xs
xsm
sm
md
lg

องค์กรแรงงานโลกชี้นโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาท “รบ.ปู” ผิดทิศผิดทาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(แฟ้มภาพ) แรงงานภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ในไทย
บลูมเบิร์ก/ไอแอฟริกา - ไทยจะเป็นหนึ่งในหลายชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะเพิ่มต้นทุนในตลาดแรงงานด้วยการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และไม่ใช่ทุกคนที่เชื่อมั่นว่ามันจะก่อประโยชน์ที่แท้จริงต่อลูกจ้าง โดยผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรแรงงานสากลมองว่านโยบายนี้เป็นความเคลื่อนไหวที่ผิดทางผิดเวลา และมีเป้าประสงค์ทางการเมืองมากกว่าจุดมุ่งหมายทางเศรษฐกิจ

รายงานพาดหัว “Thai cheap labour gets expensive” ของสำนักข่าวไอแอฟริการะบุว่า พรรคเพื่อไทยเดินหน้าทำตามคำสัญญาระหว่างหาเสียงเลือกตั้งด้วยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในกรุงเทพฯและจังหวัดต่างๆ อีก 5 แห่ง รวมไปถึงภูเก็ต เป็น 300 บาทต่อวัน โดยอัตราใหม่นี้เท่ากับเป็นการปรับเพิ่มค่าแรงราวร้อยละ 40 ก่อนจะเริ่มบังคับใช้ทั่วประเทศในปีหน้า

สำนักข่าวไอแอฟริการะบุว่า ไทยไม่ใช่ชาติแรกในเอเชียที่ปรับขึ้นค่าแรง โดยก่อนหน้านี้จีนและหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ปรับขึ้นไปก่อนแล้ว ขณะที่ตามประวัติศาสตร์ภูมิภาคแห่งนี้คือจุดหมายปลายทางการสุดโปรดของภาคอุตสาหกรรม อันเนื่องจากแรงงานราคาถูกและแรงงานส่วนใหญ่ก็มักได้รับค่าจ้างอยู่ในอัตราขั้นต่ำเท่านั้น

ในจีน แค่ระหว่างช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ได้มีการปรับขึ้นค่าแรงไปแล้วมากกว่าร้อยละ 10 แตะระดับ 230 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนในเซี่ยงไฮ้ 240 ดอลลาร์สหรัฐในเซินเจิ้น และ 200 ดอลลาร์สหรัฐในกรุงปักกิ่ง ที่ฟิลิปปินส์ ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 10 ดอลลาร์สหรัฐต่อวันในกรุงมะนิลา ส่วนในกรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซีย ได้รับค่าแรงราว 169 ดอลลาร์ต่อเดือน หลังการปรับขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้

ด้าน เวียดนาม ได้มีการปรับขึ้นค่าแรงจาก 66 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนเป็น 94 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือนเมื่อเดือนตุลาคมปีก่อน ซึ่งนับเป็นการขยับขึ้นถึงร้อยละ 42 ส่วนในกัมพูชาและเมียนมาร์ ค่าแรงเฉลี่ยต่อเดือนยังคงอยู่ในระดับต่ำเพียง 66 ดอลลาร์ และ50 ดอลลาร์ตามลำดับ

ที่มาเลเซีย แม้ว่ายังไม่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่คาดหมายว่านายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค จะแถลงอีกไม่นานนี้ บางทีอาจจะเป็นวันที่ 1 พฤษภาคม ในความเป็นไปได้ที่จะขยับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นไปที่ 266 ถึง 300 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน

ไอแอฟริการะบุว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำกลายเป็นหนทางในการเรียกคะแนนนิยมในบรรดาชาติประชาธิปไตยเกิดใหม่ของเอเชีย และสยบความไม่ลงรอยในเหล่าประเทศที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยมากนัก

ทว่าใน จีน ที่ได้ดำเนินแผนปรับขึ้นค่าแรงปีละร้อยละ 13 เป็นเวลา 5 ปี ขณะที่ชาติพลเมืองมากที่สุดในโลกแห่งนี้มุ่งมั่นส่งเสริมการจับจ่ายภายในประเทศ ก็เพื่อรักษาความพึงพอใจของประชาชนและดันตนเองก้าวสู่หนึ่งในชาติผู้มั่งคั่งของโลก

“ประเทศร่ำรวยก็จะจ่ายค่าจ้างสูง” จอห์น ริตชอตต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานสัมพันธ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) กล่าว “แต่ตัวอย่างแบบนั้นดูเหมือนจะพ่ายแพ้ต่อเหล่าผู้วางนโยบายของชาติอื่นๆในภูมิภาค อย่างเช่นในไทย ประเทศที่มีโมเดลค่าแรงขั้นต่ำเพียงโมเดลเดียว”

เขาชี้ว่าบางทีค่าแรงอาจสูงขึ้นในกรุงเทพฯ แต่มันกำลังดำเนินไปแบบผิดทาง “ค่าแรง 300 บาทเป็นการตัดสินใจทางการเมืองไม่ใช่เศรษฐกิจ” ริตชอตต์ พร้อมแนะนำจะดีกว่าหากเปิดโอกาสให้แรงงานจัดตั้งตัวแทนบางส่วนเข้าเจรจาปรับปรุงรายได้ด้วยตนเอง

เขามองด้วยว่า การปรับขึ้นค่าแรงในไทยนั้นปล่อยให้ล่วงเลยเวลามานานเกินไป “ชัดเจนว่าค่าจ้างเฉลี่ยในไทยที่คิดตามภาวะเงินเฟ้อแล้วนับว่าลดลงเรื่อยๆในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และแน่นอนว่าจำเป็นต้องมีการปรับเพิ่ม”

สำนักข่าวไอแอฟริการะบุในรายงานว่า พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งในเวลานี้เป็นพรรคฝ่ายค้านก็วิพากษ์วิจารณ์นโยบายนี้เช่นกัน ขณะที่พวกเขามีนโนบายเพิ่มขึ้นค่าแรงร้อยละ 25 ทั่วประเทศ ส่วนหนึ่งในแผนรณรงค์หาเสียงที่ไม่ประสบความสำเร็จในศึกเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคมปีก่อน ขณะทางพรรคเพื่อไทย ผู้ชนะศึกเลือกตั้ง ละเลยต่อระบบค่าแรงก่อนหน้านี้ เกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ต่างกันในแต่ละจังหวัด

นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยอมรับผลเลือกตั้งพิสูจน์ว่านโยบายค่าจ้างอัตราเดียวเป็นฝ่ายชนะ แต่เขาก็มองว่าค่าแรง 300 บาทคือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่โรงงานต้องปรับตัว โดยเฉพาะภายหลังจากเพิ่งประสบอุทกภัยครั้งเลวร้าย

อุทกภัยครั้งเลวร้ายในไทยเมื่อช่วงเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนปีก่อน ได้คร่าชีวิตพลเรือนเกือบ 700 คน ก่อความเสียหายแก่บ้านเรือนราษฎรหลายล้านหลังและพื้นที่การเกษตรหลายล้านไร่ ขณะที่โรงงานอีกหลายร้อยแห่งต้องปิดปฏิบัติการจนก่อความยุ่งเหยิงแก่ห่วงโซ่อุปทานทั้งในภาคอิเล็กทรอนิกส์ และรถยนต์

จนถึงตอนนี้มีเพียงบางแห่งเท่านั้นที่กลับมาปฏิบัติการได้ และตอนนี้โรงงานเหล่านั้นต้องมาเผชิญกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีก อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยออกมาปกป้องนโยบายนี้ “มันอาจจะหนักหนาเกินไปสำหรับธุรกิจที่มีขนาดเล็กมาๆ แต่ผมคิดว่าธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่จะสามารถรับมือมันได้” ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าว

เพื่อบรรเทาภาระของนายจ้าง รัฐบาลได้ปรับลดภาษีภาษีนิติบุคคลจากร้อยละ 25 เหลือร้อยละ 23 อย่างไรก็ตามเหล่านักเศรษฐศาสตร์แย้งว่าในการเพิ่มความมั่นคงส่วนบุคคลนั้น รัฐบาลควรดำเนินการอื่นๆมากกว่าแค่เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากนโยบายนี้อาจลดประสิทธิภาพในการแข่งขันของไทยและผลักภาระไปให้ผู้บริโภคจากราคาข้าวของที่พุ่งสูงขึ้น ผลักดันให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ

ไอแอฟริกาอ้างคำพูดของ ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า ประเด็นหลักของไทยควรเป็นการปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมด้วยการเพิ่มผลิตภาพและจัดหามาตรการจูงใจด้านภาษีแก่บริษัทต่างๆ ที่ลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนามากกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น