xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำอียูรับรองแผนเพิ่มทุนแบงก์ แย้มทางเลือกดึงจีนช่วยกู้วิกฤต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลของเยอรมนี มอบตุ๊กตาหมีเท็ดดี้แบร์ให้กับประธานาธิบดีนิโคลาส์ ซาร์โกซีแห่งฝรั่งเศส วานนี้ (23) เพื่อเป็นของรับขวัญลูกสาวของซาร์โกซีที่เพิ่งลืมตาดูโลกช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ดูเหมือนผู้นำทั้งสองสามารถสะสางข้อขัดแย้งกันได้ ในประเด็นปัญหาการขยายสมรรถนะของกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (อีเอฟเอสเอฟ)
เอเจนซีส์ - ผู้นำยุโรปเสร็จสิ้นการประชุมซัมมิตนัดแรกวันอาทิตย์ (23) และแยกย้ายกลับไปขบคิดหาข้อยุติการแก้วิกฤตหนี้ให้ได้ก่อนกลับมาประชุมซัมมิตอีกนัดในวันพุธ(26) โดยเฉพาะประเด็นการเพิ่มทุนแบงก์ และวิธีการใช้กองทุนรักษาเสถียรภาพเพื่อหยุดปัญหาติดต่อลุกลามในตลาดพันธบัตรของยุโรป ซึ่งทางเลือกหนึ่งคือการดึงตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างจีนและบราซิลเข้าร่วมภารกิจพิชิตหนี้ยูโรโซน

ยุโรปกำลังอยู่ภายใต้ความกดดันในการเร่งหายุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมให้ได้ก่อนการประชุมระดับผู้นำของ จี20 ในวันที่ 3-4 เดือนหน้าที่เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส ขณะที่มีสัญญาณเตือนดังขึ้นจากวอชิงตัน ปักกิ่ง และประเทศอื่นๆ อีกมากมายทั่วโลก เกี่ยวกับความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลก

บรรดาผู้นำสหภาพยุโรป (อียู) และ คริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุภายหลังการประชุมสุดยอดนัดแรกที่กรุงบรัสเซลส์เมื่อวันอาทิตย์ (23) ว่า มีความคืบหน้าเป็นอันดีสำหรับความพยายามในการแก้วิกฤตที่กำลังฉุดลากเศรษฐกิจโลกกลับสู่ภาวะถดถอย

อย่างไรก็ดี ที่ประชุมยังมีรายละเอียดที่เป็นรูปธรรมน้อยมาก โดยระบุเพียงว่าจะเปิดเผยรายละเอียดทั้งหมดในการประชุมรอบสองวันพุธนี้ (26)

กระนั้น ดูเหมือนประธานาธิบดี นิโคลาส์ ซาร์โกซี แห่งฝรั่งเศส และนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลของเยอรมนี สะสางข้อขัดแย้งกันได้แล้ว โดยแถลงว่ามีการตกลงกันกว้างๆ ในประเด็นหลักที่เป็นปัญหาคือ การขยายสมรรถนะของกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (อีเอฟเอสเอฟ)

บรรดาผู้นำห่วงว่า อีเอฟเอสเอฟ ที่มีมูลค่า 440,000 ล้านยูโร (605,000 ล้านดอลลาร์) จะไม่เพียงพอช่วยเหลือหากประเทศขนาดใหญ่อย่างอิตาลีประสบปัญหา จึงพยายามหาวิธีขยายกองทุนโดยไม่ต้องอัดฉีดเงินเพิ่มจำนวนมาก
(ซ้าย-ขวา) นายกรัฐมนตรีจอร์จ ปาปันเดรอูของกรีซ, นายกรัฐมนตรีอีฟว์ เลอแตร์ม แห่งเบลเยียม, เอ็นดา เคนนี นายกรัฐมนตรีไอร์แลนด์ และนายกรัฐมนตรีมาร์ค รูทเทอร์ แห่งเนเธอร์แลนด์ กำลังตั้งใจฟังนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลของเยอรมนี (กลาง) ระหว่างการประชุมซัมมิต
เฮอร์มาน ฟาน รอมปุย ประธานอียู เผยว่า ขณะนี้มี 2 ทางเลือกด้วยกัน ทางหนึ่งคือใช้กองทุนนี้รับประกันการขาดทุนจากพันธบัตร เพื่อดึงเทรดเดอร์กลับมาซื้อพันธบัตรใหม่ที่อิตาลีและสเปนจะนำออกระดมทุน

ทางเลือกที่สองคือ ตั้งกองทุนใหม่เพื่อดึงดูดเงินสมทบจากประเทศนอกยุโรป เช่น จีนและบราซิล ซึ่งจะช่วยรับประกันพันธบัตรในตลาดรอง

ผู้นำยุโรปหวังว่าการใช้มาตรการสร้างสรรค์ทางการเงินเหล่านี้จะทำให้อีเอฟเอสเอฟมีเงินทุนเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านล้านยูโร เพียงพอฟื้นความมั่นใจในตลาดการเงิน

ฟาน รอมปุยสำทับว่า อียูอาจนำทางเลือกทั้งสองมาผนวกรวมกัน

ที่ประชุมยังผ่าทางตันในอีก 2 ประเด็นที่ซับซ้อนและเกี่ยวเนื่องกัน นั่นคือการดำเนินการเพื่อลดหนี้กรีซ และวิธีการในการเพิ่มเงินทุนของธนาคารต่างๆ ในยุโรป เพื่อให้แน่ใจว่าแบงก์เหล่านี้มีฐานะเงินทุนเข้มแข็งเพียงพอ ถ้าหากพันธบัตรรัฐบาลกรีซตลอดจนชาติยูโรโซนที่ฐานะง่อนแง่นอื่นๆ ต้องถูกลดมูลค่า อันจะทำให้แบงก์เหล่านี้ขาดทุนหนัก

ทั้งนี้ ผู้นำยุโรปได้รับรองกรอบโครงซึ่งที่ประชุมระดับรัฐมนตรีคลังนำเสนอในการเพิ่มทุนแบงก์ ซึ่งพวกหน่วยงานกำกับตรวจสอบคาดหมายกันว่าอาจต้องใช้เงิน 100,000-110,000 ล้านยูโรทีเดียว

อียูนั้นต้องการให้แบงก์เพิ่มสัดส่วนทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงมาอยู่ที่ 9% โดยให้เวลาจนถึงกลางปีหน้า ซึ่งขั้นตอนแรกแบงก์ควรใช้เงินทุนของตนเองหรือเงินจากนักลงทุนเอกชน แต่หากไม่สามารถทำได้จะนำไปสู่ขั้นตอนที่ 2 คือขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล หรือทางออกสุดท้ายคือจากกองทุนอีเอฟเอสเอฟ

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวในอียู แย้มว่า ดูเหมือนตัวเลขการเพิ่มทุนที่ระบุเอาไว้นี้ จะหมายรวมถึงเงิน 46,000 ล้านยูโรที่พวกแบงก์เอกชนร่วมสมทบในโปรแกรมช่วยเหลือไอร์แลนด์ กรีซ และโปรตุเกสของอียู/ไอเอ็มเอฟไปแล้ว แต่เมื่อเป็นเช่นนั้น ย่อมหมายความว่าแผนการอัดฉีดจริงๆ จะมีมูลค่าเพียง 60,000-70,000 ล้านยูโรเท่านั้น ซึ่งตลาดย่อมต้องรู้สึกผิดหวังแน่ๆ กระนั้น ในเวลานี้ยังคงไม่มีการเปิดเผยตัวเลขรูปธรรมที่พวกผู้นำยุโรปพูดคุยกัน

ในส่วนหนี้กรีซนั้น การเจรจายังดำเนินต่อไปเพื่อให้แบงก์ยอมรับการขาดทุนอย่างน้อย 50% จากการถือครองพันธบัตรกรีซ

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี จอร์จ ปาปันเดรอู ของกรีซ เรียกร้องวิธีแก้ปัญหาหนี้ที่เป็นไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีส่วนร่วมของธนาคาร กองทุนบำนาญ และบริษัทประกันภัยภายในประเทศ

อนึ่ง การศึกษาของเจ้าหนี้ระหว่างประเทศชี้ว่า เจ้าหนี้เอกชนจะต้องยอมลดหนี้ให้เอเธนส์ที่คาดว่าจะมีมูลค่าถึง 160% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปีนี้ ลง 50-60% เพื่อปรับให้หนี้ลดลงสู่ระดับที่ยั่งยืนในระยะยาว

ทว่า นายธนาคารอาวุโสผู้หนึ่งของเยอรมนีที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเจรจา เผยว่าแบงก์เสนอลดหนี้ตามความสมัครใจเพียง 40% แต่เพิ่มเติมจากที่ตกลงกันไว้ 21% ในเดือนกรกฎาคม ขณะที่เจ้าหน้าที่บางคนยังสงสัยว่า มาตรการนี้จะสามารถดำเนินไปโดยสมัครใจ หรือว่าจะอยู่ในลักษณะถูกบังคับ จากการที่กรีซถูกบีบให้ประกาศพักชำระหนี้ โดยหากเป็นไปในแบบหลัง ก็ย่อมจะสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายในตลาด

สำหรับประเด็นอิตาลีนั้น รอมปุยเสริมว่า ที่ประชุมได้กำชับให้แดนมักกะโรนีที่มีหนี้อยู่ถึง 1.9 ล้านล้านยูโร กลับไปทบทวนแผนการปฏิรูปเพื่อฟื้นเศรษฐกิจและฟื้นความเชื่อมั่น และนำเสนอต่อที่ประชุมในวันพุธ ซึ่งนายกรัฐมนตรีซิลวิโอ เบอร์ลุสโคนี รับปากจะเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีฉุกเฉินในวันจันทร์ (24) เพื่อหารือเรื่องนี้

นอกจากนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤตเกิดขึ้นซ้ำ ผู้นำอียูประกาศว่าพร้อมแก้ไขสนธิสัญญาต่างๆ เพื่อให้สมาชิกยูโรโซนผสานเศรษฐกิจแนบแน่นยิ่งขึ้น รวมทั้งลงโทษประเทศที่ฝ่าฝืนกฎ

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวนี้สร้างความไม่พอใจให้แก่ 10 ชาติอียูที่อยู่นอกยูโรโซน นำโดยเดวิด คาเมรอน ผู้นำอังกฤษที่เตือนว่า แนวทางนี้อาจทำให้ประเทศอียูที่ไม่ใช้เงินยูโรมองว่า สมาชิกยูโรโซนเริ่มตัดสินใจในสิ่งที่มีผลเฉพาะในตลาดยูโรโซนเท่านั้น

ความขัดแย้งนี้ทำให้การประชุมยืดเยื้อออกไป รวมทั้งมีการเรียกร้องให้ซัมมิตรอบสองในวันพุธจัดวาระหารือเรื่องนี้เพิ่มเติมอีกหนึ่งชั่วโมง
กำลังโหลดความคิดเห็น