลับสร้างถนนสายใหม่เชื่อมกับ อ.เมือง เป็นการดึงการจราจรสู่ตัวเมืองเชียงราย ที่เริ่มคับคั่งมากขึ้น
“ที่น่าตกใจเมื่อทราบว่า ถนนสายนี้เป็นเพียงสายรอง แต่กลับจะมีการเสนอเพื่อการก่อสร้างก่อน ดังนั้น มีแนวคิดว่าสร้างถนนสายนี้เพื่อการขนส่งถือว่าผิด 100%”
นายรังสรรค์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ หากก่อสร้างถนนจะต้องสร้างสะพานข้ามหนองหลวงใน อ.เวียงชัย ซึ่งจะกระทบต่อวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน แนวของเส้นทางยังตัดเลี่ยงชุมชนหลายพื้นที่ เช่น อ.พญาเม็งราย ซึ่งตนได้พบปะชาวบ้านพบว่าชาวบ้านต้องการให้ถนนผ่านชุมชนพวกเขามาก วัดบางวัดถึงขั้นสามารถให้พังกำแพงวัดเพื่อใช้เป็นถนนได้เลยด้วย ดังนั้น จึงขอให้มีการทบทวนพิจารณาเรื่องนี้ให้ละเอียดด้วย
นายชัยยา นาสมทรง นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย กล่าวว่า หนองหลวงมีเนื้อที่ประมาณ 10,000 ไร่ เป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร การท่องเที่ยว มีปลาและนกอพยพ ชาวบ้านใช้เพื่อการประมง รวมทั้งคณะรัฐมนตรีมีมติให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำอันดับ 2 ของประเทศไทย ต่อมาจึงมีมติให้ทบทวนโครงการกอสร้างทุกอย่างในหนองหลวง โดยมีข้อห้ามต่างๆ มากมาย จึงเห็นว่าโครงการก่อสร้างฯ ไม่น่าจะทำได้เพราะจะกระทบหลายเรื่อง เช่น สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต รบกวนนกอพยพ ฯลฯ
ด้านคณะจากบริษัทที่ปรึกษาโครงการก่อสร้าง ได้ชี้แจงว่า สาเหตุที่ไม่ก่อสร้างผ่านเส้นทางชุมชน เพราะคับแคบเพียง 5-20 เมตร และหากผ่านเขตวัด แม้จะบริจาคที่ดินเพื่อการก่อสร้างแต่ต้องใช้พระราชบัญญัติในการยกมอบให้ เพราะเป็นที่ดินของสงฆ์ ซึ่งอาจใช้เวลาร่วม 4-5 ปีจึงจะได้ข้อยุติ
ส่วนกรณีของหนองหลวงถือเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่นั้น จะมีการก่อสร้างถนนตลอดแนวความยาวเพียงประมาณ 560 เมตร และตัวสะพานที่อยู่เหนือหนองน้ำจริงๆ จะยาวเพียงประมาณ 30 เมตร และบนบกด้านข้างอีกข้างละ 20 เมตรเท่านั้น จึงจะมีเสาตอม่อไม่กี่เสา รวมทั้งจะมีจุดชมวิวตรงขอบสะพานให้ด้วยจึงส่งเสริมการท่องเที่ยวไปในตัว
กรณีมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับพื้นที่ชุ่มน้ำดังกล่าว ทางโครงการรับทราบแล้ว แต่ยืนยันว่า กรณีนี้มีข้อกำหนดให้ใช้การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ โดยไม่ต้องเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ก็สามารถก่อสร้างได้ นอกจากนี้ โครงการได้ศึกษาความคุ้มทุนพบว่าคุ้มทุนเพราะจะมีการจราจรขนส่งผ่านเส้นทางวันละกว่า 2,000-6,000 คัน
หลังจากถกประเด็นกันได้ระยะหนึ่ง นายเจือ ราชสีห์ ประธานคณะกรรมาธิการ ได้แจ้งให้มีการรวบรวมประเด็นปัญหาทุกอย่างเอาไว้ เพื่อทำการศึกษา และเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ ก่อนจะนำคณะสำรวจเส้นทางเพื่อศึกษาข้อเท็จจริงตามขั้นตอนต่อไป
ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างถนนหลายสายดำเนินการในช่วงรัฐบาลชุดที่ผ่านมา โดยมีเอกชนที่รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งใกล้ชิดกับนักการเมืองในรัฐบาลก่อน เข้าไปก่อสร้างเส้นทางบางส่วนด้วย