เอเอฟพี - ญี่ปุ่นส่งดาวเทียมสอดแนมดวงใหม่ขึ้นสู่วงโคจร วันนี้ (12) เพื่อใช้สำรวจภัยธรรมชาติในภูมิภาค รวมถึงจับตาความเคลื่อนไหวโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ เจ้าหน้าที่เผย
จรวด เอช-ทูเอ พร้อมดาวเทียมเรดาร์บันทึกข้อมูล ทะยานขึ้นจากฐานส่งที่ศูนย์อวกาศทาเนงาชิมะทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น เมื่อเวลา 10.21 น.ตามเวลาท้องถิ่น (08.21 น.ในไทย)
“การส่งจรวดเป็นไปด้วยความเรียบร้อย” โทชิยูกิ มิอุระ โฆษกจาก มิตซูบิชิ เฮฟวี อินดัสตรีส์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตดาวเทียม และร่วมกับองค์การสำรวจอวกาศแห่งญี่ปุ่น (JAXA) ในการส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศ ระบุ
รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจพัฒนาระบบรวบรวมข่าวกรอง หลังเกาหลีเหนือสร้างความตกตะลึงแก่ชาวแดนอาทิตย์อุทัยด้วยการยิงขีปนาวุธข้ามหมู่เกาะญี่ปุ่นไปตกลงในมหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อปี 1998
เกาหลีเหนือยังตอบโต้แรงกดดันจากนานาชาติด้วยการยิงขีปนาวุธแตโปดอง-2 ซึ่งมีพิสัยไกลถึง 6,700 กิโลเมตร เมื่อเดือนเมษายน ปี 2009
ญี่ปุ่นมีดาวเทียมระบบแสง (optical satellite) ทั้งสิ้น 3 ดวง สองดวงแรกซึ่งติดตั้งระบบเรดาร์สามารถขึ้นสู่วงโคจรได้สำเร็จ แต่หยุดทำงานในภายหลัง ส่วนอีกดวงซึ่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมายังไม่ทำงาน
เหตุแผ่นดินไหวและสึนามิซึ่งคร่าชีวิตชาวญี่ปุ่นไปกว่า 20,000 คนเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทำให้เกิดเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลติดตั้งระบบเตือนภัยภาคพื้นดินขึ้น
“โครงการนี้มีจุดประสงค์เพื่อป้องกันภัยและจับตาสถานการณ์ภาคพื้นดิน ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติรุนแรงเช่นเมื่อเดือนมีนาคม... ดาวเทียมเรดาร์ดวงนี้จะสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง” เจ้าหน้าที่เผย
ดาวเทียมเรดาร์ยังสามารถจับภาพในเวลากลางคืนและในวันที่ท้องฟ้าปิด ซึ่งเป็นสิ่งที่ดาวเทียมระบบแสงทั่วไปไม่สามารถทำได้
สำนักข่าวเกียวโด รายงานว่า โครงการพัฒนาดาวเทียมดวงล่าสุดใช้งบประมาณราว 39,800 ล้านเยน (1.5 หมื่นล้านบาท) และต้องเสียค่าใช้จ่ายอีกราว 10,300 ล้านเยน (4,100 ล้านบาท) ในการส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศ