เอเอฟพี/เอเจนซี - ทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ประกาศรับรองผลทดสอบความปลอดภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่น วันนี้ (30) แต่ระบุว่า โตเกียวยังต้องพยายามเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชน หลังเกิดวิกฤตนิวเคลียร์ครั้งใหญ่ที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ
คณะผู้แทนไอเออีเอ เดินทางมายังญี่ปุ่นตามคำเชิญของรัฐบาล ในขณะที่เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นพยายามสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ปิดดำเนินการอยู่นั้น สามารถเปิดใช้งานได้อีกครั้งอย่างปลอดภัย
ปัจจุบันญี่ปุ่นมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ยังเปิดใช้งานอยู่เพียง 54 แห่ง ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า แดนปลาดิบอาจต้องประสบภาวะขาดแคลนไฟฟ้าหากไม่เปิดใช้งานเตาปฏิกรณ์อื่นๆ โดยเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้หากประชาชนในท้องถิ่นยินยอม
สำนักงานความปลอดภัยนิวเคลียร์และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (NISA) เรียกร้องให้ไอเออีเอช่วยประเมินความเข้มงวดของระบบทดสอบภาวะวิกฤต (stress tests) ซึ่งเตาปฏิกรณ์ทุกแห่งจะต้องผ่านการทดสอบ ก่อนจะเปิดใช้งานได้ตามปกติ
“ผู้ตรวจสอบของเราลงความเห็นว่า คำสั่งของเอ็นไอเอสเอ และกระบวนการสอบทานผลการทดสอบภาวะวิกฤตนั้น สอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัยของไอเออีเอ” ผู้แทนไอเออีเอ ระบุในถ้อยแถลง
อย่างไรก็ตาม ไอเออีเอเตือนให้รัฐบาลญี่ปุ่นทำความเข้าใจกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในละแวกโรงไฟฟ้า เพื่อให้พวกเขาเชื่อมั่นว่าพลังงานนิวเคลียร์มีความปลอดภัยมากพอ
การทดสอบภาวะวิกฤตเป็นแนวทางหนึ่งที่จะทดสอบได้ว่า เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แต่ละแห่งจะสามารถทนรับอิทธิพลจากภัยธรรมชาติที่รุนแรงได้หรือไม่ หลังจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อเดือนมีนาคมปี 2011 ทำให้ระบบหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์ในโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ เสียหาย จนแท่งเชื้อเพลิงหลอมละลายมาแล้ว
การสอบทานผลทดสอบภาวะวิกฤตโดยเอ็นไอเอสเอ เสร็จสิ้นไปเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา โดยพบว่า เตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้าโอฮิ จังหวัดฟุกุอิ ซึ่งเป็นแห่งแรกๆที่ถูกตรวจสอบ สามารถต้านทานแรงแผ่นดินไหวได้ถึง 9.0 รวมถึงพลังคลื่นสึนามิที่ซัดถล่มโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ เมื่อปีที่แล้วด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางคนยังตั้งข้อสงสัยเรื่องความน่าเชื่อถือของระบบทดสอบภาวะวิกฤต และมองว่า การเยือนญี่ปุ่นของผู้แทนไอเออีเอเป็นเพียงการจัดฉากเท่านั้น
“เห็นได้ชัดเจนว่า การมาเยือนของคณะผู้แทนไอเออีเอ ซึ่งสนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์ เป็นส่วนหนึ่งของวาระทางการเมือง และเป็นสิ่งที่ถูกสรุปไว้ล่วงหน้าหมดแล้ว” ฮิโรมิตสุ อิโนะ อาจารย์มหาวิทยาลัยโตเกียว และมาซาชิ โกโตะ อดีตวิศวกรผู้ออกแบบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กล่าวในถ้อยแถลงร่วมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
อิโนะ และ โกโตะ ซึ่งอยู่ในคณะกรรมการที่ปรึกษาของเอ็นไอเอสเอ ว่าด้วยการทดสอบภาวะวิกฤต ชี้ว่า กระบวนการทดสอบเพียงเท่านี้ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากไม่ได้จำลองภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นมากกว่า 1 รูปแบบในเวลาเดียวกัน อีกทั้งไม่ได้คำนึงถึงกรณีที่อุปกรณ์เกิดขัดข้อง หรือมีความผิดพลาดของมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้อง ดังที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้า ฟูกูชิมะ ไดอิจิ มาแล้ว