เอเอฟพี/บีบีซีนิวส์ - ออสเตรเลียผ่านร่างกฎหมายภาษีมลพิษที่เป็นที่ถกเถียงดุเดือดยาวนาน ถือเป็นมาตรการปฏิรูปครั้งประวัติศาสตร์ที่มีเป้าหมายเพื่อลดการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอน ซึ่งถูกระบุว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้ชั้นบรรยากาศโลกเปลี่ยนแปลง
วันอังคาร (8) วุฒิสภาออสเตรเลียอนุมัติกฎหมายพลังงานสะอาดด้วยคะแนน 36 ต่อ 32 ซึ่งมีเนื้อหาบังคับให้โรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหิน ตลอดจนแหล่งปล่อยก๊าซคาร์บอนรายใหญ่อื่นๆ ต้อง‘จ่ายค่ามลพิษ’ นับจากวันที่ 1 กรกฎาคมปีหน้า
ก่อนหน้านั้น สภาผู้แทนราษฎรเพิ่งผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ด้วยคะแนนเฉียดฉิวเช่นกัน 74 ต่อ 72 ในเดือนที่แล้ว
นายกรัฐมนตรีจูเลีย กิลลาร์ด กล่าวว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นการรวบรวม ‘คำเตือนทางวิทยาศาสตร์ในระยะเวลา ¼ ของศตวรรษ การตรวจสอบของรัฐสภา37 ครั้ง และการถกเถียงและความแตกแยกที่ดำเนินมานานหลายปี'
กิลลาร์ดเสริมว่า กลไกนี้ที่กำหนดให้ต้องมีการจ่ายภาษี 23 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (ประมาณ 740 บาท) สำหรับมลพิษคาร์บอนปริมาณ 1 ตัน ก่อนที่จะเปลี่ยนไปใช้กลไกการซื้อขายแลกเปลี่ยนมลพิษคาร์บอนในปี 2015 นั้น ถือเป็นการจัดการกับผลกระทบร้ายแรงจากการเปลี่ยนแปลงชั้นบรรยากาศโลก
ต้นปีนี้ ออสเตรเลียต้องเผชิญอุทกภัยและพายุหมุนในพื้นที่ที่เพิ่งฟื้นจากความแห้งแล้งยาวนาน และนักวิจัยเตือนว่าการเปลี่ยนแปลงชั้นบรรยากาศโลกมีแนวโน้มทำให้เกิดวิกฤตการณ์สภาพอากาศรุนแรงและบ่อยครั้งขึ้น
ผู้นำแดนจิงโจ้ยังกล่าวอีกว่า มาตรการปฏิรูปต่างๆ ซึ่งยังครอบคลุมถึงการลงทุนในแหล่งพลังงานที่สามารถสร้างใหม่ได้ด้วยนั้น จะช่วยให้ออสเตรเลียลดการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนได้ 160 ล้านตันในปี 2020 หรือเท่ากับการนำรถ 45 ล้านคันออกจากถนน
ปัจจุบัน มีเพียงนิวซีแลนด์และสหภาพยุโรป (อียู) เท่านั้นที่ดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจที่เทียบเท่ากันกับออสเตรเลีย ด้วยการออกกลไกจำกัดและแลกเปลี่ยนคาร์บอน มาตรการทางภาษีนี้ยังทำให้ออสเตรเลียเป็นผู้นำในการพยายามปกปักษ์สิ่งแวดล้อมในเอเชีย-แปซิฟิก
การโหวตครั้งนี้ช่วยจำกัดความโกลาหลทางการเมือง ซึ่งส่วนใหญ่พุ่งเป้าไปที่คำถามว่าประเทศที่กว้างใหญ่อย่างออสเตรเลีย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้แพร่มลพิษปริมาณสูงสุดต่อหัว ควรจัดการการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนที่เกี่ยวโยงกับภาวะโลกร้อนอย่างไร
อดีตนายกรัฐมนตรีเควิน รัดด์ อาศัยคลื่นการสนับสนุนของประชาชนสำหรับมาตรการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงชั้นบรรยากาศโลก กอบโกยชัยชนะถล่มทลายในการเลือกตั้งปี 2007 ด้วยการหาเสียงว่าจะผลักดันให้สภาให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเกียวโตและดำเนินมาตรการอื่นๆ เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม
แต่แผนการของรัดด์ถูกขัดขวางโดยพรรคฝ่ายค้านแนวอนุรักษ์นิยมจนต้องเก็บกลไกการแลกเปลี่ยนซื้อขายมลพิษคาร์บอนที่เสนอไว้ขึ้นหิ้ง ส่งผลให้ความน่าเชื่อถือของเขาถูกบ่อนทำลาย และรัดด์ถูกกิลลาร์ดยึดอำนาจภายในพรรคในปี 2010
ในการเลือกตั้งครั้งต่อมา กิลลาร์ดหาเสียงโดยชูประเด็นว่าจะไม่มีการเก็บภาษีคาร์บอน แต่ต้องกลืนน้ำลายในภายหลังโดยให้เหตุผลว่า เป็นขั้นตอนแรกที่จำเป็นเพื่อเดินหน้ากลไกการกำหนดราคาคาร์บอนที่ยืดหยุ่น
ออสเตรเลียนั้นพึ่งพิงการส่งออกถ่านหินอย่างมาก ทำให้มีคนนับพันออกมาต่อต้านการเก็บภาษีนี้โดยโจมตีว่าจะทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น การจ้างงานลดลง และไม่มีประสิทธิภาพ
สำหรับประเทศอื่นๆ ในเอเชียนั้น ขณะนี้เกาหลีใต้กำลังผลักดันกลไก ‘จำกัดโดยไม่แลกเปลี่ยน’ ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท 450 แห่งนับจากปีหน้า เพื่อเตรียมการสำหรับกลไกการซื้อขายแลกเปลี่ยนมลพิษคาร์บอน (อีทีเอส) ตั้งแต่เดือนมกราคม 2015 ขณะที่ญี่ปุ่นระงับแผนการอีทีเอสตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และจีนกำลังพิจารณาโครงการนำร่องอีทีเอสในบางมณฑล
ในอเมริกาเหนือ แม้ว่ามีกลไกลักษณะนี้ในระดับท้องถิ่นในบางส่วนแต่กลับไม่มีการดำเนินการในวงกว้างในสหรัฐฯ แต่อย่างใด
นอกจากนั้น จังหวะเวลาในการโหวตของออสเตรเลียยังมีความสำคัญมาก เนื่องจากสะท้อนความมุ่งมั่นก่อนการเจรจาว่าด้วยชั้นบรรยากาศโลกระดับสูงของสหประชาชาติในแอฟริกาใต้ปลายเดือนนี้ ที่ถูกระบุว่าเป็นการประชุมเพื่อ ‘สร้างหรือทำลาย’ เป้าหมายในการลดการแพร่กระจายมลพิษคาร์บอนที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย