เอเอฟพี - ญี่ปุ่นเผย วันนี้ (21) การรื้อถอนเตาปฏิกรณ์ปรมาณูในโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ ซึ่งได้รับความเสียหายจากคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อาจต้องใช้เวลานานถึง 40 ปี เนื่องด้วยเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่หลอมละลายอาจติดค้างอยู่
แผนการร่วมระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่น และบริษัทโตเกียว อิเล็กทริค พาวเวอร์ (เท็ปโก) ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าดังกล่าว คาดการณ์ว่า วิศวกรต้องใช้เวลามากกว่า 10 ปีข้างหน้านี้ ในการพยายามกำจัดเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ ซึ่งสึกกร่อนไปบางส่วนภายในหม้อความดันสูง เพียงอย่างเดียว
แผนดังกล่าวยังเน้นย้ำถึงปัญหาในการรับมือกับหายนะนี้ โดยระบุว่า เทคโนโลยี ซึ่งยังไม่มีการคิดค้น จะเป็นกุญแจสำคัญในการกำจัดกากนิวเคลียร์ที่หลงเหลือจากอุบัติเหตุนิวเคลียร์ครั้งร้ายแรงที่สุดในโลกนับตั้งแต่เหตุการณ์ที่เชอร์โนบิลได้อย่างปลอดภัย
โกชิ โฮโซโน รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบในการจัดการวิกฤตนิวเคลียร์ฟูกูชิมะกล่าวว่า ในแต่ละขั้นตอนของการรื้อถอนนั้นมีปัญหาทางเทคโนโลยีหลายประการในปัจจุบัน
“เราคาดว่า ต้องทำงานกันลำบากอย่างยิ่งในการขนย้ายกากเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ (ออกจากเตาปฏิกรณ์) เราต้องเร่งมือพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะ หุ่นยนต์บังคับด้วยรีโมท" เขาระบุ โดยเสริมว่า จะมีการประเมินสถานการณ์ในโรงไฟฟ้าไปพร้อมกับงานวิจัยและพัฒนา
การเผยแผนรื้อถอนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้ออกมาหลายวัน หลังจากนายกรัฐมนตรีโยชิฮิโกะ โนดะประกาศว่า เตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะนั้นอยู่ในสถานะปิดเครื่องแบบเย็น (cold shutdown) แล้ว
คำประกาศดังกล่าว ซึ่งได้รับความยินดีจากทั้งสื่อ และประชาชน แสดงให้เห็นว่า อุณหภูมิภายในเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูนั้นต่ำกว่า 100 องศาเซนติเกรดมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง และการแพร่กระจายของวัตถุนิวเคลียร์ก็ลดลงแล้วด้วย