xs
xsm
sm
md
lg

จนท.อนุรักษ์สัตว์ป่าฯ จับหมีหมา 2 ตัวในสำนักสงฆ์ประจวบฯ ส่งสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าบางละมุง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประจวบคีรีขันธ์ - เจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่าฯ พร้อมทีมสัตวแพทย์ชลบุรี ช่วยกันจับหมีหมา 2 ตัวที่ถูกเลี้ยงไว้ภายในกรงขังของสำนักสงฆ์วัดดอนต้นตาล บ้านหนองสะเม็ด บางสะพานน้อย ประจวบคีรีขันธ์ ด้วยการยิงยาสลบก่อนนำใส่กรงเหล็ก ส่งสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าบางละมุง เพื่อนำไปตรวจสุขภาพ และเลี้ยงหมีหมาทั้ง 2 ตัวแทนพระสงฆ์ โดยในอนาคตเตรียมวิจัยหมีหมาเพื่อการอนุรักษ์และขยายพันธุ์ ขณะที่ไอยูซีเอ็น ประเมินสถานภาพของหมีหมาว่าอยู่ในระดับเสี่ยงสูญพันธุ์ (2550) ตามบัญชีไซเตส ที่จัดไว้ในบัญชีหมายเลข 1

วันนี้ (21 เม.ย.) นายเมธา สันติกุล ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี พร้อมด้วยนายชัชวาลย์ กุลทอง หัวหน้าฐานปฏิบัติการป้องกันรักษาป่าที่ พบ.2 (หุบตะเคียนยักษ์) สัตวแพทย์หญิง สุนิตา วิงวอน สัตวแพทย์ประจำสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าบางละมุง จ.ชลบุรี เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการป้องกันรักษาป่าและผู้ช่วยแพทย์ อีก 10 นาย เดินทางไปยังสำนักสงฆ์ดอนต้นตาล หมู่ 10 บ้านหนองสะเม็ด ต.บางสะพาน อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ หลังรับแจ้งจากผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านในพื้นที่ว่า สำนักสงฆ์ดังกล่าวได้เลี้ยงหมีไว้ 2 ตัว และต้องการมอบให้ทางราชการเพื่อนำไปเลี้ยงต่อ จึงเดินทางมายังสำนักสงฆ์ฯ โดยเจ้าหน้าที่พบกรงเหล็กขนาดยาวประมาณ 8.50 เมตร กว้าง 2 เมตรและสูง 2 เมตร ไม่มีหลังคาปิดปังความร้อน อยู่ภายในบริเวณสำนักสงฆ์ดอนต้นตาล

ภายใน เจ้าหน้าที่พบมีลูกหมีหมา 2 ตัว โดยตัวผู้ชื่อว่า ทอม น้ำหนักประมาณ 90 กิโลกรัม สูงประมาณ 176 เซนติเมตร ส่วนตัวเมียชื่อว่า เจอรี่ น้ำหนักประมาณ 60 กิโลกรัม สูงราว 160 เซนติเมตร ซึ่งหมีหมาทั้ง 2 ตัว ไม่ตื่นกลัวคนนัก และชอบเดินมาอยู่บริเวณลูกรงเหล็ก เพื่อดูว่าจะมีใครส่งอาหารให้หรือไม่ แต่ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนจัด ทำให้หมีหมาทั้ง 2 ตัว มีอาการเครียด ลิ้นห้อย และหอบหายใจแรง จนพระสงฆ์ต้องฉีดน้ำประปาช่วยให้คลายร้อน จากนั้นทีมแพทย์ได้ใช้ยาสลบ เปาใส่หมีทั้ง 2 ตัว ก่อนที่จะรอเวลาให้ยาออกฤทธิ์ แล้วช่วยกันยกหมีออกมาใส่กรงเหล็ก บนรถกระบะ 6 ล้อ เพื่อขนย้ายส่งสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าบางละมุงต่อไป

พระธรรมธร ภิราม ลีตเตโช เจ้าอาวาสสำนักสงฆ์ดอนต้นตาล รับว่าทางวัดได้เลี้ยงหมีไว้ 2 ตัวจริงโดยมีชาวบ้านนำมาถวายวัด เมื่อราว 3 ปีเศษที่ผ่านมา ตั้งแต่ตัวยังเล็กๆ ด้วยความสงสารกลัวลูกหมีจะตาย ทางวัดจึงรับเลี้ยงไว้ โดยทำกรงให้อยู่ให้กินข้าวก้นบาตรพระ พร้อมกับผลไม้จำพวกกล้วย แต่หมีทั้ง 2 ตัวจะชอบนมสด และน้ำหวานเป็นพิเศษ แต่นับวันจะยิ่งโตขึ้น จนเกรงว่าอาจสร้างความเดือดร้อนไปทำร้ายใครเข้า โดยที่ผ่านมาทราบดีว่า หมีเป็นสัตว์ป่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่เลี้ยงไว้ด้วยความสงสารเมตตา และเมื่อเจ้าหน้าที่มาจับหมีไปเลี้ยงดูต่อที่สถานีเพาะเลี้ยงพันธุ์สัตว์ป่าบางละมุง ก็เชื่อว่าจะทำให้หมีทั้ง 2 ตัวมีสุขภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะมีทีมแพทย์ดูแลใกล้ชิด แม้ว่าตนและชาวบ้านที่รู้จักเจ้าทอมกับเจอรี่ จะรู้สึกเสียดายที่หมีจะต้องย้ายไป แต่ก็ทราบดีกว่า การย้ายหมีไปอยู่ยังสถานีเพาะเลี้ยง เป็นเรื่องที่ดีแล้ว

ด้านนายเมธา สันติกุล ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ระบุว่า การครอบครองสัตว์ป่าเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.สัตว์ป่า พ.ศ.2535 แต่ทั้งนี้ก็ต้องมองกันที่เจตนาของการครอบครองด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ต้องขอเตือนไปยังบุคคลที่ครอบครองสัตว์ป่า ไม่ว่าชนิดใดก็ตาม ถือเป็นเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายทั้งสิ้นให้พึงระวัง ขณะที่ปัญหาการลักลอบค้าสัตว์ป่าในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.เพชรบุรี ที่รับผิดชอบนั้น ยังคงเป็นปัญหาใหญ่และต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพราะทั้ง 2 จังหวัด ถูกใช้เป็นเส้นทางลำเลียงสัตว์ป่าไปยังพื้นที่อื่น โดยจะใช้วิธีการอำพรางที่แนบเนียนขึ้น เช่น การขนลูกช้าง ด้วยการใช้รถยนต์ฟอร์จูนเนอร์ หรือการขนตัวนิ่มด้วยรถยนต์เก๋งโตโยต้าคัมรี่ ฯลฯ

สำหรับหมีหมา หรือ หมีคน เป็นหมีที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก เมื่อยืนสองขามีความสูงราว 120 เซนติเมตร หนัก 60-100 กิโลกรัม ขนสีดำสั้นเกรียน ที่หน้าอกมีเส้นสีครีมเป็นรูปตัวยู (U) บางตัวอาจมีลายแบบอื่น เช่น เป็นวง หรือเป็นขีดโค้ง ตีนทั้งสี่มีเล็บยาวโค้งแหลมคม เล็บอาจยาวได้ถึง 6 นิ้ว เขี้ยวยาวกว่าหมีชนิดอื่น ลิ้นยาวมาก หางสั้นราว 2 นิ้ว หูกลม ตัวผู้หนักประมาณ 30-60 กิโลกรัม ส่วนตัวเมียหนักราว 20-40 กิโลกรัม ตีนของหมีหมาชี้เข้าเช่นเดียวกับหมีสล็อท ทำให้ท่าเดินดูคิกขุแบบนกพิราบ หมีหมามีสองชนิดย่อย คือ Helarctos malayanus malayanus พบในแผ่นดินใหญ่และสุมาตรา และ Helarctos malayanus euryspilus พบเฉพาะบนเกาะบอร์เนียว หมีหมาหากินในป่าฝนเขตร้อน พบในจีนตอนใต้ พม่า บังกลาเทศ มาเลเซีย ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม เกาะสุมาตรา และบอร์เนียว

หมีหมาปีนต้นไม้เก่ง กินได้ทั้งพืชและสัตว์ เช่นแมลง ผลไม้ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดเล็ก กิ้งก่า รังผึ้ง และนก หากินตอนกลางคืนเป็นส่วนใหญ่ ตอนกลางวันจะขึ้นไปพักผ่อนบนต้นไม้ ประสาทรับกลิ่นดีมาก สายตาไม่ค่อยดี ลูกหมีหมาซุกซนและขี้เล่น ชาวบ้านบางท้องที่จึงชอบจับไปเป็นสัตว์เลี้ยง แต่เมื่อโตขึ้นหมีหมาจะเป็นสัตว์ที่ดุมาก ในประเทศไทย มีรายงานว่าหมีหมาจู่โจมทำร้ายคนแบบไม่ให้สุ้มให้เสียง และเป็นหนึ่งในสัตว์เพียงไม่กี่ชนิดที่เสือโคร่งไม่อยากข้องเกี่ยวถ้าไม่จำเป็น ขนที่สั้นเกรียนหนาแน่นและลื่นช่วยให้หมีหมาป้องกันตัวได้เป็นอย่างดี เมื่อศัตรูจับหรือกัด หมีหมาจะบิดให้ลื่นหลุดจากคมเขี้ยวและอุ้งเล็บกลับมาแว้งกัดได้

หมีหมาไม่ต้องจำศีล ผสมพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี ตั้งท้องนานประมาณ 96 วัน มักออกลูกทีละสองตัว ลูกหมีแรกเกิดหนัก 280-340 กรัม เมื่ออายุได้สองสามเดือนก็เริ่มวิ่งและตามแม่หากินได้ หย่านมเมื่ออายุ 18 เดือน และเริ่มหากินเองได้เมื่ออายุได้ปีครึ่งถึงสองปีครึ่ง ถึงวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 3-4 ปี ในแหล่งเพาะเลี้ยงหมีหมาอยู่ได้ถึง 28 ปี

ศัตรูในธรรมชาติของหมีหมามีไม่มากนัก เช่น เสือโคร่ง เสือดาว เสือลายเมฆ หมีควาย งูเหลือม แต่ศัตรูที่ร้ายที่สุดของหมีหมาก็คือ คน หมีหมาถูกคุกคามอย่างหนักทั้งการสูญเสียป่าไม้ถิ่นที่อยู่อาศัยและถูกล่า เช่นเดียวกับหมีทั้งหลายที่เป็นที่ต้องการในตลาดยาจีน แต่หมีหมาโชคร้ายกว่าเพราะเป็นที่ต้องการมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น อุ้งตีน ถุงน้ำดี เนื้อ ไขมัน ไขสันหลัง เลือด กระดูก ในไต้หวัน ซุปอุ้งตีนหมีที่ทำจากหมีหมาเป็นที่นิยมมาก ในมาเลเซีย ชาวบ้านบางแห่งนิยมเลี้ยงหมีหมาไว้เป็นสัตว์เลี้ยง ในการเลี้ยงหมีหมาจะต้องเลี้ยงตั้งแต่ยังเล็ก นั่นคือแม่หมีจะต้องถูกฆ่าเพื่อชิงลูกอ่อนมาเลี้ยง

แม้ปัจจุบัน การค้าขายอวัยวะหมีเป็นเรื่องต้องห้ามในหลายประเทศ แต่ไต้หวันและเกาหลีใต้ยังคงเป็นศูนย์กลางของนักกินหมี สองประเทศนี้ยังคงไม่เข้าร่วมสนธิสัญญาไซเตส ความเชื่อเกี่ยวกับการบริโภคสัตว์ป่าของคนในวัฒนธรรมนี้ได้หยั่งลึกจนยากจะเปลี่ยนแปลง ซึ่งไอยูซีเอ็นประเมินสถานภาพของหมีหมาว่าอยู่ในระดับเสี่ยงสูญพันธุ์ (2550) ไซเตสจัดไว้ในบัญชีหมายเลข 1









กำลังโหลดความคิดเห็น