xs
xsm
sm
md
lg

อังกฤษหวั่นโครงการพัฒนา “F-35” ล่าช้าหลังสหรัฐฯลดขนาดกองทัพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครื่องบินรบสเตลท์ รุ่น F-35 ซึ่งผลิตโดยบริษัท ล็อกฮีด มาร์ติน
เอเอฟพี - ฟิลิป แฮมมอนด์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมอังกฤษ แสดงความกังวลว่า ยุทธศาสตร์กลาโหมใหม่ของสหรัฐฯอาจส่งผลให้เกิดความล่าช้าหรือการตัดงบประมาณในโครงการพัฒนาเครื่องบินขับไล่ เอฟ-35 ซึ่งอังกฤษมุ่งหมายจะได้มาเสริมศักยภาพกองทัพ

แฮมมอนด์ แถลงระหว่างเยือนกรุงวอชิงตัน วานนี้(5)ว่า ต้องการทราบจากปาก ลีออน เพเนตตา รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ เกี่ยวกับผลกระทบของการปรับยุทธศาสตร์ทางทหารตลอดจนแผนลดงบประมาณ ที่จะมีต่ออนาคตของ เอฟ-35 จอยท์ สไตรค์ ไฟเตอร์

“สิ่งหนึ่งที่ผมต้องการทราบหลังการประชุมในวันนี้ ก็คือ ผลกระทบจากการประกาศเปลี่ยนยุทธศาสตร์กลาโหมที่จะมีต่อโครงการพัฒนาเครื่องบินขับไล่ จอยท์ สไตรค์ ไฟเตอร์” แฮมมอนด์ แถลงที่สภาแอตแลนติก (Atlantic Council) ซึ่งเป็นคณะวิจัยในกรุงวอชิงตัน

การไปเยือนของ แฮมมอนด์ มีขึ้นในเวลาเดียวกับที่สหรัฐฯประกาศทบทวนยุทธศาสตร์ทางทหาร ซึ่งจะทำให้กองทัพมีขนาดเล็กและคล่องตัวยิ่งขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับแผนลดงบประมาณกลาโหมลง 487,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในระยะ 10 ปีข้างหน้า

เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯยังไม่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดกับโครงการ เอฟ-35 ซึ่งเคยประสบปัญหาค่าใช้จ่ายบานปลาย ตลอดจนความผิดพลาดด้านเทคนิคที่ทำให้การผลิตล่าช้ามาแล้ว

อังกฤษเป็นประเทศหนึ่งที่สนับสนุนโครงการพัฒนา เอฟ-35 และหวังว่าจะใช้ฝูงบินชนิดนี้กับเรือบรรทุกเครื่องบินยุคใหม่ “เดอะ ปรินซ์ ออฟ เวลส์”

“เรายืนยันจะสั่งซื้อเครื่องบินรุ่นดังกล่าว... แต่แน่นอนว่า หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้นกับโครงการพัฒนา หรือสหรัฐฯลดจำนวนการผลิตลง ย่อมมีผลต่อจำนวนเครื่องที่จะออกจำหน่าย รวมถึงราคาต่อเครื่องด้วย” แฮมมอนด์ กล่าว พร้อมชี้ถึงปัญหางบประมาณของกระทรวงกลาโหมอังกฤษที่มีอยู่อย่างจำกัดเช่นกัน

“อย่างที่ท่านทราบแล้วว่า เราเองก็กำลังเผชิญเสียงคัดค้านจากมวลชนอังกฤษ เกี่ยวกับการสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินล่วงหน้าหลายปี ก่อนที่จะได้เครื่องบินรบมาใช้ร่วมกับมัน”

“การมีเรือบรรทุกเครื่องบินแต่กลับไม่มีเครื่องบินรบ ก็ไม่ต่างจากความฝันของพวกนักวาดการ์ตูนเสียดสี เพราะฉะนั้น โอกาสที่จะเกิดความล่าช้าในโครงการ เอฟ-35 จึงเป็นสิ่งที่เราต้องกังวล” แฮมมอนด์ กล่าว

เอฟ-35 เป็นโครงการพัฒนาอาวุธที่มีค่าใช้จ่ายสูงสุดในประวัติศาสตร์ของเพนตากอน ด้วยงบประมาณถึง 385,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 12.2 ล้านล้านบาท) โดยมีเป้าหมายจะผลิตเครื่องบินให้ได้ทั้งหมด 2,443 เครื่อง และตั้งราคาจำหน่ายลำละ 113 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 3,600 ล้านบาท) ในปีงบประมาณ 2011 ที่ผ่านมา

เครื่องบินรบสเตลท์ที่ผลิตโดยบริษัท ล็อกฮีด มาร์ติน ชนิดนี้จะมีทั้งหมด 3 รุ่น ได้แก่ รุ่นมาตรฐาน, รุ่น เอฟ-35เอ ซึ่งใช้ทางวิ่งขึ้นและร่อนลงระยะสั้น (short take-off) และ เอฟ-35บี ซึ่งใช้กับเรือบรรทุกเครื่องบิน
กำลังโหลดความคิดเห็น