เอเจนซีส์ - แมร์เคิล-ซาร์โกซี ลั่นหาทางจัดการวิกฤตหนี้ยูโรโซนภายในเดือนนี้ ยันเห็นพ้องตรงกันในแผนการเพิ่มทุนแบงก์ยุโรป แต่ที่ไม่ต่างจากเดิมคือไร้รายละเอียดรูปธรรมใดๆ
ประธานาธิบดี นิโคลาส์ ซาร์โกซี ของฝรั่งเศส ให้สัญญาโดยปราศจากแผนการรูปธรรมภายหลังหารือกับนายกรัฐมนตรีแองเจลา แมร์เคิลของเยอรมนีที่เบอร์ลินค่ำวันอาทิตย์ (9) ว่า จะมีมาตรการรับมือระยะยาวที่ครอบคลุมก่อนสิ้นเดือนนี้ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตสินเชื่อตึงตัว
ผู้นำเมืองน้ำหอม สำทับว่า ยุโรปจะต้องเข้าร่วมประชุมซัมมิตของกลุ่มจี 20 วันที่ 3-4 เดือนหน้าที่เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส ด้วยความคิดเห็นที่เป็นหนึ่งเดียวกันและโดยที่ปัญหาได้รับการแก้ไขแล้ว
การประชุมระหว่างผู้นำของ 20ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลกทั้งที่เป็นเศรษฐกิจก้าวหน้าและชาติตลาดเกิดใหม่คราวนี้ กำลังถูกจับตาใกล้ชิดจากตลาด สหรัฐฯ และชาติยุโรป ท่ามกลางหลักฐานว่าแบงก์ยุโรปบางแห่งอยู่ภายใต้ความกดดันจากวิกฤตหนี้ภาคสาธารณะของกรีซที่รุนแรงขึ้นและผลักดันให้ประเทศนี้ใกล้ล้มละลายเต็มที
ขณะนี้ ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) สหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กำลังตัดสินใจเรื่องการอัดฉีดเงินกู้ จำนวน 8,000 ล้านยูโร (107,000 ล้านดอลลาร์) ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายจากแผนการช่วยเหลือก้อนแรกมูลค่า 110,000 ล้านยูโรให้แก่กรีซ หลังถูกระงับไปเมื่อเดือนที่แล้ว เนื่องจากผู้ตรวจสอบไม่พอใจความคืบหน้าในแผนการปฏิรูปของเอเธนส์
แมร์เคิล นั้น พยายามเรียกร้องวิธีแก้ไขที่ยืนยาวและรับประกันการคงอยู่ของกรีซในยูโรโซน แต่ภายหลังการหารือกันที่เบอร์ลินคราวนี้ ทั้งเธอและซาร์โกซีต่างปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดก่อนถึงซัมมิต จี 20
นอกจากนั้น หลังมีรายงานว่าฝรั่งเศสและเยอรมนี สองชาติมหาอำนาจของยุโรป ปีนเกลียวกันเรื่องวิธีเพิ่มทุนแบงก์ ซาร์โกซีส์กล่าวแก้หลังการเจรจาว่า “ข้อตกลงเสร็จสมบูรณ์แล้ว”
ด้าน แมร์เคิล เสริมว่า ปารีส และ เบอร์ลิน เห็นพ้องเรื่องการเพิ่มทุนธนาคาร และตัดสินใจแล้วถึงสิ่งที่จำเป็นต้องทำในการเพิ่มทุนภาคธนาคารเพื่อให้เป็นที่มั่นใจว่าแบงก์ทั้งหลายจะยังคงทำหน้าที่อัดฉีดสินเชื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ นอกจากนั้น เธอยืนยันว่าธนาคารของทั้งสองประเทศจะได้รับการปฏิบัติภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกัน
ผู้นำทั้งสองต่างต้องการป้องกันไม่ให้การลดหนี้ครั้งใหม่ก้อนใหญ่ขึ้นของกรีซนำไปสู่วิกฤตการธนาคารซ้ำรอยปี 2008 ที่จุดพลุเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก
ทั้งนี้ มีรายงานออกมาบ่อยครั้งว่าเบอร์ลินและปารีสไม่ลงรอยเรื่องวิธีเพิ่มทุนแบงก์ ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดว่า จะต้องใช้เงินราว 100,000-200,000 ล้านยูโร (135,000-270,000 ล้านดอลลาร์) เพื่อรองรับการขาดทุน
เยอรมนี ประเทศที่เศรษฐกิจเข้มแข็งที่สุดในยุโรปและเป็นกระเป๋าเงินสำคัญของยูโรโซน ต้องการให้แบงก์ที่มีปัญหาระดมทุนจากนักลงทุนก่อนที่จะหันมาพึ่งรัฐบาลหรือยุโรป โดยที่กองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (อีเอฟเอสเอฟ) มูลค่า 44,000 ล้านยูโร ควรเป็นทางออกสุดท้าย
แต่ฝรั่งเศสที่หวั่นว่าจะสูญเสียความน่าเชื่อถือที่ขณะนี้อยู่ที่อันดับ AAA ต้องการพึ่งพาอีเอฟเอสเอฟมากกว่าเงินในคลังของตัวเอง
ซาร์โกซี เผยว่า ฝรั่งเศส และ เยอรมนี มีข้อเสนอในการเพิ่มศักยภาพของอีเอฟเอสเอฟ โดยสื่อรายงานว่าปารีสต้องการให้กองทุนมีใบอนุญาตแบงก์เพื่อให้สามารถพึ่งพิงการสนับสนุนจากธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ได้
ผู้นำฝรั่งเศสยังบอกว่า ทั้งสองประเทศจะเสนอ ‘การเปลี่ยนแปลงสำคัญ’ ในสนธิสัญญาหลายฉบับของยุโรป โดยที่ตัวเขาเองนั้นต้องการให้ยูโรโซนผนึกแน่นแฟ้นขึ้น
แมร์เคิล ขานรับว่า แผนการดังกล่าวคือการทำให้มีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดขึ้นในประเทศยูโรโซนเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้จ่ายเกินตัว
ขณะเดียวกัน ความคืบหน้าล่าสุดของเด็กเซีย แบงก์สัญชาติฝรั่งเศส-เบลเยียมนั้น ทางการเบลเยียมตกลงซื้อกิจการส่วนที่เป็น เด็กเซีย แบงก์ เบลเยียม กิจการธนาคารรายย่อยในประเทศ เอาไว้ทั้งหมดแล้วด้วยราคา 5,400 ล้านยูโร (34,000 ล้านดอลลาร์) แม้เผชิญคำขู่จากมูดี้ส์ และแม้ก่อนหน้านี้ฟิตช์เพิ่งดาวน์เกรดความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้รัฐบาลอิตาลีและสเปนก็ตาม
ในวันอาทิตย์ ฝรั่งเศส เบลเยียม และลักเซมเบิร์ก ประกาศภายหลังการประชุมมาราธอน 14 ชั่วโมง ว่า บรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการแตกกิจการเด็กเซีย เหยื่อรายแรกของวิกฤตหนี้ยูโรโซนแล้ว โดยนอกจากส่วนการซื้อกิจการของรัฐบาลเบลเยียมแล้ว เด็กเซียยังจะได้รับการค้ำประกันในวงเงิน 90,000 ล้านยูโร สำหรับการกู้ยืมในระยะเวลา 10 ปี โดยที่เบลเยียมจะรับประกัน 60.5%, ฝรั่งเศส 36.5% และลักเซมเบิร์ก 3%