เอเอฟพี - รัฐบาลญี่ปุ่นเผย วันนี้ (18) อาจจะอนุญาตให้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ภายในประเทศใช้งานได้นานสุดถึง 60 ปี ตามกฏข้อบังคับประกอบการโรงไฟฟ้าพลังนุก ฉบับปรับปรุงแก้ไข
ประกาศดังกล่าวออกมาในขณะที่เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั้งหมด 54 แห่ง ยกเว้นไว้ 5 แห่ง ไม่ได้ถูกใช้งานแล้ว พร้อมกับข้อเรียกร้องของประชาชนให้ตรวจสอบความปลอดภัย หลังเกิดหายนะนิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ
โอซามุ ฟูจิมูระ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีกล่าวว่า การขยายเวลาจะได้รับอนุมัติเป็นพิเศษ เมื่อมีการรับรองความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าแล้ว โดยยังไม่มีการเปลี่ยนข้อจำกัดพื้นฐานที่ 40 ปีแต่อย่างใด
ในปัจจุบัน เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ได้รับอนุญาตให้สามารถทำการได้เป็นเวลา 30 ปี และผู้ประกอบการก็ยังสามารถยื่นขออนุญาตขยายเวลาใช้งานเพิ่มได้อีก 10 ปี
นักวิจารณ์ด้านพลังงานนิวเคลียร์โจมตีตอบโต้ประกาศดังกล่าวในทันที โดยว่าเป็นการขาดความรับผิดชอบต่ออุบัติเหตุนิวเคลียร์ครั้งร้ายแรง ที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ หลังมหาภัยพิบัติแผ่นดินไหว และสึนามิ เมื่อเดือนมีนาคมปีที่ผ่านมา
จูนิชิ ซาโต ผู้อำนวยการกลุ่มกรีนพีซในญี่ปุ่นกล่าวว่า "นี่เป็นความเสี่ยงที่ไม่สามารถยอมรับได้สำหรับประชาชนชาวญี่ปุ่น โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาต้องทนทุกข์กับผลกระทบจากการเมลต์ดาวน์ถึง 3 ครั้งที่ฟูกูชิมะ ไดอิจิอยู่แล้ว"
รัฐบาลกำลังพิจารณาดำเนินรอยตามสหรัฐฯ ซึ่งสามารถขยายระยะเวลาการใช้งานเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ออกไปได้อีก 20 ปี จากข้อจำกัด 40 ปี หากได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางแล้ว เจ้าหน้าที่อาวุโสรายหนึ่งกล่าว
ด้านโทรุ โองิโน จากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรียังบอกกับสื่อแดนปลาดิบด้วยว่า "เรากำลังปฏิบัติตามแนวโน้มทั่วโลก"
ทั้งนี้ รัฐบาลกำลังร่างกฎหมายเพื่อควบคุมความปลอดภัยนิวเคลียร์ให้เข้มงวดขึ้น หลังโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะเกิดการเมลต์ดาวน์ ซึ่งนับเป็นอุบัติเหตุนิวเคลียร์ครั้งร้ายแรงที่สุด นับตั้งแต่เหตุการณ์ที่เชอร์โนบิลเมื่อปี 1986