เอเอฟพี - ผู้บริหารโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ เผยอาจเกิดปฏิกิริยาฟิชชั่นในเตาปฏิกรณ์แห่งหนึ่งของโรงไฟฟ้า แม้จะดับเครื่องไปแล้วก็ตาม วันนี้(2)
บริษัท โตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ โค (เท็ปโก) เปิดเผยว่า ได้สั่งให้มีการฉีดน้ำและกรดบอริกเข้าไปยังเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 ของโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ ซึ่งปลดปล่อยกัมมันตภาพรังสีออกสู่สิ่งแวดล้อมตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังได้รับความเสียหายจากเหตุสึนามิ
“เราปฏิเสธไม่ได้ว่า อาจจะเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชั่นขึ้นเล็กน้อย” ฮิโรกิ คาวามาตะ โฆษกเท็ปโก เผย พร้อมเสริมว่าการฉีดน้ำและกรดบอริกเป็นเพียงมาตรการป้องกันล่วงหน้าเท่านั้น
คาวามาตะยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีสถานการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นที่โรงไฟฟ้า เนื่องจากอุณหภูมิและความดันภายในเตาปฏิกรณ์ ตลอดจนระดับรังสีที่วัดได้จากจุดตรวจ ไม่มีความเปลี่ยนแปลงมากนัก
ทั้งนี้ ปฏิกิริยาฟิชชัน หมายถึง การแตกตัวของนิวเคลียสของอะตอมออกเป็นอะตอมที่มีน้ำหนักน้อยกว่า ซึ่งจะก่อให้เกิดพลังงานมหาศาล
เตาปฏิกรณ์ดังกล่าวปิดตัวเองลงอัตโนมัติหลังเกิดภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ทว่าระบบหล่อเย็นที่ล้มเหลวทำให้เชื้อเพลิงนิวเคลียร์หลอมละลายผ่านคอนเทนเนอร์ลงไปยังก้นภาชนะบรรจุด้านนอก
เท็ปโกออกคำสั่งฉีดน้ำไปยังเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 หลังวิเคราะห์ตัวอย่างก๊าซพบ ซีนอน-133 และซีนอน-135 ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชั่น
ก๊าซทั้ง 2 ชนิดมีครึ่งชีวิตที่สั้นมาก โดยซีนอน-133 มีครึ่งชีวิต 5 วัน ส่วนซีนอน-135 มีครึ่งชีวิตเพียง 9 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าปฏิกิริยาฟิชชันเพิ่งเกิดขึ้นไปไม่นานนี้เอง
เท็ปโก ระบุว่า อุณหภูมิเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 ลดลงต่ำกว่า 100 องศาเซนติเกรด ซึ่งเป็นหนึ่งในเกณฑ์ที่บริษัทจะสามารถประกาศดับเครื่องเย็น (cold shutdown) ได้