xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนาบังกลาเทศขาย‘ไต’ไกลถึงสิงคโปร์

เผยแพร่:   โดย: ไซเอด ตัชฟิน เชาธูรี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Bangladesh farmers cash in on kidneys
By Syed Tashfin Chowdhury
16/09/2011

ชาวนาที่ติดหนี้ติดสินรุงรังในบังกลาเทศ กำลังค้นพบเส้นทางในการปลดเปลื้องพันธะให้หมดสิ้นไปอย่างรวดเร็ว นั่นก็คือการขายไตหรืออวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย ให้แก่พวกหมอในเมืองหลวงธากา หรือกระทั่งไปขายกันในต่างประเทศ อย่างเช่นอินเดีย ตลอดจนสิงคโปร์ เมื่อไม่กี่วันก่อน ตำรวจเพิ่งกวาดจับแก๊งที่หากินในทางนี้ได้แก๊งหนึ่ง พวกเขายอมรับว่าได้ดำเนินการให้ชาวนาบังกลาเทศขายอวัยวะไปรวม 42 คน ทว่าสื่อมวลชนท้องถิ่นให้ตัวเลขสูงเป็น 5 เท่าของจำนวนนั้นทีเดียว

ธากา, บังกลาเทศ – โมฟิดุล อิสลาม (Mofidul Islam) ชาวนาบังกลาเทศวัย 23 ปี รู้สึกหมดปัญญาไม่สามารถชำระหนี้สินต่างๆ ที่รวมกันแล้วมีมูลค่าประมาณ 800 ดอลลาร์สหรัฐฯ เขาได้รับคำแนะนำจากคนรู้จักกันคนหนึ่งที่อยู่ในหมู่บ้านใกล้ๆ ให้ขายไตของตัวเองสักข้างหนึ่ง โดยที่จะได้รับเงินตอบแทนอย่างน้อยที่สุด 130,000 ตากา (1,728 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ในที่สุดแล้วโมฟิดุลก็ได้เดินทางไปรับการผ่าตัดเอาไตออกไปข้างหนึ่ง ที่ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ บังกาบันธู ไชค์ มูจิบ (Bangabandhu Sheikh Mujib Medical University) ในกรุงธากา

กรณีของเขาคือเรื่องราวของเหยื่อรายหนึ่งในกระบวนการอันอื้อฉาวในบังกลาเทศ ที่ทำท่าแผ่ขยายกว้างขวางออกไปเรื่อยๆ เป็นกระบวนการซึ่งนำเอาชาวนาผู้ยากจนทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มาจากดินแดนตอนเหนืออันไกลโพ้นของประเทศเฉกเช่นโมฟิดุล ไปรับการผ่าตัดขายอวัยวะที่เมืองหลวงธากา หรือในประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างอินเดีย และกระทั่งไกลออกไปจนถึงสิงคโปร์

“ผมเห็นด้วยกับวิธีนี้ เพราะมันไม่เพียงจะช่วยให้ผมสามารถใช้หนี้สินที่มีอยู่ แต่ยังจะทำให้ผมมีเงินสำหรับใช้ซื้อที่นาของตัวผมเองได้ด้วย” โมฟิดุล ซึ่งเป็นชาวนาอยู่ในอำเภอจอยปุระหัต (Joypurhat district) เล่าถึงเหตุผลที่ทำให้เขาตัดสินใจ และกล่าวย้ำต่อไปว่า “ตอนนี้เวลาก็ผ่านไปสองปีครึ่งแล้ว แต่ผมยังคงมีสุขภาพดี ไม่ได้มีปัญหาอะไรเลยในเวลาที่ต้องทำกิจวัตรประจำวันอะไรต่างๆ ของผม” อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนเขาจะไม่ได้ตระหนักเลยว่า ธุรกิจขายอวัยวะมนุษย์เช่นนี้ทั้งหมดเลยคือพฤติการณ์ที่ละเมิดกฎหมาย โดยเป็นความผิดที่อาจถูกตัดสินลงโทษจำคุกระหว่าง 3 ถึง 7 ปี และปรับ 300,000 ตากา ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องที่ว่า เขาจะต้องพยายามใช้ชีวิตด้วยรูปแบบที่มุ่งรักษาสุขภาพอย่างเคร่งครัด ในการประคับประคองร่างกายที่เหลืออวัยวะทำหน้าที่ฟอกเลือดอยู่เพียงข้างเดียว ให้ก้าวดำเนินต่อไปสู่ช่วงวัยกลางคน

เจ้าหน้าที่ตำรวจในสถานีตำรวจแห่งหนึ่งของอำเภอจอยปุระหัตระบุว่า มีชาวนายากจนในบริเวณนี้อย่างน้อยที่สุด 42 รายที่ยอมขายไตของพวกเขา ทว่าหนังสือพิมพ์ โปรธอม อะโล (Prothom Alo) ที่เป็นหนังสือพิมพ์ภาษาเบงกาลีชั้นนำ รายงานว่า มีชาวบ้านอย่างน้อยที่สุด 200 คนที่ได้ขายอวัยวะในร่างกายของพวกเขาไปแล้ว รายงานข่าวชิ้นนี้ปรากฏว่าได้ปลุกให้พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบด้านสาธารณสุขในบังกลาเทศ เกิดความตื่นตัวรับรู้ถึงการซื้อขายอันผิดกฎหมาย ซึ่งอันที่จริงเกิดขึ้นตรงแถวปลายจมูกของพวกเขาเองมาเป็นเวลากว่า 5 ปีแล้ว

“เรายังกำลังดำเนินการสืบสวนสอบสวนอยู่” ฟัซลุล คาริม (Fazlul Karim) นายตำรวจที่เป็นหัวหน้าสถานีตำรวจคาไล (Kalai) ในจอยปุระหัต บอกกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ เขากล่าวด้วยว่า เนื่องด้วย “เหตุผลในทางมนุษยธรรม” จึงไม่มีการดำเนินคดีเอาความผิดกับชาวนาที่ได้ขายอวัยวะของพวกเขา

เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีของผู้ขายอวัยวะรายอื่นๆ แล้ว โมฟิดุลควรถือว่าตนเองเป็นผู้ที่โชคดีกว่าใครเขาเป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น เมห์ดิ ฮะซัน (Mehdi Hasan) ชาวนาวัย 23 ปีอีกคนหนึ่งซึ่งอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับเขา ได้ถูกชักชวนให้ยอมขายไตในราคา 200,000 ตากา อย่างไรก็ดี เมื่อเดินทางไปถึงกรุงธากาแล้ว เขาก็ถูกเกลี้ยกล่อมให้ยอมขายตับส่วนหนึ่งของเขาในราคา 300,000 ตากา โดยไปทำการผ่าตัดกันที่โรงพยาบาล แล็ปเอด (LabAid) เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม

เมห์ดิเล่าว่า พวกหมอที่นั่นพูดให้เขามั่นใจว่า ส่วนของตับที่ถูกตัดออกไปนี้จะสามารถเติบโตกลับขึ้นมาใหม่ “ผมไม่รู้เลยว่าชิ้นส่วนอันนี้ทำหน้าที่อะไรในร่างกายผม” เขาบอก ภายหลังการผ่าตัด พี่ชายของคนไข้ที่รับเอาอวัยวะของเมห์ดิไป ได้ให้เงินเขา 150,000 ตากา ขณะที่พวกนายหน้าที่เป็นคนกลางทำข้อตกลงนี้ ไม่ได้ให้อะไรเขาแม้แต่สตางค์แดงเดียว

จวบจนถึงเวลานี้ ตำรวจสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องกับแก๊งซื้อขายอวัยวะมนุษย์นี้ รวมไปถึงพวกนายหน้าด้วย เป็นจำนวน 7 คน ขณะที่อีก 6 คนหลบหนีไป ฟัซลุล คาริม หัวหน้าสถานีตำรวจคาไล แถลง

“แก๊งนี้ออกปฏิบัติการกันมา ... ตั้งแต่เมื่อปี 2006 แล้ว” คาริม บอก พร้อมกับเสริมว่า ราคาค่าไตมีแตกต่างกันหลากหลาย ตั้งแต่ 130,000 ตากา ไปจนถึง 400,000 ตากา

ตำรวจได้เข้าจับกุมผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นหัวหน้าแก๊ง ซึ่งมีนามว่า ตอเรก อะซิม (Tareque Azim) เมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา เขาผู้นี้คือผู้ที่แนะนำชักชวนโมฟิดุล จนกระทั่งไปถึงเครือข่ายของโรงพยาบาลในกรุงธากาแห่งนั้น ซึ่งนำไปสู่การผ่าตัดขายไตข้างหนึ่งในที่สุด ตัวตอเรกเองได้แนวความคิดในเรื่องนี้เมื่อปี 2006 ภายหลังที่ต้องเที่ยวหาผู้บริจาคไตมาเปลี่ยนให้ลูกพี่ลูกน้องของเขาในแคนาดา

ตอเรกสำเร็จการศึกษาด้านการบริหารจัดการ จาก คุลนา บีแอล คอลเลจ (Khulna BL College) ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของบังกลาเทศ เขายังคงปฏิเสธว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการซื้อขายอวัยวะมนุษย์ใดๆ ทั้งสิ้น ถึงแม้ตัวเขาเคยพูดและได้รับการรายงานในสื่อต่างๆ หลายสำนักว่า จอยปุระหัตเป็น “คลังไต”

ตำรวจกำลังรวบรวมรายชื่อของสถาบันการแพทย์, แพทย์และพยาบาล ในกรุงธากา ที่มีส่วนเกี่ยวข้องพัวพันกับแก๊งค้าอวัยวะนี้ นอกจากนั้นพวกเขายังพบด้วยว่า มีหลายๆ กรณีที่เหยื่อบางคนอ้างตัวเองเป็นญาติๆ ของคนไข้ และขึ้นเครื่องบินเดินทางไป “บริจาค” อวัยวะถึงต่างประเทศ

“กรณีแบบนี้รายหนึ่งคือ อับดุส ซัตตาร์ (Abdus Sattar) ซึ่งปรากฏว่าในเวลาต่อมาเขาหันมาหากินเป็นนายหน้าเลย” ฟัซลุล บอกและเล่าต่อไปว่า ซัตตาร์บินไป “บริจาค” อวัยวะที่โรงพยาบาลเมาท์ เอลิซาเบธ (Mount Elizabeth Hospital) ในสิงคโปร์ อีกทั้ง “เขายังเป็นคนที่มาจากอำเภอจอยปุระหัตคนแรกที่ขายไตตัวเอง”

สำหรับ ตอเรก ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นหัวหน้าแก๊ง เขาให้การกับตำรวจว่า มีบ่อยครั้งที่เขาทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ประสงค์บริจาคอวัยวะกับคนไข้ที่ต้องการอวัยวะ โดยผ่านช่องทางของโรงพยาบาลเมาท์ เอลิซาเบธ ที่อยู่ในเขตบานานี (Banani) ของกรุงธากา ตอเรกเล่าด้วยว่ามีผู้บริจาคไตหลายคนทีเดียว ที่บินไปรับการผ่าตัดเอาไตออกตามโรงพยาบาลต่างๆ ในประเทศอินเดีย

ในวันอังคาร (13) ที่ผ่านมา นายอำเภอ (District Commissioner) อโศก กุมาร บิสวัส (Ashok Kumar Biswas) ออกมาแถลงว่า ทั้งรัฐบาลและหน่วยงานบริหารส่วนท้องถิ่นจะดำเนินขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้การศึกษายกระดับความรับรู้เกี่ยวกับโทษภัยของการขายอวัยวะนี้ ให้แก่คนยากคนจนและชาวนาไร้ที่ดินในพื้นที่ชนบทซึ่งพบว่ามีผู้ขายอวัยวะ เขายังให้คำมั่นว่าจะดำเนินการฟื้นฟูสุขภาพของพวกที่ได้ขายไตและตับของพวกเขาไปแล้วด้วย

ตามการแถลงของ น.พ.โมซัมเมล ฮัก (Dr Mozammel Haque) นายแพทย์ใหญ่ฝ่ายพลเรือนในท้องถิ่น ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะเจ้าหน้าที่ได้มีการออกไปตั้งแคมป์ตรวจรักษาพยาบาลฟรีขึ้นตามพื้นที่ต่างๆ ที่เป็นพื้นที่เสี่ยง

ประมาณการกันว่า การซื้อขายอวัยะมนุษย์อย่างผิดกฎหมายในทั่วโลก มีมูลค่าราว 50 ล้านดอลลาร์เมื่อปี 2008 โดยที่ประเทศซึ่งเป็นแหล่งซัปพลายอวัยวะนั้นมีอยู่หลายแห่งหลายภูมิภาค สำหรับในภูมิภาคเอเชียใต้นั้น สืบเนื่องจากประชาชนจำนวนมากอยู่ในภาวะยากจนหนัก ขณะที่การซื้อขายเช่นนี้ทำผลกำไรอันงดงามยิ่ง ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา มีรายงานว่าเกิดกรณีการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะอย่างผิดกฎหมายเพิ่มขึ้นมากทั้งในอินเดียและปากีสถาน

ในอินเดีย ถึงแม้ได้ผ่านรัฐบัญญัตติการปลูกถ่ายอวัยวะมนุษย์ (Transplantation of Human Organs Act) ออกมาบังคับใช้ตั้งแต่ปี 1994 แต่ปรากฏว่าการลักลอบซื้อขายอวัยวะอย่างผิดกฎหมายในประเทศนี้ก็ยังคงดำรงอยู่เรื่อยมา เมื่อเดือนที่แล้ว รัฐสภาอินเดียได้อนุมัติร่างกฎหมายการปลูกถ่ายอวัยวะมนุษย์ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม โดยที่สาระสำคัญกำหนดเอาไว้ว่า อนุญาตให้ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะมนุษย์อย่างถูกกฎหมายได้ เฉพาะในกรณีที่ผู้บริจาคอวัยวะมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับผู้รับอวัยวะในลักษณะใดลักษณะหนึ่งของ 4 ลักษณะนี้เท่านั้น ได้แก่ “เป็นบิดามารดา, เป็นบุตร, เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา, หรือเป็นคู่สมรส”

ไซเอด ตัชฟิน เชาธูรี เป็นนักเขียนอาวุโสประจำกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ นิว เอจ (New Age) ในกรุงธากา
กำลังโหลดความคิดเห็น